posttoday

"ร่างทรง" องค์เทพผู้คลายทุกข์หรือคนบ้าจอมลวงโลก

03 มิถุนายน 2561

ชำแหละกระบวนการเข้าสู่การเป็นร่างทรงและเหตุผลที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในสังคม

ชำแหละกระบวนการเข้าสู่การเป็นร่างทรงและเหตุผลที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในสังคม

-------------------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

คำพูด ท่วงท่าและลีลาของ “แสงสุริยะเทพ พระมหาสุริยะ” หญิงสาวผู้อ้างตัวว่าเป็นร่างทรงจตุคามรามเทวา กลายเป็นข่าวดังเกรียวกราวและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ให้กับวงการร่างทรงอย่างกว้างขวาง

ภารกิจสำคัญที่เธอประกาศคือช่วยเหลือให้เพื่อนมนุษย์พ้นวิบากกรรม พร้อมกับปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้คงอยู่กับประเทศไทย

ปี 2018 ดูเหมือนว่าเหตุผลและสิ่งที่พิสูจน์ได้อาจยังไม่เพียงพอต่อความรู้สึกนึกคิดของมนุษยชาติ ?

โลกก้าวหน้าแต่จิตใจยังมีช่องว่าง

ร่างทรงไม่ปรากฎชัดกว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ อยู่คงกะพันมาถึงจนปัจจุบัน

ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักศาสนวิทยา บอกว่า ในอดีตร่างทรงเป็นวัฒนธรรมร่วมของโลก ปรากฎในศาสนาโบราณหรือศาสนาบรรพกาล ซึ่งหมายถึงศาสนาที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาทางความคิด ยึดติดในเรื่องของไสยศาสตร์และโชคลาง

“ร่างทรงในไทยมีรากฐานจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยธรรมชาติของคนต้องการสื่อสารระลึกถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ก่อนจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และความศรัทธาต่อกษัตริย์ สืบต่อและพัฒนาการจนเลยเถิดไปถึงเทพทรงใหม่ๆ ที่เป็นตัวละครในนิยายวรรณคดีหรือแม้กระทั่งตัวการ์ตูน”

ความไม่รู้ กลายเป็นเหตุผลสำคัญทำให้คนในอดีตเลือกที่จะพึ่งพาสิ่งศักดิ์หรือความเชื่อที่มองไม่เห็น

ดร.ศิลป์ชัย เล่าว่า คนโบราณพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ ความเชื่อและศาสนาอย่างมาก เนื่องจากไม่มีองค์ความรู้ที่จะแก้ไขต่อปัญหาที่ตนเองหรือชุมชนกำลังเผชิญ แรกเริ่มอาจเป็นเพียงแค่การบวงสรวงบูชาขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อผ่านช่วงเวลาและกระบวนการที่เข้มข้นซับซ้อน พวกเขาเริ่มต้องการผู้ที่สามารถชี้นำหรือตัวกลางที่สามารถสื่อสารกับวิญญาณหรือสิ่งศักดิ์เพื่อหาคำตอบของปัญหาได้ จนกลายเป็นที่มาของร่างทรง

“เพาะปลูกไม่ขึ้นทำ ฝนไม่ตกทำอย่างไร แก้ปัญหาโรคระบาดอย่างไร เขาไม่มีองค์ความรู้ สิ่งที่ทำได้คือการบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์”

"ร่างทรง" องค์เทพผู้คลายทุกข์หรือคนบ้าจอมลวงโลก

โลกมีเหตุผลและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้นก็จริง แต่ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างทางจิตใจได้สนิท

นักศาสนวิทยา อธิบายว่าสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือมนุษย์ทุกคนมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าโลกใบนี้จะมีความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำให้ผู้คนพ้นทุกข์ทางจิตใจได้

“ความรู้สึกของมนุษย์ยังมีพื้นที่ของความกลัว ความกังวลทั้งหลาย ที่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ หรือแม้แต่รัฐบาล ช่วยเหลือพวกเขาไม่ได้ แต่ศาสนาและศรัทธามันเติมเต็มส่วนนี้ พฤติกรรมที่เขาเห็นมันช่วยให้เขามั่นใจ สบายใจ รู้สึกว่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นยังยึดโยงกับกลุ่มคนที่เขาผูกพันด้วย”

ดร.ศิลป์ชัย บอกด้วยว่า เป็นเรื่องปกติที่ศาสนาและความเชื่อจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ ไล่ตั้งแต่การเมืองการปกครอง วัฒนธรรม ศาสนา จริยธรรมเพื่อจรรโลงจิตใจ เศรษฐกิจการท่องเที่ยว หรือแม้แต่หลอกลวงขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ประโยชน์ทางด้านใด

3 กระบวนการเข้าสู่ร่างทรง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิม เดอะ ยง ประธานสาขาวิชาไทยและอาเซียนศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ผู้ค้นคว้าและเขียนงานวิจัยเรื่องกระบวนการเข้าสู่การเป็นร่างทรง บอกว่า จากการศึกษาร่างทรงจำนวน 38 ราย พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ขณะที่เจ้าหรือเทพที่เข้าทรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยกระบวนการเข้าสู่การเป็นร่างทรงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่หนึ่ง เงื่อนไขที่นำมาสู่การเป็นร่างทรง

ดร.พิม พบว่าส่วนใหญ่ ความเจ็บป่วยเป็นจุดหักเหของบุคคลในการตัดสินใจเข้าสู่การเป็นร่างทรง โดยมีร่างทรงที่เป็นครูและคนในครอบครัวเป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ

“เมื่อบุคคลไปรับการรักษาทางการแพทย์สมัยใหม่แล้วไม่หาย หรือไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการป่วย ทำให้พวกเขาเลือกไปรับการรักษาจากร่างทรงที่เป็นครู ผู้ที่พาไปมักเป็นญาติหรือคนในครอบครัว เมื่อไปทำการรักษากับร่างทรงก็ถูกบ่งชี้ว่า เจ้าหรือเทพต้องการที่จะให้เป็นร่างทรง หากเป็นแล้วจะหายจากความเจ็บป่วย เมื่อบุคคลพิจารณาอาการเจ็บป่วยของตนเองซึ่งไม่ทราบสาเหตุและรักษาไม่หายจึงเกิดความคล้อยตาม เริ่มนิยามตนเองว่าจะต้องเป็นร่างทรงของเจ้าหรือเทพ”

ทั้งนี้นอกจากความเจ็บป่วยแล้ว การสืบทอดจากครอบครัวและบรรพบุรุษ รวมถึงถูกเทพเข้าฝัน นับเป็นเหตุผลรองลงมาที่ทำให้บุคคลกลายเป็นร่างทรง และเมื่อถามถึงสาเหตุที่เทพเลือกเข้าทรงมนุษย์ ร่างทรงส่วนใหญ่ตอบตรงกันว่า เพื่อมาสะสมบุญบารมี

"ร่างทรง" องค์เทพผู้คลายทุกข์หรือคนบ้าจอมลวงโลก ร่างทรงพระพิฆเณศ และ ร่างทรง ผีเสื้อสมุทร

ระยะที่สอง การเข้าสู่การเป็นร่างทรง

ดร.พิม บอกว่า เมื่อบุคคลได้ตัดสินใจที่จะเข้าสู่การเป็นร่างทรงแล้ว ต้องผ่านการประกอบพิธีเพื่อตรวจสอบว่าเจ้าหรือเทพองค์ใดที่มาจับทรง พิธีกรรมนี้จะช่วยให้บุคคลเกิดความมั่นใจและช่วยจัดการกับความลังเลสงสัยว่าตนเองมีเจ้าหรือเทพมาจับทรงจริงหรือไม่

ระยะนี้ร่างทรงใหม่จะเริ่มมีการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นร่างทรงที่สมบูรณ์และมีความมั่นคงในเอกลักษณ์ของตนเอง ผ่านการขัดเกลาและให้คำแนะนำจากครูและร่างทรงคนอื่นๆ

ระยะที่สาม การดำรงความเป็นร่างทรง

ท่าทีของผู้มารับบริการ มีผลต่อความเชื่อมั่นในการมองตนเองของบุคคลว่าเป็นร่างทรง นำไปสู่แรงเสริมที่จะแสดงตนเป็นร่างทรงมากขึ้นเพื่อดำรงความเป็นร่างทรงต่อไป อันนำไปสู่การสวมบทบาทตามความคาดหวังของผู้มารับบริการและช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

โดยประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมานับเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้ร่างทรงมีทักษะและความชำนาญในการตอบสนองต่อผู้มารับบริการแต่ละกรณี ถ้าร่างทรงสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มารับบริการได้ดี ก็จะทำให้ผู้คนมีความเชื่อถือศรัทธา ร่างทรงก็จะเกิดความรู้สึกภูมิใจ มองตนเองเชิงบวกและมีความผูกพันพร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการเป็นร่างทรงของตนเองมากขึ้น

ประเด็นนี้ ดร.พิม บอกว่า สามารถวิเคราะห์ได้ตามแนวคิด Dramaturgical perspective ของ Erving goffman นักสังคมวิทยา กล่าวคือ

หากเปรียบโลกนี้คือละครเวที สมาชิกในสังคมต่างก็เป็นนักแสดงที่ต้องแสดงบทบาทของตนเองผ่านหน้ากากที่สวมใส่อยู่ในการปฏิสังสรรค์กับผู้อื่น ร่างทรงก็เช่นเดียวกัน ขณะที่แสดงตนเป็นเจ้าหรือเทพตามความเชื่อของเขา ร่างทรงเปรียบเสมือนนักแสดงที่มีอำนาจครอบงำเหนือผู้ชม การแสดงเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าเขาเป็นร่างทรงของเทพองค์นั้นจริงๆ

การแสดงของร่างทรงต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนเพื่อช่วยให้การนำเสนอมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น ได้แก่

1.ภาพที่ปรากฎ เป็นส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งกายชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะหรือเอกลักษณ์ของเทพ

2.กริยาท่าทาง การแสดงท่าทางและการพูดจาที่มีความสอดคล้องกับคุณลักษณะของเทพที่มาประทับทรงเป็นส่วนสำคัญต่อการตีความของผู้อื่น

3.ที่ตั้ง สำนักทรงเปรียบเสมือนเวทีการแสดงที่ประกอบไปด้วยแสง สี เสียง อุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความสำเร็จในการบทบาทของร่างทรง

"ร่างทรง" องค์เทพผู้คลายทุกข์หรือคนบ้าจอมลวงโลก แสงสุริยะเทพ และ ร่างทรงแม่พันธุรัตน์

เคารพความเชื่อ

นักวิชาการรายนี้บอกว่า บทบาทของร่างทรงนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเพื่อตอบสนองปัญหาของผู้คน จากอดีตที่ร่างทรงมีหน้าที่รักษาโรคบางชนิด ช่วยเหลือในการทำพิธีกรรมทางธรรมชาติ ปัจจุบันอาจมีหน้าที่ในการบำบัดจิตใจ คลายความกังวล หรือแม้แต่เพิ่มความมั่นใจให้กับบุคคล เช่นเดียวกับการนำเสนอของแต่ละสำนักที่พัฒนาไปตามเทคโนโลยี

“บทบาทเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในอดีตไม่มีหวย ปัจจุบันร่างทรงก็มีบทบาทใหม่ ช่วยทำนายดวง ให้โชค สะเดาะเคราะห์ ผ่านช่องทางใหม่ๆ อย่างโซเชียลมีเดีย เพื่อทำให้เกิดการเข้าถึงของคนหมู่มาก นำไปสู่ชื่อเสียงและการติดตามของผู้คน ไม่เฉพาะแค่ร่างทรง แต่ระบบความเชื่อทางโหราศาสตร์ก็เปลี่ยนแปลงและปรับตัวเหมือนกัน เช่น ดูดวงผ่านไลน์ ไลฟ์เฟซบุ๊ก”

"ร่างทรง" องค์เทพผู้คลายทุกข์หรือคนบ้าจอมลวงโลก ดร.พิม เดอะ ยง ประธานสาขาวิชาไทยและอาเซียนศึกษา ม.สงขลานครินทร์


แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์หรือคลายทุกข์ให้กับมนุษย์ผู้มีหัวจิตหัวใจและความรู้สึกได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นเหตุผลให้ระบบความเชื่อที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ เติบโตและยืนระยะมาอย่างยาวนาน

ดร.พิม ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าร่างทรงเป็นเรื่องจริงหรือเพียงแค่การมโนผ่านจินตนาการ เพราะไม่มีเครื่องมือตรวจจับพลังงานหรือทดลองพิสูจน์ เธอเห็นว่ามนุษย์ควรเปิดใจกว้าง ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณในการประเมินและตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้น

“ถ้าร่างทรงสามารถคลายทุกข์ให้กับผู้ใดได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคม ก็นับว่าร่างทรงนั้นเป็นผู้บำบัดทางจิตให้กับบางคนในยุคสมัยใหม่ แทนที่จะบำบัดด้วยแพทย์ ก็บำบัดด้วยการใช้วัฒนธรรมความเชื่อ เราพยายามมองเป็นกลางและเคารพวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้”