posttoday

ปอดเมือง ป่าไม้มหานคร

16 มิถุนายน 2561

ในเมืองมีสวนสาธารณะมากมายไว้รองรับกับชีวิตของคนเมือง ชีวิตในมหานครหรือเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ

โดย พรเทพ เฮง

ในเมืองมีสวนสาธารณะมากมายไว้รองรับกับชีวิตของคนเมือง ชีวิตในมหานครหรือเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ช่างวุ่นวาย การจราจรที่หนาแน่นตลอดทั้งวัน มลพิษสิ่งสกปรกลอยอยู่ในอากาศมากมาย ต้นไม้เป็นสิ่งเดียวที่จะช่วยดูดซึมกลั่นกรองสิ่งเหล่านี้ให้กลับมาสะอาดสู่ปอดของคนเมือง

ที่ดินป่าในย่านมักกะสัน คุ้งบางกระเจ้า และสวนสาธารณะอีกเกือบ 40 สวนในกรุงเทพมหานคร แม้ล่าสุดจะมีโครงการจุฬาฯ อุทยาน 100 ปี ใจกลางเมืองอีกแห่งหนึ่งก็ไม่เพียงพอ

“ป่าในเมือง” ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่สวนสาธารณะและสวนป่าในเมือง โจทย์ของการอยู่อาศัยระหว่างคนกับป่าในเมือง เป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะรักษาต้นไม้เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน มาดูสถานการณ์และอนาคตของป่าในมหานครอย่างกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย

ฟอกปอดของคนเมือง

ปอดเมือง ป่าไม้มหานคร

คุณประโยชน์ของป่าและต้นไม้ใหญ่ในเมืองนั้นมีมากมาย ซึ่งรวมถึงความสวยงาม การลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) การลดปริมาณการระบายน้ำฝนของเมือง การลดมลพิษทางอากาศ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานด้วยการเพิ่มเงาต้นไม้กำบังอาคารให้มากขึ้น การเพิ่มมูลค่าทางราคาแก่อสังหาริมทรัพย์ ช่วยเพิ่มที่พักพิงแก่สัตว์ต่างๆ ตลอดการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยรวมให้แก่เมืองได้มาก

การมีป่าไม้อยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมจะช่วยลดความเครียดแก่มนุษย์จากการทำงานประจำวันได้ เป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่าต้นไม้ให้คุณประโยชน์แก่สุขภาพและจิตใจแก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเมือง ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวอื่นๆ ในชุมชนเมือง คือสถานที่ที่มนุษย์ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ทางสังคมและเพื่อการพักผ่อน และก็เช่นเดียวกัน การออกแบบจัดวางที่ดีและการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนอย่างมากในผลสำเร็จ

งานเสวนา “ป่าในเมืองกับความยั่งยืนสู่ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนให้เห็นความสำคัญของป่าในสังคมเมืองและการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติที่รวมกันเป็นระบบนิเวศ สู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในวงเสวนาว่า ในอดีตแนวคิดเรื่องป่ากับความเป็นเมืองแยกออกจากกัน แต่ปัจจุบันเกิดมุมมองใหม่ที่ป่าสามารถอยู่ในเมืองได้ เพราะคนเมืองจะมีความสุขมากขึ้นได้หากมีสิ่งแวดล้อมที่ดี อีกทั้งป่ายังเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญและเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 102.2 ล้านไร่ ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าอีกให้ถึง 129 ล้านไร่ใน 20 ปีข้างหน้า และพื้นที่เมืองก็สามารถเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวได้เช่นกัน

ที่สำคัญมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งคือ โครงการความไม่เต็มใจจ่ายเพื่อพื้นที่ป่าไม้ของชาวกรุงเทพฯ โดย รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัย สกว. ซึ่งนำเสนอผลการวิจัยว่า คนกรุงเทพฯ ยังไม่เข้าใจว่าป่าในเมืองคืออะไร? โดยงานวิจัยสำรวจความต้องการของคนกรุงเทพฯ 2,000 คน พบว่าคนกรุงเทพฯ เห็นความสำคัญของป่าในเมือง แต่ไม่ยอมเสียเงิน แต่หากเป็นการซื้อสินค้าแล้วเงินส่วนหนึ่งบริจาคเพื่อป่าในเมืองสามารถยอมได้

