posttoday

ดร.สามารถ เผยเบื้องหลังตั้งบอร์ด ขสมก.ใหม่ ไร้ชื่อฝ่ายค้านขวางรถเมล์ฉาว

31 พฤษภาคม 2561

อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เผยข้อสังเกตเบื้องหลังการเเต่งตั้งบอร์ด ขสมก.ใหม่ บอกไร้ชื่อฝ่ายค้านขวางรถเมล์ฉาว

อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เผยข้อสังเกตเบื้องหลังการเเต่งตั้งบอร์ด ขสมก.ใหม่ บอกไร้ชื่อฝ่ายค้านขวางรถเมล์ฉาว

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เเสดงความคิดเห็นกรณีการเเต่งตั้ง กรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบอร์ด ขสมก. เนื้อหาระบุว่า

เมื่อวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบอร์ด ขสมก.ที่ยังคงดำรงตำแหน่งพ้นจากตำแหน่ง พร้อมทั้งอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ ขสมก.ชุดใหม่รวม 10 คน โดยมีประธานกรรมการและกรรมการจำนวน 6 คน เป็นคนเดิมที่เคยดำรงตำแหน่งในบอร์ดชุดที่แล้ว

ก่อนหน้านั้น นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก.ชุดที่แล้วได้ลาออกจากตำแหน่งโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ นายณัฐชาติอ้างว่าได้ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยแผนฟื้นฟู ขสมก. และการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน มีความคืบหน้าแล้ว แต่มีกระแสข่าวออกมาว่า เหตุที่นายณัฐชาติลาออกก็เพราะว่ามีปัญหาการทำงานกับบอร์ดบางคน กล่าวคือ มีการกล่าวหาว่าบอร์ดบางคนมักคัดค้านการดำเนินงานของนายณัฐชาติ และนำข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปสู่สาธารณชน อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันภายในว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องการจะให้บอร์ดลาออกทั้งชุด และจะแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นมาโดยมีนายณัฐชาติเป็นประธานเช่นเดิม แต่จะไม่แต่งตั้งบอร์ดที่ถูกมองว่ามีปัญหากลับเข้ามา

หลังจากนายณัฐชาติลาออก ปรากฏว่ามีบอร์ดคนอื่นอีก 5 คน ลาออกตามในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.วราห์ บุญญสิทธิ์ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รศ.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ นายชัยชนะ มิตรพันธ์ และน.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ แต่ก่อนที่นายณัฐชาติจะลาออก ปรากฏว่ามีบอร์ดคนหนึ่งลาออกด้วยปัญหาสุขภาพเมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคม 2560 นั่นคือ รศ.พัชรา พัชราวนิช

ดร.สามารถ เผยเบื้องหลังตั้งบอร์ด ขสมก.ใหม่ ไร้ชื่อฝ่ายค้านขวางรถเมล์ฉาว

ดังนั้น จึงเหลือบอร์ดที่ไม่ลาออกจำนวน 3 คน ประกอบด้วย รศ.คณิต วัฒนวิเชียร พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ และนายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ ผมทราบว่าต่อมาทั้ง 3 คน ได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหาร ขสมก.คนหนึ่งอ้างว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคมสั่งให้ลาออกด้วย ด้วยเหตุนี้ พล.ต.ต.ประสิทธิ์จึงลาออกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ทำให้เหลือบอร์ด 2 คน ที่ไม่ยอมลาออก เพราะไม่เชื่อว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคมจะสั่งการเช่นนั้น และเห็นว่ายังไม่ครบวาระ

เมื่อบอร์ด 2 คน ไม่ยอมลาออก ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าในคำสั่งแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่จึงต้องมีการปลดบอร์ดที่ไม่ยอมลาออกให้พ้นจากตำแหน่งก่อน แล้วจึงแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นมา

เมื่อดูรายชื่อบอร์ดชุดใหม่ พบว่ามีบอร์ดชุดเดิม 4 คน ที่ไม่ได้รับแต่งตั้งเข้ามาใหม่ ประกอบด้วย รศ.คณิต วัฒนวิเชียร พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ นายสมศักดิ์ ประถมศรีเมฆ และ รศ.พัชรา พัชราวนิช ทั้ง 4 คนนี้มีปัญหาอะไรจึงไม่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ เป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมาพร้อมๆ กับการลาออกของนายณัฐชาติหรือไม่ ที่ว่าจะไม่แต่งตั้งคนที่ถูกมองว่ามีปัญหาเข้ามาอีก

