posttoday

สรุปคำพิพากษาศาลปกครอง สั่งผู้ว่าฯกทม.-ผอ.เขตประเวศ รื้อตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ!

16 พฤษภาคม 2561

ศาลปกครอง ชี้ กทม.อนุญาตให้สร้างตลาดรอบบ้านป้าทุบรถเป็นการใช้ ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับวัตถุประสงค์การจัดสรรที่ดิน สั่งให้รื้อภายใน 60 วัน

ศาลปกครอง ชี้ กทม.อนุญาตให้สร้างตลาดรอบบ้านป้าทุบรถเป็นการใช้ ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับวัตถุประสงค์การจัดสรรที่ดิน สั่งให้รื้อภายใน 60 วัน

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นายสัจจา เขม้นงาน ตุลาการศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ส. 1 /2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 59/2561 ระหว่าง นางสาวบุญศรี แสงหยกตระการ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ผู้ฟ้องคดี กับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการเขตประเวศ, สำนักงานเขตประเวศ, กรุงเทพมหานคร เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 และนายสุกิจ นามวรกานต์ ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน ผู้ร้องสอด

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในหมู่บ้านเสรีวิลล่า แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2541 บ้านดังกล่าวปลูกสร้างอยู่บนที่ดินจัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ได้รับความเดือดร้อนรำคาญและเสียหายจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดรอบบ้านพักอาศัย ทำให้ได้รับผลกระทบจากการที่คนงานของตลาดปีนขึ้นลงหลังคาเต็นท์มองเข้ามาภายในบ้าน มีการสาดไฟแรงสูงส่องเข้ามาภายในบ้านยามวิกาล และเกิดมลภาวะทางอากาศจากกลิ่นควันรถยนต์ กลิ่นจากการประกอบอาหาร เสียงดังจากเครื่องขยายเสียงโฆษณาขายสินค้า น้ำเสียและขยะสิ่งปฏิกูลตกค้างอุดตันท่อระบายน้ำจากการทำตลาดพิพาทดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีหนังสือร้องเรียนไปยัง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่แล้วแต่ไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหา จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คณะกรรมการควบคุม การจัดสรรที่ดินในขณะเกิดข้อพิพาทอนุญาตให้ผู้จัดสรรที่ดินทำการจัดสรรที่ดินจำนวน 3 โครงการ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินอันเป็นที่ตั้งบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ อาคารตลาดพิพาทของผู้ร้องสอดอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินตามใบอนุญาตเลขที่ 296/2530 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2530 โครงการที่ 2 (มิใช่โครงการที่ 1)

วัตถุประสงค์ตามโครงการจัดสรรเฉพาะที่ดิน ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง การที่ผู้จัดสรรที่ดินระบุไว้ในแบบแสดงรายการโครงการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินว่า “ทางบริษัทฯ ได้จัดสรรเฉพาะที่ดินเปล่า จึงดำเนินการทำทางเท้า ให้แล้วเสร็จไม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อต้องมาก่อสร้างบ้าน และภายหลังจากที่ผู้ซื้อสร้างบ้านเสร็จ ผู้ซื้อจะเป็น ผู้ดูแลและจัดทำทางเท้าเองทุกแปลง” กรณีจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่า ผู้จัดสรรที่ดินมีเจตนาให้การ ใช้ประโยชน์ที่ดินจัดสรรโครงการที่ 2 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อความแห่งใด

ที่ระบุว่าเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่ประกอบการพาณิชย์แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกใบรับแจ้งความประสงค์ จะก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดให้แก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็น การกระทำที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วย การควบคุมอาคาร ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่ว่า การก่อสร้างอาคารตลาดในที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นการทำผิด วัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนตามกฎหมาย นั้น จึงไม่อาจรับฟังได้

นอกจากนี้ การที่ผู้ร้องสอดก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดทั้ง 5 แห่งโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนออกไป จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับตลาดพิพาททั้ง 5 แห่งของผู้ร้องสอดที่จัดตั้งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และปล่อยปละละเลยให้มีผู้จำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าบ้าน ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่

เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ที่มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดแห่งแรกในคดีนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2561 ที่เกิดเหตุการณ์ทุบรถจอดกีดขวางหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกคำสั่งให้ผู้ร้องสอดหยุดประกอบกิจการตลาดพิพาท นับเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปีเศษ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างล่าช้าเกินสมควร ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อีกทั้งยังเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายและต้องตกอยู่ในภาวะทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน

ศาลจึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 พึงต้องชดใช้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ส่วนหนึ่ง และกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นค่าเสียหายสำหรับการสูญเสียความสุข (Hedonic losses) เพื่อเป็นการชดเชยความสงบสุขในชีวิตที่ต้องสูญเสียไปให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้

ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม จึงมีคำพิพากษา ดังนี้

1. เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแต่ละฉบับดังกล่าว

2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ดำเนินการกับอาคารของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 มาตรา 28 มาตรา 41 มาตรา 44 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อมิให้ผู้ร้องสอดหรือผู้หนึ่งผู้ใดก่อเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และควบคุมดูแลมิให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

4. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยสอดส่องกวดขันมิให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าบนถนนและทางเท้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

5. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นเงินรายละ 368,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2556 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งสี่

6. ให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ของศาลยังคง มีผลต่อไปจนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก