posttoday

"บล็อกเกอร์สายรีวิว" ขอทานหรือพระเอกของวงการ

14 พฤษภาคม 2561

เมื่อผู้คนกำลังตั้งคำถามถึงพฤติกรรมการหาแสวงหาผลประโยชน์ของเหล่าคนดังและบล็อกเกอร์ว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นเหมาะสมหรือไม่ ?

เมื่อผู้คนกำลังตั้งคำถามถึงพฤติกรรมการแสวงหาผลประโยชน์ของเหล่าคนดังและบล็อกเกอร์ว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นเหมาะสมหรือไม่ ?

-------------------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

กรณีเจ้าของฟาร์มสเตย์ชื่อดัง "บ้านไร่ไออรุณ" ประกาศไม่มีนโยบายให้เหล่าดารา คนดังตลอดจนบล็อกเกอร์เข้าพักฟรีเพื่อเเลกกับการโปรโมทผ่านโลกโซเชียลจนกลายเป็นกระแสและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

วันนี้กำลังมีคนตั้งคำถามถึงพฤติกรรมการแสวงหาผลประโยชน์ของคนดังและบล็อกเกอร์ว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นเหมาะสมหรือไม่ ?

การตลาดที่ดีไม่ทำกันแบบนี้ ?

เบส วิโรจน์ ฉิมมี เจ้าของบ้านไร่ไออรุณ ระบุว่า บ้านพักของตนเองนั้นไม่มีและไม่เคยมีนโยบายให้บล็อกเกอร์ ดารา หรือคนมีชื่อเสียงเข้าพักฟรี เพื่อแลกกับการโปรโมททางโซเชียลมีเดีย รู้สึกหมดศรัทธาและแย่ทุกครั้งที่มีเพจต่างๆ หรือคนดังติดต่อเข้ามาขอเข้าพักและรับประทานอาหารฟรีเพื่อแลกกับการรีวิว เช็คอินท์โปรโมทให้

เขาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กด้วยว่า บางครั้งก็สงสัย ทำไมไม่มาอุดหนุนกัน ทั้งๆ ที่เขาดูดี มีฐานะกว่าเราด้วยซ้ำ พอเราปฏิเสธ ก็ดูท่าทางจะไม่ค่อยพอใจ คุณรู้ไหมครับว่า กว่าเราจะสร้างที่นี่ขึ้นมาได้ ใช้ทั้งเเรงกาย เเรงใจ เเละเงินลงทุนไปมากขนาดไหน เรามีค่าใช้จ่ายทุกอย่าง (คิดถึงตอนที่พ่อ ตัดไม้ไผ่มาช่วยกันสร้างบ้าน ,ตอนที่เเม่ นั่งตากเเดดปลูกผัก) ถ้าไม่เข้าใจผู้ประกอบการ ก็อยากให้สงสารคุณลุง คุณป้า เเละน้องๆ เหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน อย่างหนัก ในด้านหลังบ้านของเราบ้าง

ยอดไลค์ การเเชร์ คอมเม้น หรือชื่อเสียง ที่ได้มา จากการซื้อโฆษณา เเล้วได้กลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่เเถมยังต้องมาเสียตัวตนของเราไป / ไม่อยากได้เลย การตลาดที่ดีเขาไม่ทำกันเเบบนี้หรอกครับ จะไม่เชื่อรีวิวตามหน้าฟีดอีกต่อไป เราอยู่ในจุดที่ต้องพัฒนา ไม่ใช่โฆษณา

"บล็อกเกอร์สายรีวิว" ขอทานหรือพระเอกของวงการ ภาพจากเฟซบุ๊ก บ้านไร่ ไออรุณ baan rai i arun

เรื่องปกติทุกฝ่าย วิน-วิน

เมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ ผู้ที่มีพื้นที่สื่อเเละผู้ติดตามอยู่ในมือเลือกที่จะนำมันไปใช้แสวงหาผลประโยชน์

ขจร เจียรนัยพานิชย์ บล็อกเกอร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัล Zocial Award 2014 และ ผู้ก่อตั้งเว็บ MacThai.com บอกว่า การทำงานของบล็อกเกอร์เริ่มต้นจากการติดต่อพูดคุยกับแบรนด์ หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น ชัดเจน ต่างฝ่ายพอใจในผลประโยชน์ที่ได้รับ ปัญหาในการทำงานก็จะไม่เกิดขึ้น

โดยการติดต่อระหว่างบล็อกเกอร์และแบรนด์ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ

1. จากแบรนด์ถึงบล็อกเกอร์

“แบรนด์ส่งคำเชิญมาให้บล็อกเกอร์เอง เช่น เปิดตัวเมนูอาหารใหม่ เปิดโซนใหม่ของโรงแรม แบบนั้นไม่มีปัญหา แบรนด์ยินยอมออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้อยู่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าบล็อกเกอร์สามารถเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมากและคุ้มค่าในการทำตลาด”