ฉะนั้น การสร้างป่าในเมืองจะเกิดขึ้นได้หากเอกชนหรือมหาวิทยาลัยมีกำลังเงินมากพอ หรือระดมทุนจากกลุ่มคนที่มีกำลังจ่าย ส่วนประชาชนจะมีส่วนร่วมน้อยมาก ในขณะที่พื้นที่ป่าบางส่วนก็ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานไหนโดยตรง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวขาดคนดูแล ซึ่งงานวิจัยนี้จะช่วยให้เกิดองค์กรหนึ่งขึ้นมาดูแลต้นไม้หรือป่าที่ลงทุนสร้างไปแล้วในระยะยาวได้

“ดังนั้นต้องอธิบายความหมายให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ป่าในเมือง คือ พื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และคนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกสบาย สะอาด ร่มรื่น นั่นคือ ต้องมีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่รูปแบบของป่าจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ประโยชน์ของเมืองนั้นๆ โดยการสร้างความเข้าใจเรื่องป่านี้ภาครัฐต้องเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ”

สำหรับป่าในกรุงเทพฯ เช่น สวนลุมพินี สวนรถไฟ มีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น และเกิดระบบนิเวศ คือมีสัตว์มาพึ่งพาอาศัย เช่น นก ซึ่งแนวทางในการสร้างป่าในกรุงเทพฯ รศ.ดร.นิรมล บอกว่าก็คือพัฒนาพื้นที่สีเขียวเดิมให้เป็นป่า เช่น เปลี่ยนสวนหย่อมที่มีแต่ต้นไม้เล็กๆ ให้เป็นป่าโดยการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาได้ นกก็สามารถมาอาศัยอยู่ได้

“ทุกวันนี้สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวทั่วๆ ไป อาจจะเพียงพอต่อความต้องการของคนเมือง แต่ถ้าพื้นที่สีเขียวนั้นมีต้นไม้ก็จะดีกว่า คนเมืองก็จะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น พื้นที่อเนกประสงค์มากขึ้น มีความหลากหลายในการทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับบางพื้นที่ที่ไม่มีพื้นที่สีเขียวก็อาจใช้พื้นที่ว่างของวัด โรงเรียน หรืออำเภอ มาจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกคน และปลูกฝังให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ก็จะทำให้เกิดป่าในเมืองขึ้นมาได้”

ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมผังเมืองและการผังเมือง กล่าวว่า ป่าและพื้นที่สีเขียวไม่เหมือนกัน พื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ เป็นสิ่งที่เมืองต้องมี คนสามารถเข้าใช้ได้โดยง่าย และพื้นที่สีเขียวอยู่ได้ทุกที่แค่ปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า หลังคา กำแพง แต่ป่ามีวัฏจักรที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล

“หน้าแล้งใบไม้ต้องเหลือง ไม่ใช่เขียวตลอดทั้งปี ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับคนเมืองก่อนว่ารับได้ไหมหากจะมีป่าในเมือง เพื่อใช้พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติด้วย หรือต้องการเพียงพื้นที่ที่เขียวชอุ่มทั้งปี ที่พื้นสะอาดไม่มีเศษใบไม้ร่วง”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.จิตติศักดิ์ ยังกล่าวว่า พันธุ์ไม้ที่จะปลูกต้องเป็นไม้ของไทย ไม่มีโรค แต่มีปัญหาทางกฎหมายในไม้บางพันธุ์ เช่น สัก พะยูง ว่าสามารถปลูกเป็นป่าในเมืองได้หรือไม่ ซึ่งเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องคุยกันเพื่อทำความเข้าใจเรื่องป่าในเมือง

“สวนสาธารณะที่ไหนต่างก็มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ก็มีค่าใช้จ่ายปีละ 8 ล้านบาท โดยสวนนี้มีแนวคิดในการปลูกป่า ฉะนั้น ต้นไม้ทุกต้นจะปลูกจริงทั้งหมด ไม่ได้ล้อมมาจากที่อื่น เพื่อให้เป็นสวนป่าอย่างแท้จริง โดยปัจจุบันสวนนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ต้องใช้เวลาในการสร้างไปเรื่อยๆ”

“ป่าไม้ในเมือง” กินความมากและกว้างกว่า “พื้นที่สีเขียว”

ปอดเมือง ป่าไม้มหานคร

ความสำคัญของป่าในเมือง รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ แห่งศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความชื่อ “ทบทวนแนวคิดป่าไม้ในเมือง (Urban Forest) เผยแพร่ในเว็บไซต์ progreencenter.org ชี้ว่า ประชาชนในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็สามารถมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนได้เช่นกัน โดยผ่านการยอมรับลักษณะของ “ป่าในเมือง” (Urban Forest) ที่มีความหมายกว้างกว่า “พื้นที่สีเขียว” (Green Area)

ป่าในเมือง เป็นองค์ประกอบของการป่าไม้ในเมือง ที่ว่าด้วยการจัดการต้นไม้ในเมืองทั้งแบบมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ การบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ของการจัดการต้นไม้ในเขตเมืองที่คำนึงถึงคุณลักษณะพื้นฐาน ปัจจัยด้านสังคม คุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยในเขตเมือง ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่อาศัย

การจัดการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่มีต้นไม้ทั้งต้นไม้เดี่ยว กลุ่มของต้นไม้ หรือต้นไม้ที่อยู่ในอาณาบริเวณที่ประชากรอาศัยอยู่ในความหนาแน่นระดับหนึ่ง ครอบคลุมถึงอาณาบริเวณของถนน สวนสาธารณะ และบริเวณแยกต่างๆ ที่มีการจัดการต้นไม้ นอกจากนั้นการจัดการป่าไม้ในเขตเมืองยังครอบคลุมถึงเรื่องประโยชน์ของต้นไม้ในแง่มุมต่างๆ และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้เหล่านั้น จุดมุ่งหมายหลักของการป่าไม้ในเมือง คือ การปรับปรุงสุขภาพของต้นไม้ให้มีความแข็งแรง และเพิ่มคุณค่าของต้นไม้และบริเวณโดยรอบเขตเมืองนั่นเอง

บทบาทของการป่าไม้ในเมือง ในประเทศพัฒนาแล้วจะแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนา กล่าวคือ ในประเทศอุตสาหกรรม การป่าไม้ในเมืองนั้นจะคำนึงถึงประโยชน์ด้านการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ทางทัศนียภาพ ในขณะที่ประเทศยากจนนั้น ป่าไม้ในเมืองช่วยตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น การเป็นแหล่งพลังงานขั้นต้นจากฟืน ฯลฯ ต้นไม้ในเขตเมืองมีศักยภาพที่จะยังประโยชน์หลากหลาย ทั้งการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการเป็นปัจจัยการผลิต

ปัจจุบันการป่าไม้ในเขตเมืองนั้นถูกให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องของประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้จากต้นไม้ เช่น การพัฒนาพื้นที่สันทนาการ การควบคุมปริมาณมลพิษทางอากาศและเสียง และการลดก๊าซเรือนกระจก

การปลูกพืชหรือต้นไม้ในเมืองนั้นเป็นเป้าหมายในการลดมลพิษตามโครงการป่าในเมือง นอกจากนั้น ป่าในเมืองยังมีส่วนช่วยในเรื่องน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ในด้านการจัดการน้ำเสียและการจัดการน้ำทิ้งของครัวเรือน มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ดิน การป้องกันดินถล่มในเขตเมือง การจัดการขยะอินทรีย์ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศวิทยา การลดความร้อนในเขตเมือง เป็นต้น

สำหรับประโยชน์ทางสังคมนั้น ป่าในเมืองโดยเฉพาะสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว มีส่วนช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น ประโยชน์ของภูมิทัศน์ในเขตเมืองนั้นส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศอุตสาหกรรม

นอกจากนั้น ป่าในเมืองยังสร้างงานให้กับประชาชนจำนวนมากทั้งงานที่เป็นงานภูมิทัศน์ งานสวน งานป่าไม้ และครอบคลุมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สันทนาการที่เกิดขึ้นจากป่าในเมืองอีกด้วย ป่าในเมืองยังช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ในรูปแบบต่างๆ เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ สวนดอกไม้ รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์ในเขตเมืองต่างๆ และพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น ป่าในเมืองยังมีส่วนช่วยอย่างมากในแง่ของสันทนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศรายได้น้อย คนมีรายได้น้อยมักใช้สวนสาธารณะ
เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจมากกว่าคนที่มีรายได้มากที่มีทางเลือกในการพักผ่อนหย่อนใจมากกว่า

กรุงเทพฯ มุ่งสู่มหานครสีเขียวได้หรือไม่?

ปอดเมือง ป่าไม้มหานคร

กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ 12 แห่ง รวมพื้นที่ 3,712 ไร่ เฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 3 ตร.ม./คน ในขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 16 ตร.ม./คน โดยป่าในเมืองต้องประกอบด้วยความหลากหลายด้านชนิดพันธุ์ไม้ มีต้นไม้สภาพดีที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ และมีพันธุ์ไม้ธรรมชาติหรือองค์ประกอบของต้นไม้พื้นถิ่น ตัวอย่างเช่น สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ บางกระเจ้า แต่เนื่องจากไม่มีพื้นที่ปลูกป่าในกรุงเทพฯ แล้ว ดังนั้น คนเมืองต้องสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พื้นที่สาธารณะชานเมือง

กรุงเทพมหานครลงทุนพัฒนาสวนสาธารณะขนาดใหญ่สูงมาก ประมาณ 3 ล้านบาท/ไร่ แต่ในสวนสาธารณะบางแห่งก็ไม่คุ้มค่าเพราะว่ามีประชาชนมาใช้บริการไม่มาก เนื่องจากระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครที่ยังไม่เป็นระบบ อย่างไรก็ตาม การทำงานมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองมาโดยตลอด แต่ทุกปีพื้นที่สีเขียวก็จะหายไปด้วยเนื่องจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

สำหรับพื้นที่สีเขียวแบ่งเป็น 7 ประเภท คือ สวนหย่อมขนาดเล็ก (ไม่เกิน 2 ไร่) สวนหมู่บ้าน (2-25 ไร่) สวนชุมชน (25-125 ไร่) สวนระดับย่าน (125-500 ไร่) สวนระดับเมือง (500 ไร่ขึ้นไป) สวนถนน และสวนเฉพาะทาง โดยกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลัก 35 แห่ง พื้นที่รวม 3,584 ไร่ และมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรที่ 6.17 ตร.ม./คน

จากพื้นที่สีเขียวทั่วกรุงเทพฯ รวม 22,015 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมามีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น สร้างสวนสาธารณะใหม่ 10 แห่ง ส่งเสริมสวนบนอาคารสูงและแนวกำแพง สร้างสวนสุนัข ฯลฯ และปี 2560 มีเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 950 ไร่ สร้างสวนสาธารณะ 4 แห่ง เชื่อมสวนจตุจักร สวนรถไฟ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เข้าด้วยกัน และสร้างความร่วมมือกับการไฟฟ้าเรื่องการตัดต้นไม้ริมทาง

“ในพื้นที่เมือง แม้ว่าจะเป็นป่าเล็กป่าน้อยก็เป็นป่าได้เหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่คนเข้าไปโอบกอดกับพื้นที่ป่า ป่าในเมืองมีหน้าที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะของมัน เช่น เรื่องสุขภาพ ซึ่งโดยตรงกว่าป่าที่อยู่ห่างไกลเสียอีก ดังนั้น ป่าในเมืองคือการเชื่อมโยงกับคน ให้คนมีโอกาสสัมผัสและสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากกว่า

ทั้งนี้ เห็นว่าในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองนั้น ในอนาคตรัฐควรเพิ่มแรงจูงใจให้กับเจ้าของที่ดิน เช่น มาตรการลดภาษีที่ดิน คือลดภาษีที่ดินให้กับที่ดินที่มีต้นไม้ใหญ่ หรือให้ผลตอบแทนกับเจ้าของที่ดินที่มีต้นไม้ใหญ่และเปิดให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์”

เดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เสนอมุมมองทางวิชาการถึงการฟื้นฟูป่าในเมือง ในการเสวนา “ฟื้นฟูภูมิทัศน์ ป่าไม้ ความหวังใหม่ในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน” ในงานเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ถักทอต่อผืนป่า Forest Quilt”

เขาบอกว่า มีการคำนวณกันว่าคนไทยหนึ่งคนใช้ทรัพยากรเท่ากับป่าไม้ 3 ไร่ แต่เมื่อเทียบระหว่างคนเมืองและคนต้นน้ำอย่างชนเผ่าปกาเกอะญอ พบว่าคนเมืองใช้ทรัพยากรคนละ 5 ไร่ ซึ่งเกินกว่าพื้นที่ทรัพยากรที่มี ในขณะนี้ชาวเผ่าปกาเกอะญอกลับใช้กันเพียงคนละ 1 ไร่

กรุงเทพมหานครไม่ได้ถูกวางผังเมืองมาสำหรับพื้นที่สีเขียวตั้งแต่ต้น จึงทำให้เมืองเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่กระจุกตัวอย่างหนาแน่น และไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่แซมได้มาก ส่วนพื้นที่สีเขียวที่มีก็เป็นพุ่มไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็กที่ไม่สามารถดูดซับก๊าซาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น การปรับภูมิทัศน์ของเมืองใหม่โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้าไปก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเมืองมากขึ้น

จากการวางผังเมืองไม่คำนึงถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว ปรานิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอมุมมองทางวิชาการถึงการฟื้นฟูป่าในเมือง ในการเสวนาบนเวทีเดียวกันว่า คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าป่าในเมือง คือการนำต้นไม้จำนวนมากมารวมกัน

