posttoday

น้ำมันขยับภาคขนส่งกระทบหนัก ขอปรับค่าบรรทุกสินค้า-ค่าโดยสาร

26 พฤษภาคม 2561

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับราคาสูงขึ้นเป็น ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบกว้างขวาง โดยเฉพาะภาคขนส่ง

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

น้ำมันเชื้อเพลิงปรับราคาสูงขึ้นเป็น ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบกว้างขวาง โดยเฉพาะภาคขนส่ง ซึ่งล่าสุดทั้งผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้า ก็ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นค่าขนส่งต่อกระทรวงคมนาคม เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรถโดยสารก็ขอปรับค่าโดยสารเช่นกัน

รวมทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็กำลังศึกษาการปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสารรถไฟซึ่งไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2538 คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด รฟท.ได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อที่จะให้สามารถปรับค่าโดยสารได้ภายในปลายปี 2561

สถานการณ์ราคาน้ำมัน กำลังส่งผลกระทบอย่างน่าจับตา

ฐากูร ฉั่ววิเชียร นายกสมาคม ส่งเสริมธุรกิจการขนส่งจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ในรอบเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา น้ำมันเชื้อเพลิงได้ปรับราคาขยับขึ้นมาประมาณ 5 รอบ ได้ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งมีต้นทุนการผลิตขยับสูงขึ้นประมาณ 15% และมีที่ท่าว่จะมีการปรับราคาสูงขึ้นอีก

"น้ำมันเป็นหลักของธุรกิจการขนส่ง จึงมีแนวโน้มที่จะต้องปรับราคาอย่างเลี่ยงไม่พ้นหากราคาน้ำมันยังคงสภาพนี้ โดยถ้าจะปรับราคาขึ้น ก็จะต้องได้ 20% จึงจะคุ้มต่อการประกอบการ"

ขณะที่ พีระพล บุญชิณวงศ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน ก็ออกมายื่นคำขาดว่า หากภายในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ กระทรวงคมนาคมยังไม่มีคำตอบเรื่องการขอปรับขึ้นค่าขนส่งสินค้า สมาคมก็อาจต้องดำเนินมาตรการกดดันต่อไป

"ผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้าจำเป็นที่จะต้องขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้าเพิ่ม 5% ก่อนในเบื้องต้น แต่ยืนยันว่าความเป็นจริงเราต้องปรับ 10% ถึงจะอยู่รอด"

พีระพล กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก เพราะต้นทุนสูงน้ำมันขึ้นราคา ทุกอย่างต้องปรับขึ้นราคาตามเป็นลูกโซ่ ได้หารือกับสมาคมสหพันธ์ขนส่งสินค้าแห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกทั้งประเทศกว่า 1 แสนคัน เห็นพ้องตรงกันว่าขอปรับราคาขึ้น 5% แม้ว่าจะไม่เพียงพอก็ตาม ซึ่งข้อเท็จจริงปัจจุบันต้องปรับไปถึง 10% แต่เห็นว่าถ้าขึ้นครั้งเดียว 10% จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากกว่านี้

"มาตรการที่เราขอไปถ้าภาครัฐ ไม่ดูแล วิ่งรถแล้วขาดทุนเราก็จำเป็นจะต้องหยุดบริการวิ่งรถบรรทุกและหยุดบริการรับส่งสินค้าทุกประเภท เพราะถ้ายังขืนวิ่งต่อไปก็จะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อย่างน้ำมันขึ้นราคาสินค้าอย่างอื่นเกี่ยวกับน้ำมันทุกประเภทจำพวกน้ำมันเหลว หรือน้ำมันหล่อลื่นทุกชนิด เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันเบรก จาระบีอัดลูกหมาก น้ำมันไฮดรอลิก น้ำมันก๊าซ แม้แต่น้ำมันพืช ยางรถยนต์ เป็นต้น ก็ต้องขึ้นราคา ซึ่งทุกอย่างเป็นต้นทุนหมด"

ด้าน ชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์กรรมการผู้จัดการบริษัท นครชัย 21  และรองกรรมการผู้จัดการบริษัท นครชัยทัวร์ ผู้ประกอบการรถโดยสารรายใหญ่ใน จ.นครราชสีมา ก็บอกว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการรถโดยสารหลายบริษัทเริ่มทำหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอลดเที่ยววิ่งลงแล้ว ส่วนทางบริษัท นครชัยฯ ก็เช่นกันได้ทำหนังสือยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอลดเที่ยววิ่งลงถึง 30% ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อน และคาดว่าจะมีผลนำมาใช้เร็วๆ นี้

"เรามีรถโดยสารวิ่งให้บริการ อยู่จำนวน 130 คัน โดยมีทั้งที่วิ่งระหว่างจังหวัด และวิ่งระหว่าง กทม.นครราชสีมา ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5 แสนลิตร ปัจจุบันจัดเก็บค่าโดยสารตามโครงสร้างราคาน้ำมันตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2559 ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 19.69 บาท หลังจากนั้นเป็นต้นมาถึงปัจจุบันนี้ ผ่านมากว่า 2 ปี ราคาน้ำมันได้พุ่งทะลุ 30 บาทแล้ว แต่ยังไม่เคยได้ปรับขึ้น ค่าโดยสารแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่ค่าน้ำมัน ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าครองชีพก็เพิ่มสูงขึ้นมากแล้ว"

ขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันภายในประเทศปรับสูงขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการลักลอบขนน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศมาเลเซียซึ่งมีราคาต่ำกว่าในประเทศไทยเข้ามาจำหน่าย ซึ่งล่าสุด สำนักงานสรรพสามิตภาค 9 จ.สงขลา ก็ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปราบปรามสรรพสามิตภาคที่ 9 และสายตรวจสำนักงานสรรพสามิตภาค 9 ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการปราบปรามน้ำมันเถื่อนตามแนวชายแดนไทย มาเลเซีย ซึ่งยังคงมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในช่วงที่น้ำมันไทยมีราคาแพง

โดยมาตรการของสรรพสามิตภาค 9 คือการนำรถโมบายออกตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน เพื่อป้องกันการนำน้ำมันเถื่อนจากประเทศมาเลเซียมาวางขาย โดยออกตระเวนตรวจสอบในหลายพื้นที่ของ จ.สงขลา โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ชายแดน เช่น อ.หาดใหญ่ คลองหอยโข่ง และสะเดา โดยตรวจตามร้านค้าที่แบ่งขายเป็นขวดและเป็นแกลลอน รวมทั้งที่เปิดขายเป็นปั้มหลอดแก้วริมถนน

แม้รัฐบาลจะตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อธุรกิจขนส่งเอาไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท แต่หลายฝ่ายคาดการณ์สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกว่าน่าจะพุ่งสูงไปมากกว่านี้ ดังนั้น คงต้องจับตาต่อไปว่าจะมีการปรับขึ้นราคาค่าขนส่งสินค้า หรือค่าโดยสารรถประจำทางตามที่ผู้ประกอบการเรียกร้องหรือไม่