posttoday

รมว.แรงงานปราศรัยในการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 

04 มิถุนายน 2561

รมว.แรงงานปราศรัยในการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ย้ำไทยมุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

รมว.แรงงานปราศรัยในการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ย้ำไทยมุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวปราศรัยใน ในการประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 107ว่า ขอแสดงความชื่นชมผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ สำหรับรายงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในโลกของการทำงาน กระผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับรู้ว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และรัฐสมาชิกกำลังจะพัฒนาเครื่องมือ/ตราสารที่เป็นแนวทางอย่างเป็นระบบและเป็นแรงกระตุ้นต่อกรอบกฎหมายต่างๆ ที่ครอบคลุมประเด็นเรื่องความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกของการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาอาชีพของสตรีหลายคน

ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และได้บูรณาการความเท่าเทียมทางเพศเข้าไปในทุกด้านของการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง นโยบาย มาตรการ และกลไกต่าง ๆ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสตรีและความเท่าเทียม รวมทั้งการพิทักษ์สิทธิสตรี

หลักการของการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศหญิงและชายได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้มุ่งเน้นการพัฒนาที่คนเป็นศูนย์กลาง มีความครอบคลุม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี (พ.ศ. 2560-2564) เป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมสถานะสตรี ปกป้องสิทธิแรงงานและความเสมอภาค นโยบายระดับชาติ "ประเทศไทย 4.0" ที่จะปรับโครงสร้างประเทศให้เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ช่วยขยายโอกาสให้สตรีมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมมากยิ่งขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

​​ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมให้อำนาจและความเสมอภาคแก่สตรี โดยเฉพาะการให้สัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 111 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นของพวกเราในการพัฒนาสตรีและการหลอมรวมสตรีเข้าสู่กระบวนการพัฒนาประเทศอย่างเสมอภาคกัน

สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของสตรีไทยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จำนวนสตรีที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นโยบายของสถานที่ทำงานมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับและเพิ่มความสามารถของสตรีให้มีส่วนร่วมที่ชัดเจนมากขึ้นในกำลังแรงงาน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกจำนวนมาก เรื่อง “ผู้หญิงในที่ทำงาน” เป็นประเด็นท้าทายหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติหญิง มีความเป็นไปได้แต่ไม่ได้ง่ายนักที่จะเปลี่ยนทัศนคติซึ่งมีมาเก่าแก่ดั้งเดิมที่ว่า "ผู้ชายเป็นผู้นำและผู้หญิงเป็นผู้ตาม" หรือ "ผู้หญิงต้องอยู่กับบ้านเท่านั้น"

​​กระผมขอปิดท้ายด้วยการยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดกับ ILO และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ งานที่มีคุณค่า และการปูทางสู่อนาคตที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน