posttoday

ป.ป.ส.แจง "กัญชา" ยังมีสถานะเป็นยาเสพติด ปลูกทั่วไปผิดกฎหมาย

17 พฤษภาคม 2561

ป.ป.ส.แจง ครม.ไฟเขียวใช้ประโยชน์กัญชาการแพทย์-รักษาโรคในคนได้ แต่สถานะพืชยังเป็นยาเสพติดประเภท5 ปลูกทั่วไปผิดกฎหม

ป.ป.ส.แจง ครม.ไฟเขียวใช้ประโยชน์กัญชาการแพทย์-รักษาโรคในคนได้ แต่สถานะพืชยังเป็นยาเสพติดประเภท5 ปลูกทั่วไปผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กล่าวว่าปัจจุบันพืชกัญชายังเป็นยาเสพติดประเภท 5 เช่นเดียวกับ กระท่อม ฝิ่นและเห็ดขี้ควาย ตามพ.ร.บ.ยาเสพติด 2522 แต่หลังจากครม.มีมติเห็นชอบในหลักการให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพืชสารเสพติดเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมาโดยมีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ในการทดลองวิจัยรักษาโรคในคนได้แต่มีมาตรการในการควบคุมการปลูกตามขั้นตอน ซึ่งต้องยอมรับว่าการนำกัญชามาใช้จะเป็นประโยชน์ต่องานวิจัยทางการแพทย์

นอกจากนี้กฎกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุว่ารัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขจะเป็นผู้อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐ ปลูกหรือผลิตกัญชาเพื่อใช้ในการทดลองและวิจัยได้ เช่นเดียวกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยมหิดลที่ขออนุญาตปลูกและเสนอโครงการทดลองเพื่อใช้ในการทำสเปรย์รักษาโรคมะเร็งและบรรเทาอาการปวด

นายศิรินทร์ยา กล่าวอีกว่าป.ป.ส.สนับสนุนการใช้พืชกัญชารักษาโรคและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ยังไม่อนุญาตให้ใช้เสรีหรือการเสพเพื่อความบันเทิงเพราะเกรงจะเกิดปัญหาและส่งผลกระทบกับเยาวชนในระยะยาวดังนั้นกัญชายังถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 มีโทษเหมือนเดิม การเสพกัญชาจะใช้เพื่อประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการรักษาโรคไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มติครม.ฉบับดังกล่าวให้รมว.สาธารณสุขและคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นผู้ควบคุมการผลิต นำเข้า หรือส่งออก รวมทั้งครอบครองเพื่อศึกษาวิจัย

ส่วนป.ป.ส. มีอำนาจในการกำหนดเขตพื้นที่ทดลองปลูก ผลิตและทดสอบสารเสพติดที่อยู่ในกัญชา โดยต้องมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด

“กัญชงยังเป็นยาเสพติดประเภท 5 เหมือนกัญชา แต่ในปี2560ได้มีการอนุญาตให้ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ โดยรัฐเป็นผู้ควบคุมอนุญาตให้โครงการหลวงและโรงงานยาสูบปลูกในแปลงทดลอง เพื่อนำไปทำวิจัยส่วนกัญชาอีก 3 ปี อาจจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้บุคคลทั่วไปปลูกโดยรัฐควบคุมพื้นที่ปลูกได้หรือไม่เพื่อสนับสนุนหรือทำลองทางการแพทย์เท่านั้น” นายศิรินทร์ยา กล่าว

ขณะที่นายวิโรจน์ สุ่มใหญ่ประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ(INCB) กล่าวว่าการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทางยูเอ็นฯไม่ได้ห้าม แต่มีข้อระบุไว้ในสนธิสัญญาว่าด้วยวัตถุมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาทว่าเป็นพืชทีมี 2 สถานะคือ มีประโยชน์ทางการแพทย์นำไปใช้เป็นยารักษาโรคและมีฤทธิ์เหมือนฝิ่นและโคคา จึงห้ามผลิต ห้ามปลูก นอกจากรัฐจะปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์การวิจัยทางการแพทย์โดยต้องมีการควบคุมเพราะพืชหรือต้นไม้ที่นำไปผลิตเป็นยารักษาโรคจะต้องปลอดจากสารเคมีทุกชนิดไม่เช่นนั้นจะไม่ผ่านมาตรฐานอย.โดยพื้นที่ปลูกต้องได้รับใบอนุญาตจากนั้นจึงให้จังหวัดกำหนดพื้นที่และควบคุมพื้นที่ได้รับจัดสรรตามโควต้า สำหรับผลผลิตที่ได้จะถูกส่งเข้าส่วน กลางและโรงงานยาซึ่งทุกประเทศจะดำเนินการลักษณะนี้

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่าในประเทศอังกฤษมีการใช้สารสกัดจากกัญชามาผลิตยาแก้โรคลมชักซึ่งยูเอ็นฯไม่ได้ห้าม ส่วนไทยกฎหมายยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท5 การปลดล็อคกัญชาให้พ้นสถานพืชเสพติดยังทำไม่ได้แต่ทางอย.หรือกระทรวงสาธารณสุขสามารถอนุญาตให้ปลูกเพื่อวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ผลิตยารักษาโรคได้โดยอนุญาตให้เป็นรายๆไปแต่ต้องมีการควบคุมดูแลผลผลิตซึ่งทำได้ไม่มีปัญหาเพียงจะต้องวางระบบให้ดี และยูเอ็นฯก็ไม่ขัดข้องเพราะกฎหมายเปิดให้แล้ว แต่ต้องสร้างกฎหมายให้รองรับกฎกติกาที่มีอยู่ในสนธิสัญญาด้วย