posttoday

ดีเอสไอลุยสอบคดีอดีตผู้บริหารไออีซี-พวกร่วมกันเบียดบังทรัพย์200ล้าน

23 พฤษภาคม 2561

ดีเอสไอยุติสืบสวน IFEC จัดซื้อตึกย่านพระราม 9 ระบุ ก.ล.ต.รับรองทำได้ขณะที่ประเด็นอื่นรอสอบสวนอยู่ พร้อมเปิดคดีไออีซีหลังพบเสียหาย 200ล้านบาท มอบส่วนคดีการเงิน 3 รับผิดชอบ แยกสอบ 4-5 กลุ่ม

ดีเอสไอยุติสืบสวน IFEC จัดซื้อตึกย่านพระราม 9 ระบุ ก.ล.ต.รับรองทำได้ขณะที่ประเด็นอื่นรอสอบสวนอยู่ พร้อมเปิดคดีไออีซีหลังพบเสียหาย 200ล้านบาท มอบส่วนคดีการเงิน 3 รับผิดชอบ แยกสอบ 4-5 กลุ่ม

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีที่ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFECขอให้ดีเอสไอรับสืบสวนคดีการทุจริตภายในบริษัท IFEC ว่าหลังจากมีผู้ร้องขอให้ดีเอสไอตรวจสอบทุจริตการบริหารงานของบริษัทกองบริหารคดีพิเศษได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นและส่งเรื่องให้กองคดีการเงินการธนาคาร และกองคดีภาษีอากรร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่าในบางประเด็นมีการฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วบางเรื่องไม่เป็นความผิดตามกฎหมายคดีพิเศษและบางประเด็นเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ

ขณะที่พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดีการเงินการธนาคาร กล่าวว่าประเด็นการซื้ออาคารย่านพระราม 9ที่ร้องเรียนว่าซื้อในราคาสูงเกินจริงนั้นได้ตรวจสอบเปรียบเทียบระหว่างราคาประเมินของบริษัทกับกรมที่ดินพบว่าเป็นการจัดซื้อในราคาที่ต่ำกว่าการประเมินของบริษัทแต่สูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)รับรองว่าสามารถทำได้ ในประเด็นดังกล่าวจึงสั่งให้ยุติการสืบสวนส่วนความผิดที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในประเด็นอื่นๆยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

พ.ต.ท.ปกรณ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าคดีอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัทอินเตอร์แนชั่นแนลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (ไออีซี) กับพวกรวม 25 รายร่วมกันเบียดบังทรัพย์สินและแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายว่า คดีดังกล่าวก.ล.ต.เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษขอให้ดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษซึ่งขณะนี้ได้เปิดคดีเริ่มต้นการสอบสวนอย่างเป็นทางการไปแล้วโดยวางแนวทางการสอบสวนให้ส่วนคดีการเงินการธนาคาร 3 เป็นผู้รับผิดชอบและแยกการสอบสวนออกเป็น 4-5 กลุ่มคดี ซึ่งทุกคดีมีผู้ต้องหาหลักเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่ทำผิดในหลายประเด็นคาดว่าประเด็นที่จะสรุปสำนวนสอบสวนได้เร็วที่สุดคือการสั่งซื้อสินค้าเท็จและการลงบัญชีอันเป็นเท็จ เช่นการนำเงินบริษัทออกไปเพื่อซื้อสินค้าแต่เช็คสต๊อคแล้วไม่มีสินค้าเก็บรักษาไว้ในบริษัทซึ่งความผิดดังกล่าวค่อนข้างมีหลักฐานชัดเจนหลังจากสรุปสำนวนแล้วจะขยับไปสอบสวนในความผิดประเด็นอื่นๆต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

สำหรับคดีเบียดบังทรัพย์สินของบริษัทไออีซี สืบเนื่องจาก ก.ล.ต.ได้ตรวจสอบพบพยานหลักฐาน ในช่วงก.ย.57 –  ส.ค.59 มีบุคคล 25 รายร่วมกันดำเนินการ หรือมีส่วนรู้เห็นยินยอมหรือให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทไออีซี กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายทำให้ไออีซีเสียหาย นอกจากนี้ยังได้จัดทำหรือยินยอมให้มีการจัดทำบัญชีของไออีซีไม่ถูกต้องไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงบุคคลใดๆเกี่ยวกับการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทย่อย การเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างและการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักร โดย ก.ล.ต.ได้ดำเนินการกล่าวโทษกลุ่มบุคคลทั้ง 25 รายดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 9 ประเด็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นรวมมากกว่า 200 ล้านบาทเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535