posttoday

"ศึกมาเฟียชิงแหล่งข่าว" เมื่อสื่อกระหายเรตติ้ง!

16 พฤษภาคม 2561

สถานการณ์การแย่งชิงแหล่งข่าวที่เข้มข้นดุเดือดในวงการสื่อ ที่เกิดจากความต้องการโกยเรตติ้งให้ได้มากที่สุด กับคำถามถึงคุณภาพและประโยชน์ที่สังคมควรได้รับ

สถานการณ์การแย่งชิงแหล่งข่าวที่เข้มข้นดุเดือดในวงการสื่อ ที่เกิดจากความต้องการโกยเรตติ้งให้ได้มากที่สุด กับคำถามถึงคุณภาพและประโยชน์ที่สังคมควรได้รับ

*********************

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

กำลังกลายเป็นเรื่องดราม่าวงการสื่อมวลชน โดยเฉพาะแวดวงโทรทัศน์ หลังมีผู้ประกาศข่าวออกมาตีแผ่ มหกรรมแย่งชิงแหล่งข่าวอย่างดุเดือดของรายการทีวี ที่ทุกวันนี้ถึงขั้น "ขับรถไปกักตัวแหล่งข่าวถึงบ้าน หรือยึดโทรศัพท์ไม่ให้สัมภาษณ์ออกรายการอื่นๆ ก่อนของตัวเอง"

อะไรคือปัญหาของสถานการณ์นี้ และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคสื่ออย่างไร ?

“อัพราคา-กักตัว” ยุทธวิธีชิงแหล่งข่าว

เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร หรือ เคนโด้ ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ผู้ที่อยู่ในวงการสื่อมาเกือบ 20 ปี เผยว่า ปัญหาการแย่งชิงแหล่งข่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่มีมานานแล้ว สถานการณ์เริ่มดุเดือดมากขึ้นตั้งแต่มีทีวีดิจิตอล เนื่องจากหลายสถานีเมื่อผลประกอบการขาดทุน จึงพยายามหาทุกวิถีทางในการช่วงชิงเรตติ้ง เช่น แย่งนำเสนอประเด็นหรือบุคคลในกระแส

แต่ทว่าเบื้องหลังการได้แหล่งข่าวมายิ่งเป็นปัญหา เมื่อมีการส่งพนักงานไปล็อคตัวแหล่งข่าวที่บ้านเพื่อจะนำออกรายการ หรือไปทำตัวเป็นผู้จัดการแหล่งข่าวคอยเฝ้าคุมแบบใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ไปสัมภาษณ์ช่องอื่นก่อน หรือหากมีคนโทรมาขอสัมภาษณ์ก็สั่งให้แจ้งให้ทราบก่อน เพื่อจะพิจารณาว่าให้สัมภาษณ์หรือไม่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมไม่สมควร

เคนโด้ มองว่า การทำเช่นนี้ไม่เกิดผลดีและเชื่อว่าไม่ได้ทำให้รายการมีเรตติ้งเพิ่มขึ้นเสมอไป และอาจกลับถูกสังคมตำหนิด้วย เนื่องจากสื่อควรนำเสนอสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่นำเสนอแต่เรื่องไม่ดี ดังนั้นอยากให้สื่อหลายสำนักคิดและมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ว่าการทำงานควรเคารพและให้เกียรติกัน

“ผมเชื่อว่าทุกช่องมีความคิดในการทำข่าว คุณต้องทำประเด็นของตัวเอง ไม่ใช่ทำแต่ประเด็นในกระแส เพราะทำเช่นนั้นข้อมูลที่เสนอสู่ประชาชนจะเหมือนกัน ประชาชนก็ไม่ได้อะไร นับวันยิ่งทำให้วงการข่าวถอยหลัง เพราะมัวแต่ตามประเด็นจากเพจในออนไลน์ ถ้าสื่อมีความแตกต่างเข้มข้นติดตามในการนำเสนอประเด็น ก็จะเป็นสื่อคุณภาพ และเป็นที่พึ่งให้ประชาชน” เกรียงไกรมาศ ระบุ

ขณะที่ ผู้สื่อข่าวภาคสนามสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า การแย่งชิงแหล่งข่าวปัจจุบันเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยส่วนใหญ่แย่งชิงกันไปเพื่อออกรายการ

