posttoday

ทปอ.ตั้งคณะกรรมการ3ชุดแก้ปัญหาTCAS คาด 3 เดือนสรุปผล

17 มิถุนายน 2561

ทปอ.ตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด แก้ปัญหาทีแคส คาด 3 เดือนสรุปผลพัฒนาระบบในปี 62 ชี้เลือกสมัครทีแคสเหมือนจีบสาว ไม่จับปลาสองมือ 

ทปอ.ตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด แก้ปัญหาทีแคส คาด 3 เดือนสรุปผลพัฒนาระบบในปี 62 ชี้เลือกสมัครทีแคสเหมือนจีบสาว ไม่จับปลาสองมือ 

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงข่าวการประชุมสามัญ ทปอ.ครั้งที่ 3/2561 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อมอธิการบดี อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยม.เกษตรศาสตร์ มช. ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.ขอนแก่น ม.พะเยา เป็นต้น ว่า ทปอ.ได้มีการพิจารณาเรื่องระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ซึ่งทปอ.ได้มอบนโยบายที่สำคัญในการแก้ปัญหา และลดผลกระทบที่เกิดจาก โดยจะยึดหลัก 3 ประการ สำคัญ คือ 1.ทปอ.จะยึดถือนักเรียนเป็นศูนย์กลาง 2.หาแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายในการสมัครให้มากที่สุด และ 3.ให้มีการทำประชาพิจาณณ์จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักเรียน ผู้ปกครอง มหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคม ดังนั้น ทปอ.จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด เพื่อหาข้อเท็จจริง ผลดีผลกระทบ ปัญหา ของการคัดเลือกในการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระบบทีแคส เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนในการพัฒนาการทำงานในปีการศึกษา 2552 โดยเร็ว

ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของระบบการคัดเลือกทีแคส ปีการศึกษา 2561 โดยมีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน, คณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562โดยมี นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล เป็นประธาน และคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศทีแคส ปีการศึกษา 2562 โดยมี นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย เป็นประธาน โดยคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด จะร่วมกันแรกเปลี่ยนข้อมูล ตัดสินใจ กำหนดแนวทางการดำเนินการในปีการศึกษา 2562 คาดว่าได้จะข้อสรุป ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับจากนี้


กำชับทีแคสรอบ 5 ไม่ทับซ้อนแอดมิชชั่น

"เวลาเราจะจีบสาวไม่ควรจับปลาสองมือ เช่นเดียวกับระบบทีแคส ควรเลือกรอบใดรอบหนึ่ง ส่วนกรณีที่พบว่าบางมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครทีแคส รอบที่ 5 รับตรงอิสระ ในช่วงเวลาเดียวกับทีแคสรอบที่ 4 แอดมิชชั่น และมีการประกาศผลก่อนแอดมิชชั่น ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกเรียนของเด็กนั้น ทปอ.ได้มีการหารือเรื่องนี้ และได้ขอความร่วมมือไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ซึ่งทุกแห่งรับปากว่าจะกลับไปดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจะกำชับไปยังทุกคณะไม่ให้การรับสมัครทีแคสรอบ 4 และรอบที่ 5 ทับซ้อนกัน" นายสุชัชวีร์ กล่าว

ประธานทปอ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทปอ.ได้มีการรวบรวมข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อระบบทีแคส โดยจะนำมาพิจารณาในการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562 ในวันที่ 19 มิ.ย. นี้ ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมด เป็นอดีตอธิการบดี และเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการศึกษา มีนักวิชาการคนไทย ที่มีความรู้เรื่องการมีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องด้านออนไลน์ และAI จะนำมาใช้ในการระดมความคิดเห็น ทั้งอดีต และปัจจุบัน จะนำมาดำเนินการในการพิจารณา อีกทั้งทีแคสที่ผ่านมา รับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาอยู่แล้ว แต่เป็นการเกิดครั้งแรก อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งรอบหน้าจะมีการปรับปรุงแน่นอน คาดว่าในรอบที่ 1 และรอบที่2 จะมีการดำเนินการเช่นเดิม แต่อาจเปลี่ยนช่วงเวลาให้เหมาะสม แต่ก็ต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2562

