posttoday

กทม.จ่ออุทธรณ์ศาล ให้เจ้าของตลาด-เจ้าของรถขวางหน้าบ้าน ร่วมชดใช้ป้าทุบรถ

30 พฤษภาคม 2561

"กทม."จ่ออุทธรณ์ศาลปมจ่ายค่าสินไหม "ป้าทุบรถ" ชี้ "เจ้าของรถจอดกีดขวางหน้าบ้าน-เจ้าของตลาด 5 แห่ง" ต้องร่วมชดใช้ด้วย

"กทม."จ่ออุทธรณ์ศาลปมจ่ายค่าสินไหม "ป้าทุบรถ" ชี้ "เจ้าของรถจอดกีดขวางหน้าบ้าน-เจ้าของตลาด 5 แห่ง" ต้องร่วมชดใช้ด้วย

เมื่อวันที่ 30พ.ค.ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วย นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกทม. ให้สัมภาษณ์ถึงผลการพิจารณาหลังกทม.จัดตั้งคณะกรรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลกรณีป้าทุบรถ เพื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลทั้งหมด กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ค.

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษากรณีป้าทุบรถเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จ ซึ่งมี รองปลัดกทม.เป็นประธานและกรรมการ รวม 5 ราย สรุปคำพิพากษาและพิจารณาถึงแนวทางว่ากทม.จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ จากนั้นจะต้องหารือรายละเอียดกับอัยการที่ว่าความให้กทม. โดยคณะกรรมการฯ เห็นควรให้กทม.ขอยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งต้องส่งให้อัยการใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าเห็นชอบตามที่กทม.เสนอหรือไม่ หากจะยื่นอุทธรณ์ กทม.มีระยะเวลาหลังศาลพิพากษา 30 วัน หรือภายในวันที่ 15 มิ.ย. ส่วนคำพิพากษาอีกส่วนให้กทม.รื้อถอนตลาดทั้ง 5 แห่งนั้น ภายใน 60 วันนับตั้งแต่มีคำพิพากษา กทม.ได้ดำเนินการติดประกาศให้ยุติการค้าและเจ้าของอาคารรื้อถอนแล้ว หากไม่ดำเนินการตามประกาศกทม.จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

"ส่วนกรณีที่มีผู้ค้าลับลอบตั้งแผงค้าข้างบ้านป้าทุบรถ ประมาณ 20 รายเมื่อไม่นานมานี้ กทม.ได้รีบดำเนินการตามกฎหมายแล้วและผอ.เขตประเวศก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังบริเวณดังกล่าว ไม่ให้ทำการค้าขายอีก รวมถึงได้ชี้แจงให้ผู้ค้าทั้งหมดไปทำการค้าที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ปาร์ก ส่วนนี้มีผู้ค้าแจ้งความประสงค์ 11 รายและอีก 9 รายไม่ประสงค์ย้ายไปทำการค้า อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม"พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

นายวันชัย กล่าวว่า คณะกรรมการฯ พิจารณารายละเอียด 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักการโยธา ซึ่งศาลพิพากษาให้เป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เกี่ยวกับการเพิกถอนใบรองรับหนังสือแจ้งความประสงค์การก่อสร้างอาคารผู้มายื่นประสงค์ขอก่อสร้าง หลังตรวจสอบข้อเท็จจริงพบสำนักการโยธาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว อาทิ การออกใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามกฎหมายจัดสรรที่ดิน ไม่ได้ห้ามประกอบอาคารพาณิชย์บนถนนที่ดินเปล่า เช่นเดียวกับประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 286 (ปว.286) พ.ศ.2530 ไม่ได้ห้ามก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จึงอาศัยอำนาจตามปว.286 ออกใบอนุญาต