“การแย่งแหล่งข่าวส่วนใหญ่จะเป็นเอาไปออกรายการ เช่น ช่องเอ รายการออก 6 โมงเย็น ตกลงจะให้เงินแหล่งข่าว 3 พันบาท แต่ช่องบี เข้ารายการบ่าย 3 ตกลงให้ค่าตอบแทนเท่ากัน แต่ช่องเอ ไม่อยากให้แหล่งข่าวไปเปิดตัวก่อนก็จะให้เพิ่มเป็น 5-6 พันบาท หรือบางครั้งจะพยายามทำทุกอย่างไม่ให้ช่องอื่นสามารถติดต่อแหล่งข่าวได้” ผู้สื่อข่าวภาคสนาม เปิดเผย

"ศึกมาเฟียชิงแหล่งข่าว" เมื่อสื่อกระหายเรตติ้ง!

3 ปัจจัย ตัวทำลายความน่าเชื่อถือ

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่าปัจจัยที่ทำให้แต่ละสถานีข่าวเลือกเล่นแต่ประเด็นในกระแสโซเชียล อันดับแรกเพื่อช่วงชิงเรตติ้ง สองหวังลดต้นทุนในการผลิตข่าว เพราะไม่ต้องส่งทีมลงไปทำข่าว ไล่ตามประเด็นในโซเชียลแทน และสาม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญคือ ข่าวจากกระแสโซเชียลมักไม่มีผลกระทบต่อผู้มีอำนาจ กลุ่มทุนหรือนักการเมือง

นักวิชาการด้านสื่อ ตั้งคำถามต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า ประชาชนได้อะไรกับประเด็นดราม่าที่หลายสถานีพยายามแย่งชิงกัน นอกจากความตื่นเต้นสะใจ ดังนั้นขอเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคิดไตร่ตรองให้มากกับนำเสนอ เพราะการแย่งชิงแหล่งข่าวเพื่อนำมาเสนอประเด็นดราม่า ระยะสั้นอาจไม่ได้รู้สึกว่ามีผลกระทบด้านลบ แต่ระยะยาวอาจเกิดความขัดแย้งกับคนในวิชาชีพเดียวกันเอง และทำให้สื่อกลายเป็นมาเฟียข่าว

"ศึกมาเฟียชิงแหล่งข่าว" เมื่อสื่อกระหายเรตติ้ง!

สังคมจับตา-หันหน้าคุยกัน ทางทำสื่อคุณภาพ

บรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยอมรับว่าการแย่งชิงแหล่งข่าวมีมานานตั้งแต่สมัยหนังสือพิมพ์จนถึงยุคโทรทัศน์ โดยเฉพาะช่วงหลังมีทีวีดิจิทัล

ประธานจริยธรรมสื่อ ยอมรับว่าบทบาทของสมาคมฯ ทำได้เพียงตักเตือนหรือจัดการหลังจากมีผู้มาร้องเรียนหรือเกิดความเสียหายขึ้นแล้วเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังไม่มีการร้องเรียน

ทั้งนี้ปัญหาการแย่งชิงแหล่งข่าว เกิดจากการสมยอมระหว่างรายการและแหล่งข่าวรวมถึงในแง่การแข่งขันที่สูงขึ้นมากในวงการทีวีดิจิทัล

“ขณะนี้เมื่อยังไม่มีผลกระทบก็ทำได้เพียงเปิดประเด็นในเพจเฟซบุ๊กของสมาคมฯ และให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ถึงอย่างไรเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวแก้ได้ ถ้าสังคมช่วยกันดูและคอยตำหนิตักเตือน สถานการณ์จะดีขึ้น”

ด้าน อ.มานะ แนะว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ใหญ่ในวงการอย่างสภาวิชาชีพ ควรเชิญทุกฝ่ายมาหารือเพื่อวางกรอบกฎกติกาให้เข้าใจตรงกัน อะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งเป็นทางแก้ที่ดีกว่าให้หน่วยงานรัฐอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามาแทรกแซง

"ศึกมาเฟียชิงแหล่งข่าว" เมื่อสื่อกระหายเรตติ้ง! เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร (ซ้าย) , มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ (กลาง) , บรรยงค์ สุวรรณผ่อง (ขวา)