posttoday

รมว.แรงงานเผยปลดล็อกอาชีพสงวนต้องพิจารณารอบคอบ

01 มิถุนายน 2561

รมว.แรงงานพร้อมรับฟังข้อท้วงติง3สภาวิชาชีพชี้การปลดล็อกอาชีพสงวนเพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยไม่ไช่การเปิดเสรีต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ

รมว.แรงงานพร้อมรับฟังข้อท้วงติง3สภาวิชาชีพชี้การปลดล็อกอาชีพสงวนเพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยไม่ไช่การเปิดเสรีต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ

เมื่อวันที่ 1มิ.ย.61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังประชุมด่วนเกี่ยวกับการปลดล็อกอาชีพสงวนสำหรับแรงงานต่างด้าว ว่า เนื่องจาก 3 สภาวิชาชีพ ทั้งสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และสภาวิชาชีพบัญชี มีความห่วงใย และข้อกังวลต่อกรณีการปลดล็อกอาชีพสงวนเพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานที่อาจจะมีผลต่อความมั่นคง และมีผลกระทบต่อคนไทยซึ่งทั้ง 3 สถาบันสภาวิชาชีพ ยืนยันว่าขณะนี้ไม่ได้ขาดแคลนแรงงานในอาชีพนี้ และมีกำลังมากพอ อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศอาเซียนมีข้อตกลงปฏิญญาการเคลื่อนย้ายแรงงานอาเซียน เมื่อปี 2544 โดยเป็นการเปิดอาชีพเสรีซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ดังนั้น การประชุมร่วมกันครั้งนี้ จึงต้องเชิญหารือเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกัน

ทั้งนี้ จากการรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากตัวแทนสภาวิชาชีพทั้ง 3 สถาบัน พร้อมมีข้อสรุปว่า กระทรวงแรงงานจะรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อนำไปพิจารณาให้เกิดประโยชน์อย่างรอบคอบอีกทั้งยืนยันได้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการหางาน หรือการทำงานของคนไทยอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ จะต้องมาพิจารณารายละเอียดในข้อท้วงติงอีกครั้งก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะมีการประชุมในกลางเดือนมิ.ย.นี้ และคาดว่าจะมีความชัดเจนในรายละเอียดว่า จะมีอาชีพใดบ้างที่จะสงวนไว้ให้กับคนไทย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การปลดล็อกอาชีพไม่ใช่การเปิดเสรี แต่เป็นการเปิดแบบมีเงื่อนไขมากำกับ และให้แรงงานเข้ามาเท่าที่จำเป็นกับความต้องการในแต่ละสาขาอาชีพ อีกทั้งจะต้องเข้ามาเป็นลูกจ้างเท่านั้นไม่ใช่เข้ามาเป็นนายจ้างหรือผู้ประกอบการ

"ทุกอย่างจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ไม่กระทบกับงานของคนไทย และไม่กระทบกับความมั่นคง” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า รู้สึกโล่งอกเนื่องจากกรณีที่มีข่าวว่าจะมีการเปิดอาชีพวิศวกรอย่างเสรีนั้น หวั่นว่าจะกระทบต่อวิศวกรชาวไทยกว่าแสนคนที่ทำงานอยู่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขณะนี้คนไทยมีคุณภาพและความสามารถในงานวิศวกร และไม่ได้ขาดแคลนวิศวกรแต่อย่างใด ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเปิดเสรีด้วย แต่ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมสมัยใหม่ เช่น โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการของรัฐ เป็นต้น ก็สามารถนำแรงงานต่างชาติเข้ามาได้ และพร้อมจะสนับสนุนแบบมีเงื่อนไข

“เราเป็นห่วงที่จะเปิดเสรีให้เข้ามาทำงานจึงควรจะมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อควบคุม โดยให้บทบาทสภาวิชาชีพรับรอง พิจารณาแรงงานในอาชีพนั้นๆ ตั้งแต่การคัดกรอง ตรวจสอบกำกับดูแลด้านคุณภาพ ควบคุมการทำงาน ก็เป็นช่องทางที่น่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศ” นายอมร กล่าว

ด้านนายประเสริฐ หวังรัตนปราณี นายกสภาวิชาชีพบัญชี กล่าวว่า อาชีพบัญชีเป็นอาชีพที่มีความละเอียดอ่อน เพราะเป็นการควบคุมเกี่ยวกับงบประมาณ และคนทำบัญชีจะสามารถรู้ต้นทุนและวิเคราะห์เพื่อแข่งขันทางการค้าได้ รวมถึงหากเปิดเสรีให้ต่างด้าวเข้ามาทำงานหวั่นว่าจะเป็นการนำข้อมูลด้านบัญชีของประเทศหรือของกิจการคนไทยไปขายได้ และจะมีผลต่อความั่นคงด้วย อย่างไรก็ตาม ศักยภาพนักบัญชีไทยก็มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล รวมถึงไม่ได้ขาดแคลนแรงงานด้านนี้แต่อย่างใด

“สถาบันการศึกษาได้ผลิตนักบัญชีออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก จึงน่าจะให้โอกาสกับคนไทยในการประกอบอาชีพนักบัญชี” นายประเสริฐ กล่าว

นายจรินทร์ จักกะพากษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อาชีพทั้ง 3 อาชีพที่กังวลก็อยู่ในเงื่อนไขของปฏิญญาซึ่งเป็นหลักสากล แต่ทั้งนี้การเปิดรับแรงงานต่างชาติก็ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะกับเรื่องจำนวนที่ขาดแคลน ซึ่งหากไม่มีความจำเป็นในการใช้แรงงานต่างชาติก็ไม่จำเป็นต้องเปิดรับเข้ามาก็ได้