2.ส่วนสำนักเขตที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.อาคาร โดยใช้อำนาจมาตรา 40,41,42,43 ระงับการก่อสร้างและออกคำสั่งรื้อถอน พบสำนักงานเขตประเวศได้แจ้งความดำเนินคดีและมีคำพิพากษาศาลจังหวัดพระโขนง ให้ดำเนินการปรับผู้กระทำความผิดแล้ว พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เกี่ยวกับเหตุเดือดร้อนรำคาญของเจ้าของอาคาร พบสำนักสิ่งแวดล้อมได้ออกคำสั่งให้แก้ไขและขณะนั้นได้แก้ไขแล้ว ส่วนที่ไม่แก้ไขได้ร้องไปยังศาลจังพระโขนงและมีคำสั่งให้ปรับผู้ฝ่าฝืนแล้ว และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ.2535 เกี่ยวกับการวางสิ่งของบนทางถนน กทม.ได้ประชุมร่วมกับทหารและตำรวจในการจัดระเบียบ กรณีจอดรถในที่ฝ่าฝืน ทางตำรวจจราจรเป็นผู้ออกคำสั่งได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

3.ค่าเสียหาย โดยต้องพิจารณาว่าผู้กระทำละเมิดคือใคร โดย 1.เจ้าหน้าที่กทม.ได้ดำเนินการตามกฎหมาย จึงไม่อาจรับผิดชอบเกี่ยวกับการความผิดฐานละเมิดได้ 2.เจ้าของรถจอดกีดขวางหน้าบ้านป้าทุบรถอาจเป็นผู้ละเมิด เพราะเป็นผู้จอดรถขวางหน้าบ้าน และ 3.เจ้าของตลาดทั้ง 5 แห่งอาจมีส่วนในการทำผิดละเมิด

ฉะนั้น กทม.จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบค่าสินไหมเพียงผู้เดียว และหากต้องจ่ายจำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนกับเจ้าของรถและเจ้าของตลาดด้วย

4.ค่าเสียหายที่น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ พร้อมพวกรวม 4 รายฟ้องร้องค่าเสียหายกทม.จำนวน 265 ล้านบาท แต่ศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รายละ 368,000 บาท รวม 1.47 ล้านบาท กทม.เห็นว่าค่าเสียหายไม่เป็นไปตามมูลค่าที่กทม.ควรจ่าย ซึ่งศาลได้คิดค่าเสียหายทุกวัน แต่ตลาดที่มีข้อพิพาททำค้าเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ รวมถึงเห็นต่างให้กทม.จ่ายค่าสินไหมเพียงผู้เดียว

“ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายบางส่วนยังคลาดเคลื่อนกับศาล ซึ่งกทม.จะอุทธรณ์บางส่วนในส่วนเรื่องละเมิด การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กทม.และค่าเสียหาย จึงจะส่งบันทึกรายงานข้อเท็จจริงไปยังผู้ว่าฯกทม.และปลัดกทม.เห็นชอบ ก่อนส่งไปยังอัยการพิจารณา หากเห็นชอบกทม.ก็จะขออุทธรณ์คำพิพากษาภายในระยะเวลากำหนด เพราะศาลอาจมีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเรื่องค่าเสียหายและผู้ที่ต้องชดใช้ค่าสินไหม ซึ่งหากกทม.ต้องชดใช้ก็จะต้องไล่เบี้ยกับราชการที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการถูกต้อง จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ"นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามว่าการสอบสวนการทำวินัยทางความผิดของเจ้าหน้าที่จะต้องชะลอการพิจารณาโทษก่อนหรือไม่ เนื่องจากกทม.จะขออุทธรณ์ นายวันชัย กล่าวว่า จะต้องยึดคำพิพากษาของศาล หากคำพิพากษาของศาลตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ปฎิบัติไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงก็ยุติ เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดชอบทางวินัย แต่ถ้าศาลพิพากษาว่าเจ้าหน้าที่กทม.ไม่ผิด การจะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ก็จะทำไม่ได้ ระหว่างนี้จึงชะลอการพิจารณาโทษจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษา