posttoday

พุทธไทย ในยุคประชารัฐวัดสร้างสุข

26 พฤษภาคม 2561

จากรายงานข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ประจําปี 2559 ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

โดย พรเทพ เฮง 

จากรายงานข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ประจําปี 2559 ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพระสงฆ์ทั้งมหานิกายและธรรมยุต จำนวน 298,580 รูป

ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาตามที่มหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรสูงสุดของสถาบันสงฆ์ไทย ได้กำหนดไว้ซึ่งมี 6 ด้าน บวก 1 ดังนี้ 1.ด้านการปกครอง 2.ด้านการศาสนศึกษา 3.ด้านการเผยแผ่ 4.ด้านการสาธารณูปการ 5.ด้านการศึกษาสงเคราะห์ 6.ด้านการสาธารณสงเคราะห์ และสุดท้าย บวก 1 ด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

เมื่อขมวดเป้าหมายการปฏิรูปของคณะสงฆ์แล้วก็จะเห็นว่า มหาเถรสมาคมมีความมุ่งหวังให้ “พระสงฆ์และวัดเป็นแกนนำเป็นศูนย์กลางของชุมชน” ดังในอดีต ระดมความคิดเห็นจากคณะสงฆ์ทั่วประเทศเพื่อนำไปยกร่างยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ระยะ 5 ปี

เรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในวงการคณะสงฆ์ เพราะที่ผ่านมาสถาบันสงฆ์ไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาเป็นของตัวเองเลย ทุกอย่างอาศัยฆราวาส รัฐบาลดำเนินการให้หมด ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในห้วงใช้แผนพัฒนาประเทศไทยฉบับที่ 12 แต่คณะสงฆ์เพิ่งเริ่มจะต้นจะร่างแผน

เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะเห็นว่า ในอดีตคณะสงฆ์ทำอะไรมักไม่มีแบบแผนหรือเป้าหมาย ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ หากคณะสงฆ์มีแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นก็จะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ “คณะสงฆ์ ไทยก็อาจจะทันสมัยยิ่งขึ้น ไม่กลายเป็นกลุ่มคนที่ล้าหลังในสังคม”

เมื่อมาถึงประเทศไทย 4.0 พระพุทธศาสนาจะเดินหน้าไปสู่ 4.0 อย่างไร? โดยเฉพาะวัดและพระสงฆ์

ประสิทธิภาพประสิทธิผลมหาเถรสมาคม

พุทธไทย ในยุคประชารัฐวัดสร้างสุข

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ปี 2556 ที่ชื่อว่า “การบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคม” หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ของพระมหานงค์ อับไพ ที่ศึกษาวิจัยแบบผสม ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ พระสงฆ์ในสังกัดของมหาเถรสมาคมในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 รูป ทำการเลือกตัวอย่างโดยการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญหรือการสุ่มตัวอย่างตามความสะดวก (Convenience Sampling) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุ ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างข้อสรุปรวมทั้งวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า ด้านกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุ 25-34 ปี พรรษาไม่เกิน 5 การศึกษาอยู่ ในระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่ไม่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ด้านระดับการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคมโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง และประเด็นย่อยทุกประเด็น ได้แก่ การอุปถัมภ์บุคลากรผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนางานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ การส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม การส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาบุคลากรด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การส่งเสริมให้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน เป็นศูนย์การเรียนรู้หลักพุทธธรรมและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การส่งเสริมพัฒนารูปแบบและนวัตกรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทุกมิติ การจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพองค์กรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อยู่ในระดับปานกลางทั้งหมด

ผลการวิจัยความสัมพันธ์ของปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคม พบว่า ปัจจัยการบริหารทุกปัจจัยมีความสัมพันธ์กับการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคมอย่างมี
นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