จากการตรวจสอบพบว่า บอร์ดทั้ง 4 คนดังกล่าวเป็นผู้ที่ไปให้ถ้อยคำในฐานะพยานตามหมายเรียกของศาลปกครองกลางในคดีจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ทั้งนี้ ศาลได้มีหมายเรียกให้บอร์ดทุกคนไปให้ถ้อยคำ แต่บอร์ดอีก 6 คน ไม่ยอมไป

การให้ถ้อยคำของบอร์ดทั้ง 4 คน ต่อศาลมีสาระสำคัญซึ่งชี้ให้เห็นว่าต้องการปกป้องผลประโยชน์ของ ขสมก. หรือของประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยในการประชุมบอร์ด ขสมก. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล บอร์ดทั้ง 4 คน ได้พยายามสอบถามประเด็นข้อสงสัยต่างๆ นานาจากผู้บริหาร ขสมก. เช่น

(1) ทำไมจึงให้เวลาเตรียมเอกสารการประมูลสั้นมาก ทั้งๆ ที่มีเอกสารมากมาย หากบริษัทใดไม่ได้รับข้อมูลภายในล่วงหน้ามาก่อนก็จะไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทันแน่

(2) ช.ทวี ร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาสูงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท โดยเสนอราคาประมาณ 4,260 ล้านบาท ในขณะที่ ขสมก.กำหนดราคากลางไว้ประมาณ 4,020 ล้านบาท และสูงกว่าราคาที่เคยเสนอไว้เดิมในปี พ.ศ.2558 ถึง 460 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ เวลาผ่านมาเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น ที่สำคัญ ในช่วงเวลาดังกล่าวค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นประมาณ 6% ดังนั้น ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์จะต้องเสนอราคาต่ำกว่าเดิม และ

(3) ที่มาของราคากลางไม่ถูกต้อง เพราะ ขสมก.สอบถามมาจาก ช.ทวี เท่านั้นว่าเคยขายรถรุ่นเดียวกันให้ใครมาบ้าง พบว่า ช.ทวีเคยขายให้บริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง 40 คัน ในราคา 4 ล้านบาทต่อคัน เพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท มารัตน์ฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 4 ของ ช.ทวี ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองกลางจึงได้ระบุไว้ในคำพิพากษาว่า “เป็นธุรกรรมซื้อขายรถยนต์รุ่นนี้ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่ควรใช้เป็นราคาอ้างอิง”

เมื่อบอร์ดทั้ง 4 คน ไม่ได้รับการชี้แจงให้กระจ่างด้วยเหตุและผล ทำให้ในการประชุมบอร์ด ขสมก. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 มีบอร์ด 3 คน ไม่รับรองบันทึกการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ที่อ้างว่าบอร์ดมีมติให้ ขสมก.เซ็นสัญญากับ ช.ทวี ร่วมกับสแกนอินเตอร์ ทั้งนี้ มีบอร์ดอีก 1 คน คือ รศ.พัชรา ได้งดออกเสียง ในขณะที่มีบอร์ดที่รับรองบันทึกการประชุมเพียง 2 คนเท่านั้น จากบอร์ดทั้งหมดที่เข้าประชุมจำนวน 6 คน

ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ให้ทุเลาการบังคับตามมติของบอร์ด ขสมก. ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 และ 20 ธันวาคม 2560 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่าบอร์ด ขสมก.ไม่มีมติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ ดังนั้น สัญญาที่ทำไว้แล้วนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

น่าเสียดายที่กระทรวงคมนาคมไม่แต่งตั้งบอร์ดที่มีความเห็นต่างหรือบอร์ดที่มุ่งหวังจะรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมเข้ามาใหม่ ซึ่งอาจทำให้บอร์ด ขสมก.ชุดใหม่ขาดคนที่คอยทักท้วงหรือชี้แนะเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน การพิจารณาอนุมัติโครงการใดโครงการหนึ่ง ถ้าบอร์ดทุกคนเห็นด้วย ไม่มีใครทักท้วง อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงขึ้นก็ได้

น่าเสียดายที่ รมว.คมนาคม ไม่ตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ และเหตุใดบอร์ดทั้ง 4 คน จึงได้ทักท้วง ซึ่งจะทำให้รู้ว่าบอร์ดทั้ง 4 คน ทักท้วงด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่

ทั้งหมดนี้ ผมไม่อยากให้ รมว.คมนาคมถูกกล่าวหาว่า การล้างบอร์ด ขสมก.ครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อขจัดบอร์ดที่ไม่เห็นด้วยกับความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เท่านั้นเอง

ผมเป็นห่วงท่านครับ

ที่มา ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์