“แต่แท้จริงยังมีวิธีการอื่นอีก เช่น การปลูกต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ที่เป็นถนนหนทางของเมือง โดยพื้นที่ข้างล่างของต้นไม้ใหญ่ คนเมืองสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าผังเมืองของ กทม. ไม่ได้ถูกวางให้เอื้อต่อการที่จะทำให้เป็นป่าในเมืองมากนัก เพราะผังเมือง กทม.ไม่ได้กันให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียวเอาไว้แต่อย่างใด สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของ กทม.เกือบทั้งหมดเกิดจากความบังเอิญ ไม่ได้เกิดจากการผังเมืองเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวขึ้น

อีกทั้งพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกต้นไม้ เช่น ตามแนวถนน หรือตามริมคลองก็มีพื้นที่ที่ไม่เพียงพอต่อการเติบโตของต้นไม้ขนาดใหญ่ ถนนเท่าที่มีอยู่ที่พอปลูกต้นไม้ได้ แต่จะต้องดำเนินการในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในระบบไหลเวียนของน้ำ ซึ่งเรายังไม่มีผู้รู้ที่ทำเรื่องนี้มากเท่าที่ควร

ปอดเมือง ป่าไม้มหานคร

ทั้งนี้ มีส่วนที่น่าสนใจในเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ขณะนี้ภาคเอกชนไปไกลกว่าภาครัฐมากในเรื่องนี้มาก เพราะบนอาคารสูง หรือคอนโด แม้แต่ห้างสรรพสินค้า ของภาคเอกชนก็ได้พยายามจัดให้มีพื้นที่สีเขียว มีสวนสวยงาม ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่เดิม แต่คนเข้าไปใช้สอยพื้นที่ได้ไม่เต็มที่ เพราะเปิดปิดเป็นบางเวลา หรือบางหน่วยงานมีที่ดินกว้างขวาง แต่นำไปทำเป็นที่จอดรถหมด รัฐจึงควรคิดในเรื่องนี้ใหม่”

แนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองกรุงเทพมหานคร ปรานิศา ได้นำเสนอไว้ด้วยว่า กรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่กระจุกตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่แซมในตึกรามบ้านช่องได้มากนัก หน่วยงานภาครัฐควรจะอุทิศพื้นที่ที่เป็นสีเขียวอยู่แล้วให้เป็นที่สาธารณะ

หรือบางหน่วยงานที่มีความคับแคบในเรื่องสถานที่ก็อาจจะต้องย้ายหน่วยงานออกจากพื้นที่ หากไม่มีความจำเป็นต้องอยู่จุดตรงนั้น และนำพื้นที่นั้นไปสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมือง ซึ่งหากทำแบบนี้ได้จะได้พื้นที่สีเขียวกลับคืนมาเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน

“เมื่อพูดถึงสถิติพื้นที่สีเขียวใน กทม. ก็ยังมีตัวเลขที่น้อยมาก และพื้นที่สีเขียวที่มีก็เป็นพุ่มไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็กที่ไม่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับภูมิทัศน์ของเมืองใหม่ โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นเพื่อสุขภาพของคนเมืองทุกคนด้วย”

การที่คนเมืองได้เปิดมุมมองและร่วมสนับสนุนการฟื้นฟูผืนป่าที่ทำให้ป่าเพิ่ม วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) กล่าวถึงการฟื้นฟูป่าในเมือง ในการเสวนาบนเวทีเดียวกันว่า ภูมิทัศน์เมืองก็ควรมีระบบบริการทางนิเวศที่ดี เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง จะเห็นได้ว่าอัตราพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ต่อจำนวนประชากร 5.42 ตร.ม./คนขณะที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน

“การเพิ่มป่าหรือพื้นที่สีเขียวในเมือง ควรเริ่มจากการวางผังเมือง คงรักษาพื้นที่สวน หรือพื้นที่สีเขียวดั้งเดิม และการสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นใหม่ทั้งในชุมชนขนาดเล็กและพื้นที่แนวตั้ง การฟื้นฟูป่าในเมืองสามารถเริ่มได้จากตัวเราเเละสามารถทําได้ใกล้บ้าน ทั้งในชุมชนที่เราอาศัยอยู่หรือพื้นที่สาธารณะ

เเต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคนเมืองสามารถร่วมสะท้อนเสียงให้รัฐบาลเกิดการจัดการป่าไม้ทั้งระบบ ที่ไม่ได้มองเฉพาะป่าในเมืองเท่านั้น เเต่เป็นการสนับสนุนการฟื้นฟูป่าจากป่าต้นน้ำจนถึงชายทะเล ที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์ของการฟื้นร่วมกันทั่วประเทศ”