ด้านปัญหาและอุปสรรคการบริหารของมหาเถรสมาคม พบว่า มหาเถรสมาคมมีการบริหารตามระบบโครงสร้างการปกครองทางคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นการบริหารในแนวดิ่งทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง เกิดระบบอุปถัมภ์ ระบบสมณศักดิ์เป็นปัญหาต่อการบริหาร งานคณะสงฆ์ส่วนใหญ่เน้นงานด้านการปกครองและการศึกษา

ส่วนการเผยแผ่เป็นประเด็นรองทำให้ขาดงบประมาณและสื่อการเผยแผ่ จนพระสงฆ์ที่ทำงานด้านการเผยแผ่มีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนพระสงฆ์และชาวพุทธทั้งประเทศ พระสงฆ์ขาดความเข้าใจในโลกสมัย ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้

ข้อเสนอแนะพบว่า กรรมการมหาเถรสมาคมควรเกษียณอายุเมื่อครบ 70 ปี ไม่ควรบริหารในแนวดิ่ง ควรสร้างระบบเครือข่ายองค์กรด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาให้มากขึ้น ควรปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องทันสมัยกับการบริหารสมัยใหม่ เน้นให้พระสงฆ์ทำงานด้านการเผยแผ่ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการดำรงมั่นของพุทธศาสนา

ยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เริ่มที่‘สมาร์ทการ์ดพระ’

พุทธไทย ในยุคประชารัฐวัดสร้างสุข

มหาเถรสมาคม (มส.) ได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.) เสนอแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาระยะ ปี 2560-2564 ให้บรรลุวัตถุประสงค์

มีโครงการเชิงยุทธศาสตร์ จำนวน 14 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่สังคม 2.โครงการยกระดับหมู่บ้านรักษาศีล 5 3.โครงการวิปัสสนากรรมฐานเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ 4.โครงการยกระดับการศึกษาพระปริยัติธรรม 5.โครงการส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย 6.โครงการพัฒนาระบบบริหารตามหลักธรรมาภิบาล 7.โครงการนวัตกรรมเชิงพุทธ 8.โครงการยกระดับขีดความสามารถศาสนบุคคล 9.โครงการศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา 10.โครงการบริหารศาสนสมบัติระบบการเงิน-บัญชี 11.โครงการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคม 12.โครงการพระพุทธศาสนา 4.0 ฐานข้อมูลศาสนบุคคล (Smart Card) 13.โครงการวัดสร้างสุขด้วยกิจกรรม 5 ส และ 14.โครงการพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

แผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 จำนวน 1,582,740,000 บาท โดยแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนานี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างฝ่ายศาสนจักรโดย มส.กับฝ่ายอาณาจักรโดยรัฐบาล เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ในการยึดมั่นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นเข็มทิศสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะสถาบันศาสนาถือเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของชาติที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทยให้เกิดความรัก สามัคคี และสร้างความมั่นคงทางศีลธรรม

สำหรับแผนปฏิรูป 5 ปี และ 20 ปี โดยกำหนดเป็นแผนฉบับที่ 1 ของคณะสงฆ์ ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี คือ 2560-2564 กำหนดยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัด แผนงาน โครงการ กิจกรรม งบประมาณ ให้เป็นระบบสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ซึ่งตั้งยุทธศาสตร์ไว้ที่ 3 คำ คือ มั่นคง/มั่งคั่ง/ยั่งยืน

คณะสงฆ์ได้ถอดหลักการยุทธศาสตร์ของชาติมาประยุกต์เป็นยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา คือ พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน โดยตกผลึกออกมาเป็น กลยุทธ์ ตัวชี้วัด แผนงาน โครงการ กิจกรรม ตลอดถึงผู้รับผิดชอบและงบประมาณ

คณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ระดับภาค ระดับจังหวัด เร่งจัดทำโครงการย่อย/กิจกรรมใต้ร่มเงาโครงการใหญ่ 12 โครงการของมหาเถรสมาคม พร้อมทั้งงบประมาณส่งมายังคณะกรรมการทั้ง 6 ด้าน และคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของมหาเถรสมาคม (คปพ.) เพื่อพิจารณากลั่นกรอง สังเคราะห์ เสนอให้มหาเถรสมาคมอนุมัติ และเสนอรัฐบาลต่อไป

ใน 12 โครงการใหญ่ ก็มีโครงการที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วน (Flag Ship) เช่น โครงการพระพุทธศาสนา 4.0 ฐานข้อมูลศาสนบุคคล (Smart Buddhism) โครงการการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม (พ.ร.บ.พระปริยัติธรรม) ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการยกระดับการศึกษาพระปริยัติธรรม

นอกจากนั้น ก็มีโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่สังคม โครงการยกระดับหมู่บ้านรักษาศีล 5 โครงการพุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก โครงการส่งเสริมความร่วมมือภาคีเครือข่าย โครงการพัฒนาระบบบริหารตามหลักธรรมาภิบาล โครงการส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพุทธ โครงการยกระดับขีดความสามารถศาสนบุคคล โครงการศูนย์รวมองค์ความรู้พระพุทธศาสนา โครงการบริหารศาสนสมบัติ และโครงการสาธารณสงเคราะห์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

ทั้ง 12 โครงการนี้ เป็นโครงการหลัก (Mega Projects) ซึ่งระดับจังหวัดสามารถปรับปรุงโครงการ/กิจกรรมที่ทำมาแต่เดิม และคิดค้นโครงการหรือกิจกรรมใหม่อะไรก็ได้ ที่บูรณาการเข้ากับโครงการทั้ง 12 โครงการใหญ่ของมหาเถรสมาคมนี้ เพื่อทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาในภาพรวม

ยุทธศาสตร์พระพุทธศาสนา 4.0 เพื่อสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีพระราชวรเมธี ประธานคณะกรรมการประสานแผนงานยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา จากการประชุมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา กล่าวว่า คณะกรรมการได้ติดตามแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ โดยเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนและประสานระดับจังหวัดโดยเฉพาะฝ่ายปกครองที่ต้องเร่งจัดโครงการพระพุทธศาสนา 4.0 ฐานข้อมูลศาสนบุคคล หรือสมาร์ทการ์ดพระให้แล้วเสร็จภายในปี 2561

ส่วนการทำงานภาคการปกครองคณะสงฆ์ในไตรมาส 2 เดือน ต.ค. 2560-มี.ค. 2561 เน้นการจัดทำฐานข้อมูลศาสนบุคคล หรือข้อมูลของพระสงฆ์ ตั้งแต่ระดับพระสังฆาธิการขึ้นไป ทั้งมหานิกายและธรรมยุต ตั้งเป้าหมายให้ได้ร้อยละ 80 เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้เป็นระบบต่อการทำบัตรประจำตัวพระภิกษุ หรือสมาร์ทการ์ดพระ ที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปต่อยอดทำแผนเพื่อการพัฒนาตรวจสอบข้อมูลศาสนบุคคลป้องกันกรณีการปลอมบวช การมีคดีความ โดยวัดที่มีความพร้อมจะกรอกข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ ส่วนวัดไม่พร้อมด้านเครื่องมือจะให้กรอกแบบฟอร์ม รายละเอียดฐานข้อมูลเพื่อส่งให้เจ้าคณะปกครองรวบรวมส่งมาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่เป็นข้อมูลพื้นฐาน ประวัติการบรรพชาอุปสมบท การศึกษา การจำพรรษา ตำแหน่งทางการปกครองที่ได้รับ ลำดับสมณศักดิ์ที่ได้รับ ประวัติการอบรม ความสามารถพิเศษและผลงานสำคัญ

การดำเนินงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมถ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย ด้วยการให้ทำบัตรประจำตัวพระรูปแบบใหม่ หรือ “บัตรสมาร์ทการ์ดพระสงฆ์” แทนใบสุทธิที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถบันทึกข้อมูลประวัติของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบพระสงฆ์ที่อาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมามีข่าวในทำนองนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนังสือสุทธิก็ถูกปลอมแปลงได้ง่าย

แนวทางหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมนำมาใช้คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สำหรับการจัดทำข้อมูลและเก็บประวัติพระสงฆ์ด้วยการทำบัตรดังกล่าว ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นหน้าตาจะคล้ายๆ กับบัตรประจำตัวประชาชนที่ฆราวาสใช้กันอยู่ทั่วไป และจะมี IC Chip หรือหน่วยความจำที่บันทึกข้อมูลสำคัญของพระสงฆ์แต่ละรูป บัตรสมาร์ทการ์ดพระจะบันทึกข้อมูลสำคัญๆ ของพระสงฆ์แต่ละรูปคือ

- ประวัติส่วนตัว (สถานะเดิม)

- เริ่มบวชเมื่อใด (วันที่อุปสมบท)

- วัดที่จำพรรษา

- ข้อมูลการสอบเปรียญธรรม

- การเลื่อนสมณศักดิ์

- ประวัติอาชญากรรม

- เคยสึก หรือกลับมาบวชอีกหรือไม่

ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถตรวจสอบประวัติพระรูปนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากใบสุทธิที่ใช้ปัจจุบันนี้เป็นบัตรกระดาษ ไม่สามารถบันทึกข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน โดยเบื้องต้นจะนำมาใช้กับพระชั้นผู้ใหญ่และพระที่บวชมากกว่า 1 ปี

ภิกษุมอง 4.0

พุทธไทย ในยุคประชารัฐวัดสร้างสุข

พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) หรือนามปากกา ปิยโสภณ ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก และรักษาการเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (ธรรมยุต) ทั้งยังเป็นพระนักวิชาการ นักเขียน และนักบรรยายธรรม เป็นพระนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีผลงานสำคัญคือการหาทุนปั้นศาสนทายาท เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานที่สำคัญที่สนับสนุนการก่อตั้งศูนย์พุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้ขยายภาพให้เห็นแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาและวัด 4.0 ว่า

“พระพุทธศาสนาในเรื่องของนามธรรมในยุค 4.0 เป็นเรื่องนวัตกรรม ซึ่งเกือบจะเป็นเรื่องนามธรรมแล้วล่ะ การนำมาใช้ในการจัดระบบต่างๆ ในชีวิตของมนุษย์ พระพุทธศาสนาที่บอกว่าเป็นเรื่องของนามธรรมก็เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของนามธรรมที่ละเอียดยิ่งกว่านวัตกรรมใดๆ”

ฉะนั้นเมื่อพูดถึงพระพุทธศาสนาในโลกยุค 4.0 พระราชญาณกวี ชี้ว่าจะมีการพูดถึงเรื่องรูปธรรมมากกว่า เป็นเรื่องการที่จะเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ให้เป็นระบบ

“อาตมภาพได้ไปประชุมร่วมกับรัฐบาล โครงการ ‘ประชารัฐวัดสร้างสุข’ เขาก็อยากให้ใช้พระพุทธศาสนา 4.0 เข้ามาจัดการวัด โดยจะให้วัดมีการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ให้เป็นระบบ เช่น ผังวัดเป็นอย่างไร ข้อมูลของคนในวัด ระบบการบริหารจัดการการเงิน ทรัพย์สินอย่างที่ดิน พยายามให้วัดมีระบบการบริหารจัดการที่ดี

อาตมภาพยกตัวอย่าง เช่น การเงินก่อน มองเห็นว่าควรมีการบริหารจัดการให้มีความรวดเร็ว ก็จะมีการติดต่อไปที่ธนาคารกับกรมสรรพากร ให้เอาหมายเลขบัญชีมาให้กับวัด อาจมีหลายบัญชีและลิงค์เชื่อมต่อโดยตรงกับกรมสรรพากร ไม่ว่าจะเปิดบัญชีกับธนาคารไหนเมื่อมีคนบริจาคไม่ว่าจะ 10 บาท หรือ 1 ล้านบาท ให้วัด ก.ผ่านธนาคารกรุงไทย คนบริจาค กรมสรรพากร และวัดจะรู้ได้ทันที ธนาคารจะเป็นผู้ออกใบรับเงินแทนวัด

นี่พูดถึงนวัตกรรมทางการเงินของวัดจะมีความโปร่งใส พระก็สบายใจ กรมสรรพากรก็ตรวจสอบได้ทันที ซึ่งไม่มีการฟอกเงิน อย่างวัดนั้นวัดนี้วัดโน้นที่มีเงินกันมากมายก่ายกอง จากที่มีการสงสัยกันว่าบางวัดมีการฟอกเงินก็จะได้หายสงสัยกันว่าเงินเข้ามาอย่างไรออกไปอย่างไร ถ้ามีระบบตรงนี้ชัดเจน”

โครงการวัดสร้างสุข เพื่อพัฒนารูปแบบและแนวคิดของ 5 ส ซึ่งประกอบไปด้วย “สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย” ลงสู่บริบทของวัด เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่แบบอย่าง ทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ อันเป็นการขยายผลแนวคิดของ 5 ส สู่ประชาชนทั่วไปโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอด เพื่อให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม ทำให้เกิดสังคมสุขภาวะ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการจัดการเพื่อนำไปสู่สังคมที่มีความสุข พระราชญาณกวี อรรถาธิบายต่อให้เห็นภาพถึงระบบการบริหารจัดการพัสดุภัณฑ์ภายในวัด ถ้าจะเปลี่ยนเป็นวัด 4.0

“เพราะวัดรกมากมีการก่อสร้างต่อเติมหรือทุบทิ้งอยู่ตลอดเวลา กุฏิ วิหาร เดี๋ยวต่อเติมกันไม่สิ้นสุด ทำให้มองไม่รู้ว่าจะเอาอะไรวางไว้ตรงไหน ผังวัดจะต้องเกิดขึ้น เพราะจะได้มีพื้นที่สวยๆ ตรงนี้คนโบราณเขาทำไว้ดี ตรงนี้เขตพุทธาวาส ด้านนี้เขตสังฆาวาส เขตชุมชน เขตโรงเรียน การศึกษา แต่คนปัจจุบันไม่ได้เอามาใช้ เลยมีการสร้างวัดวาอารามอย่างสะเปะสะปะไม่ค่อยจะสวยงาม

ในวัดไม่มีที่ทำงานของพระ ก็ต้องใช้กุฏิเป็นที่ทำงานไปด้วยในตัว ฉันเสร็จปั๊บก็ทำงานในกุฏิ ญาติโยมที่มาหาก็บุกเข้ามาถึงเขตสังฆาวาส ล้ำเขตเข้าไป เพราะไม่มีที่ทำงานของพระชัดเจน ต่อไปนี้ก็จะจัดเป็นเขตสาธารณะรับแขกผู้หญิงผู้ชาย เป็นสัดส่วนชัดเจน

ส่วนเขตพุทธาวาสสังฆาวาสสร้างมั่วไม่ได้ ตรงไหนมั่วจะทำการรื้อออกได้เลย จะมีการจัดการในอนาคต อย่างสายไฟในวัดก็จะเอาลงดินให้หมดเพื่อภูมิทัศน์ที่สวยงาม

กระบวนการเก็บของเครื่องใช้ในวัดอาสนะ เครื่องสังฆทาน ค้อนตีตะปู เครื่องซ่อมไฟฟ้า อุปกรณ์งานสวน เก็บไว้ตรงไหน จะมีการเก็บและลงบัญชีไว้อย่างละเอียด”

คำว่า ประชารัฐวัดสร้างสุข พระราชญาณกวี บอกว่ารัฐบาลจะให้พระไปขอความร่วมมือจากองค์กรหรือบริษัทห้างร้านที่อยู่ข้างวัดนั้นๆ เช่น โรงงานที่เขามีการจัดระบบเครื่องใช้ไม้สอยเครื่องไม้เครื่องมือดีแล้วเข้ามาช่วย มาจัดระบบระเบียบเป็นตัวอย่างไว้ให้ ชัดเจนสะดวกใช้สะดวกค้นหาสะดวกเก็บ

พุทธไทย ในยุคประชารัฐวัดสร้างสุข

“เพราะฉะนั้น ระบบวัด 4.0 คือการบริหารจัดการที่จะเข้ามาช่วยจัดระบบและสร้างความสะดวกสบายรวดเร็ว นำมาสู่ความสะอาดสงบโปร่งใส แล้วก็ไว้ใจได้ ซึ่งคือรูปธรรม”

ส่วนพระสงฆ์ 4.0 ซึ่งเป็นนามธรรม พระราชญาณกวี มองถึงการปฏิรูปตรงนี้ว่า ต้องไว้ 4 ประการคือ 1.บริหารศรัทธา 2.บริหารปัญหา 3.บริหารปัญญา 4.บริหารอารมณ์

“อาตมภาพเชื่อมั่นว่า เมื่อ 2,500 กว่าปีที่แล้ว พระพุทธเจ้าสามารถเข้าถึง 4.0 แล้ว มิฉะนั้นกิเลสไม่หมดหรอก เพราะพระพุทธองค์ใช้หลักบริหารศรัทธา ระบบศาสนามีเสื่อม มีขึ้นมีลงเป็นของธรรมดา แต่สิ่งที่มีคุณค่าอาตมาภาพจะยกตัวอย่าง เช่น อริยสัจ 4 เป็นอย่างไร? ตรงนี้เป็นการบริหารปัญหาแล้ว จริยวัตรต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสาวกภาระหน้าที่และกิริยามารยาท ตรงนี้เป็นการบริหารศรัทธา

สำหรับการบริหารปัญญา ก็ช่วยให้คนรู้จักเรียนรู้เรื่องสติ ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุดท้ายบริหารอารมณ์เป็นหลักของการของมายด์ฟูลเนส (Mindfulness) หรือสมาธิ ซึ่งโลกทั้งโลกตอนนี้สุดโต่งในด้านวัตถุ แต่หาความสุขไม่ได้

เพราะอารมณ์ถูกบี้ด้วยรักโลภโกรธหลง อิจฉาพยาบาทอยู่ตลอดเวลาหาความว่างจากอารมณ์ไม่ได้ แต่พอมาทำสมาธิมาใช้อานาปานสติมากำหนดลมหายใจตัวเองมาพักผ่อนหย่อนใจ ก็ได้ฟอร์แมตและดีลีตอารมณ์ผ่านกระบวนการทำสมาธิ ซึ่งพระพุทธเจ้าทำมานานแล้ว ทำให้คนมีความสุข สงบ และร่มเย็น มองเห็นคนอื่นเป็นมิตรเป็นญาติมันก็ไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่ประทุษร้ายไม่ลักขโมยกัน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อยู่ในขณะนี้ โลกตะวันตกสนใจพระพุทธศาสนาก็ตรงนี้ ตรงที่การบริหารอารมณ์”

สุดท้าย พระราชญาณกวี หากคิดว่า 4.0 ฝ่ายรูปธรรมคือ วัด และฝ่ายนามธรรมคือ คำสอนของพระสงฆ์

“ก็คิดว่าจะสามารถช่วยให้คนเข้าถึงพระพุทธศาสนา และผู้ที่จะบริหารจัดการวัดวาอาราม บริหารทรัพย์สินเงินทองสมบัติที่เกิดขึ้นในพระบวรพุทธศาสนาก็จะเข้าใจตรงกัน ไว้ใจกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ใช่เอาแต่จับผิด อาตมภาพก็คิดเช่นนี้”