2. จากบล็อกเกอร์ถึงแบรนด์

“บล็อกเกอร์เป็นผู้ติดต่อแบรนด์เอง โดยอาจส่งข้อความไปทางอีเมล แนะนำตัวและสอบถามว่าทางแบรนด์มีนโยบายให้บล็อกเกอร์เข้าไปรีวิวหรือไม่ ซึ่งมีทั้งตอบรับและปฎิเสธ การกระทำลักษณะนี้ไม่แตกต่างจากสื่ออื่นๆ เช่น แม็กกาซีนหรือรายการทีวี”

ขจร มองว่าการแลกเปลี่ยนต่อรองผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าเกลียด บล็อกเกอร์เองก็ต้องการคอนเทนต์ที่ดี ขณะที่แบรนด์เองก็ต้องการได้รับการโปรโมทหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงผู้อ่านเองก็อยากอ่านเรื่องราวดีๆ และที่สำคัญหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจข้อเสนอของอีกฝ่ายก็สามารถปฏิเสธได้

“ถ้าคุยกันก่อนไม่มีปัญหา แต่ช่วงหลังมีบล็อกเกอร์หลายคนไปกิน ไปพักก่อนแล้วค่อยบอกว่า เดี๋ยวรีวิวให้นะ แต่ไม่ขอจ่ายเงิน แบบนี้ไม่เหมาะสมเพราะแบรนด์ไม่ได้ตกลงตั้งแต่ก่อนเข้าพัก ขณะเดียวกันปัจจุบันเนื่องจากจำนวนบล็อกเกอร์มีเยอะมาก หลายแบรนด์ไม่ต้องการมากขนาดนั้น ทำให้เริ่มมีการปฏิเสธและเบื่อกับการติดต่อเข้ามาของบล็อกเกอร์”

"บล็อกเกอร์สายรีวิว" ขอทานหรือพระเอกของวงการ

บล็อกเกอร์-ธุรกิจท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ที่ขาดไม่ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาที่ออกจากบล็อกเกอร์และเหล่าเซเลปคนดังนั้นสำคัญมากต่อการรับรู้ของผู้คนในยุคที่โซเชียลมีเดียแทบจะครองโลก

ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช เจ้าของเพจ Surfer's Holiday และ PR& Social Media Consultant ผู้มีประสบการณ์ในการดีลกับบล็อกเกอร์และดาราไม่ต่ำกว่า 100 คน ให้ความเห็นว่า เมื่อช่วง 5 ปีก่อนในแง่ของการประชาสัมพันธ์ “บล็อกเกอร์” นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เนื่องจากมีฐานแฟนคลับ มีความจงรักภักดีเเละความเชื่อมั่นต่อผู้เขียนอย่างมาก

“ข้อมูลลงวันนั้นมี Booking เข้าทันที ยิ่งมีการวาง timeline และการออกโปรโมชั่นที่ดี สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 1,000 room nights ( มูลค่า 3 - 4 ล้านบาท ) เมื่อเกิดกระแสที่ดีแล้วการมีดารามาพักก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นและกระตุ้นเพิ่มยอดขายไปอีก”

ทวีโรจน์ บอกต่อว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา การทำการตลาด โซเชียลมีเดีย เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เพจและบล็อกเกอร์เกิดขึ้นมากมายจนจำหน้าจำชื่อเพจกันไม่ทัน หลายๆโรงแรมก็ทำ Marketing แบบนี้กัน จนบางครั้งกลายเป็น คอนเทนต์ ขยะเช่นกัน

ปัญหาที่เกิดคือ

1. การใช้บล็อกเกอร์มากเกินไป ทำให้โรงแรมภาพช้ำ บางโรงแรมใช้บล็อกเกอร์ถึง 200 คนต่อปีในการรีวิวโรงแรม ( ทั้งบล็อกเกอร์ขอมาและทางโรงแรมเชิญ ) ทำให้คนเห็นทุกซอกทุกมุมของโรงแรม คาดเดา Surprise ของโรงแรมได้หมด ทำให้โรงแรมหมดเสน่ห์

2. คนเสพภาพแต่ไม่อ่านคอนเทนต์ เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้คนส่วนใหญ่สนใจไปที่ภาพสวย ชอบอ่านอะไรสั้นๆ ทำให้คนที่ผลิตคอนเทนต์หนักเรื่องราวดีๆ เริ่มหายไปจากวงการ

3. Golden Honey เมื่อโรงแรมไหนอยู่ในกระแสดังๆ ด้วยที่คนผลิตคอนเทนต์ก็ต้องรีบไปจับเพื่ออยู่ในกระแสที่การแข่งขันสูง บางครั้งบล็อกเกอร์หลายคนจึงเลือกวิธีขอเข้าไป บางโรงแรมที่ควบคุมไม่ดีก็กลายเป็นมาเร็วไปเร็วเหมือนกัน

"บล็อกเกอร์สายรีวิว" ขอทานหรือพระเอกของวงการ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ ชี้ให้เห็นถึงข้อดีและเสียของการใช้บล็อกเกอร์ดังนี้

ข้อดี

1. ใช้แล้วเห็นผลเร็ว เห็นผลทันทีในวันรุ่งขึ้น

2. หากเทียบกับการซื้อสื่ออื่นๆ ถือว่าถูกกว่ามาก เช่นการอ่านผ่านช่องทางออนไลน์สามารถลิงค์ไปยัง Official Page หรือ Official Website ได้ทันทีทำให้เกิด Engagement สามารถนำไปต่อยอดได้

3. เป็นการประเมินโรงแรมไปในตัวบล็อกเกอร์ ที่มีความรู้ ( Expert ) บางคนนอนโรงแรมตลอดชีวิตเกินกว่า 200-300 โรงแรม สามารถให้ข้อมูลหรือคำแนะนำที่ดีมาก หากโรงแรมไหนที่เจ้าของหรือผู้บริหารเข้ามารับฟังหรือเข้ามาขอข้อมูลพูดคุย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก เนื่องจากบางโรงแรมมั่นใจตัวเองค่อนข้างสูงทำให้ไม่เคยเห็นจุดอ่อนหรือการพัฒนาสู่การที่ดีกว่า

4. มีผลต่อการ เสิร์ช หลายเพจมีการทำคอนเทนต์ในเว็บไซต์ซึ่งมีการพ่วงทำ SEO ทำให้ค้นหาใน Google ก็เจอในหน้าที่ 1 หรือ 2 เป็นประโยชน์มหาศาลหากมีการวางแผนที่ดี

5. Blogger Specifically การเลือกใช้บล็อกเกอร์ที่กลุ่มเป้าหมายที่ตรงกับโรงแรมทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด

"บล็อกเกอร์สายรีวิว" ขอทานหรือพระเอกของวงการ

ข้อเสีย

1. หากโรงแรมไม่ดีก็อาจกลายเป็นการประจานโรงแรม

2. เลือกใช้บล็อกเกอร์ผิดคน เช่น ให้บล็อกเกอร์ที่แบคแพคเที่ยวทริปหลักพัน ส่วนใหญ่คนตามเป็นเด็กมหาลัยมารีวิวโรงแรมคืนละแสน ก็อาจจะไม่เกิดยอดจอง แต่อาจมีผลในการสร้างการรับรู้ของแบรนด์

3. บล็อกเกอร์บางคนไม่สามารถลงงานในเวลาที่เราต้องการ อาจทำให้สูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ

4. บล็อกเกอร์ที่ไม่มีมารยาท มีอยู่บ่อยครั้งที่มีบล็อกเกอร์เพจดัง ขอห้องไปรีวิวแต่สุดท้ายไม่ได้รีวิวให้จริงๆ หรือกินอาหารทิ้งขว้าง

5. พีอาร์สื่อสารผิดพลาดให้ข้อมูลบล็อกเกอร์ผิดๆ ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อโรงแรมได้ เช่น ถ่ายภาพติดเส้นผมในอาหาร โพสต์ราคาผิดและอื่นๆ อีกมากมาย

ทวีโรจน์ บอกว่า ปัจจุบันบล็อกเกอร์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้การท่องเที่ยวเกิดขึ้น จะเห็นจังหวัดที่เคยเงียบเหงามากมายกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว โรงแรมดังมากแต่รอบๆ ไม่มีที่เที่ยว ไม่มีข้อมูลการเดินทาง ไม่มีอะไรน่าสนใจ มันก็อาจจะไม่เวิร์ค เพราะฉะนั้นเชื่อว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นหากหลายๆ อย่างเกื้อกูลกัน การด่าว่าเหมารวมบล็อกเกอร์ด้วยคำพูดเช่น เห็บหมา ขอทาน เป็นสิ่งไม่ดี

อย่างไรก็ตามไม่ปฏิเสธว่า ปัจจุบันก็มีบล็อกเกอร์ที่ฉกฉวยโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปลาเน่าตัวเดียวอาจจะกระทบส่งผลถึงวงกว้าง

“หากคุณเป็นบล็อกเกอร์ไม่ว่าสายไหนก็ควรหมั่นหาความรู้ หมั่นพัฒนาตัวเองและที่สำคัญต้องมีมารยาทและความคิดที่ดีด้วย เพราะทันทีที่คุณตัดสินใจเป็นบล็อกเกอร์มันคือพื้นที่แสดงความคิดเห็นในทางที่ดีและทางที่เป็นลบได้เช่นกัน” เขากล่าวทิ้งท้าย