posttoday

แนะรัฐเปิดใจรับตัวช่วยส่งนิโคตินเข้าสู่ร่างกายแทนพ่นควันก่อโรค

13 มิถุนายน 2561

ผู้เชี่ยวชาญรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ติงอย่าหลงปลื้มตัวเลขสิงห์อมควันลด เปิดใจรับตัวช่วยส่งนิโคตินเข้าสู่ร่างกายมากกว่าพ่นควันที่ก่อโรค

ผู้เชี่ยวชาญรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ติงอย่าหลงปลื้มตัวเลขสิงห์อมควันลด เปิดใจรับตัวช่วยส่งนิโคตินเข้าสู่ร่างกายมากกว่าพ่นควันที่ก่อโรค

นพ.ชาคริต หริมพานิช อายุรแพทย์ โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จ.นครราชสีมา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการรณรงค์เพื่อเลิกสูบบุหรี่ กล่าวว่า แม้ผลสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2560 ระบุว่า จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลง แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ที่ยังมีถึงกว่า 10.7 ล้านคน ก็ยังเป็นจำนวนที่สูงมากอยู่ อีกทั้งยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองอีกมากกว่า 15 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 5 หมื่นราย จึงเห็นว่าความพยายามในการรณรงค์เพื่อให้คนไทยเลิกหรือลดการสูบบุหรี่ ผ่านมาตรการควบคุมต่างๆ อาทิ มาตรการทางภาษี การกำหนดอายุขั้นต่ำ หรือการห้ามโฆษณา เป็นต้น อาจจะประสบความสำเร็จในแง่จำนวนผู้สูบบุหรี่และผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ลดลง แต่ยังไม่สามารถทำให้ลดลงในระดับที่น่าพอใจจึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้สูบบุหรี่อย่างลึกซึ้ง ให้ทราบถึงสาเหตุที่ยังเสพติดบุหรี่ ทั้งในแง่พฤติกรรมการสูบ หรือการเสพติดสารนิโคติน ซึ่งควันบุหรี่เป็นต้นเหตุของการก่อโรคต่างๆ ทั้ง โรคมะเร็ง โรคปอด โรคหลอดเลือดและหัวใจ ทั้งผู้สูบและคนรอบข้างด้วย

นพ.ชาคริต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า จำนวนคลินิกเลิกบุหรี่ยังมีไม่มากพอ และไม่เป็นมาตรฐาน จนทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการปรึกษาวิธีการเลิกบุหรี่ ทำให้หลายคนเลือกใช้วิธีหักดิบด้วยตนเอง หรือซื้อสารทดแทนนิโคตินมาใช้เอง ส่งผลให้อัตราความสำเร็จในการเลิกบุหรี่อยู่ที่เพียงไม่เกิน 20% เท่านั้น และแม้บางรายอาจจะเลิกได้เอง แต่ส่วนใหญ่ก็หันกลับไปสูบอีก ทำให้ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ยังสูงมากอยู่ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการลดอันตรายจากควันบุหรี่ ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง ที่เรียกว่า Tobacco Harm Reduction หรือการลดอันตรายจากควันบุหรี่ โดยเป็นการนำส่งนิโคตินเข้าสู่ร่างกายด้วยอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์นิโคตินทดแทนที่ไม่มีการเผาไหม้ ทำให้ไม่มีควัน สารพิษก็จะลดลง เช่น ยาสูบแบบอม หรือ Snus (สนุซ) ซึ่งเป็นที่นิยมในแถบยุโรป รวมไปถึงบุหรี่ไฟฟ้า หรือยาสูบแบบไม่เผาไหม้ ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งทำการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักสูบที่พยายามเลิกแล้วล้มเหลว เพราะยังเสพติดนิโคตินอยู่

“การศึกษาเชิงพิษวิทยา และการศึกษาทางคลินิกระยะสั้น ผลที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ระบุว่า สารพิษที่ได้รับน้อยกว่าควันเผาไหม้จากบุหรี่มวนชัดเจน ทั้งพิษที่เข้าสู่ผู้เสพ และคนรอบข้าง แต่จุดสังเกตที่ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป คือ ผลที่เกิดต่อร่างกายในระยะยาว ว่าอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์แบบใหม่นี้จะส่งผลอย่างไร ทั้งยังอาจเป็นการดึงดูดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเยาวชน ให้มาใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้ ดังนั้นภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานการผลิตให้เหมาะสม มากกว่าในปัจจุบันที่มีการลักลอบใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่หลายประเภทเข้าข่ายผิดกฎหมายด้วย” นพ.ชาคริต ระบุ.