มศว. พร้อมจัดเวทีสาธารณะรับฟังทีแคส

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้รายงานข้อมูลการสมัคร ทีแคส รอบที่ 4 แอดมิชชั่น ระหว่างวันที่ 12-16 มิ.ย. ที่มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมจำนวน 62 แห่ง และประกาศจำนวนที่นั่ง 83,953 คน ใน 3,303 สาขาวิชา ข้อมูลจากการรับสมัครมีนักเรียนยื่นสมัครเป็นจำนวน 54,782 คน ทั้งนี้ ตามที่ทปอ.ได้มีมติยึดถือให้นักเรียนนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง โดยจะจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษา เพื่อให้การดำเนินการของทปอ. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมจากนักศึกษาให้มากขึ้น ซึ่งเวทีดังกล่าว จะเป็นเวทีที่เปิดรับฟังความคิดเห็น โดยนักศึกษาสามารถเสนอแนะความเห็นที่เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ซึ่งในการประชุมครั้งแรก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมดังกล่าว อีกทั้ง ทปอ.มีมติให้มหาวิทยาลัยสมาชิกทปอ. ร่วมกันรณรงค์ให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยงดเว้นการเล่นพนันฟุตบอล และสอดส่องดูแลบริเวณรอบมหาวิทยาลัยไม่ให้มีการขายเหล้า สิ่งเสพติด ของมึนเมาโดยเฉพาะในช่วงฟุตบอลโลกนี้

ทีแคสไม่ใช่เรื่องใหม่นำสิ่งใต้พรมวางบนโต๊ะ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เด็กที่สมัครทีแคสรอบที่ 4แอดมิชชั่น จะสามารถสมัครทีแคสรอบที่5 รับตรงอิสระด้วยได้หรือไม่ นายประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการทปอ. กล่าวว่ายังยืนว่า การสมัครทีแคสแต่ละรอบนั้น จะต้องมีการสละสิทธิ หรือไม่มีสิทธิในรอบใดมาก่อน จึงจะสมัครในรอบถัดไปได้ แต่ทั้งนี้ ในส่วนที่สังคมมองว่าระบบทีแคสยิ่งจัดระเบียบแต่มีความวุ่นวาย มากขึ้นนั้น จริงๆ แล้วในเรื่องทีแคส ไม่ใช่ระบบใหม่ แต่เป็นระบบเดิมที่ในประเทศไทยมีอยู่แล้ว เพียงแต่ทีแคสเป็นการนำรูปแบบของการคัดเลือกในมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาอยู่ใต้พรม เอามาวางไว้บนโต๊ะ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีการรับสมัครในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งเมื่อนักเรียนได้เห็นข้อมูลก็รู้สึกว่าการเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหามาก ขอย้ำว่า การจัดระบบครั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเรียนในการเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

"เด็กทุกคนมีที่เรียนอย่างแน่นอน เพราะที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีเหลือ แต่ที่เด็กบอกว่าจะไม่มีที่เรียน เนื่องจากไม่สามารถเดาใจน้องๆได้ว่าอยากเข้าเรียนที่ไหน เพราะหากเลือกตามที่นั่งที่มีอยู่ มีเพียงพอ แต่หากไปแย้งเฉพาะในที่นั่งที่จำกัดก็ไม่สามารถเข้าเรียนได้ ดังนั้น สิ่งที่เราทำในทีแคส เป็นระบบที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่ระบบใหม่ รูปแบบการรับมีอยู่แล้ว แต่เมื่อก่อนไม่มีห้วงเวลาชัดเจน สิ่งที่ทีแคสทำ คือ จัดระเบียบ รูปแบบการรับคัดเลือกในประเทศไทย ที่มีอยู่แล้วและดำเนินการเรื่องจัดการแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบ และจัดการเคลียริ่งเฮาส์ 1คน 1 สิทธิ์ ไม่ได้ทำอะไรใหม่ เพียงจัดระเบียบ แต่หากมีข้อเสนอแนะ ทปอ.พร้อมรับฟัง และจะไปพัฒนาให้ดีขึ้น"นายประเสริฐ กล่าว