posttoday

นโยบาย "ล้อมคอก" กทม. แก้ปัญหา "ขยะ" ได้จริงหรือ?

13 พฤษภาคม 2561

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม วิพากษ์พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาขยะในเมืองหลวง

โดย…โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

ขยะเป็นปัญหาลำดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานคร ที่ไม่เคยมีผู้ว่าฯ คนไหน ประสบความสำเร็จจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จเสียที ด้วยปริมาณขยะในเมืองใหญ่ที่มีมากถึง 1 หมื่นตันต่อวัน ประกอบกับกระบวนการจัดการของหน่วยงานรัฐที่ไม่สอดรับกับพฤติกรรมวินัยของผู้คน ทั้งหมดจึงกลายเป็นเหตุผลและอุปสรรคสำคัญที่ขยะยังเป็นปัญหาหนักใจของผู้ว่าฯ คนแล้วคนเล่า

ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผุดโครงการ “ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา” ซึ่งกำหนดจุดทิ้งขยะโดยมีรูปแบบทำเป็นคอกเหล็ก และให้เจ้าหน้าที่เก็บเป็นเวลา แต่ทว่าพึ่งเริ่มโครงการเสียงตอบรับก็ไม่สู้ดีนัก เพราะสังคมออนไลน์มีการแชร์ภาพประชาชนไม่ทิ้งในจุดที่กำหนด หรือบางแห่งมีแต่เศษขยะชิ้นเล็กจนสร้างความยุ่งยากให้พนักงานกทม. และจากการสำรวจหลายจุดตอนนี้ได้เก็บคอกเหล็กไปแล้ว

โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ได้พูดคุยกับ เบญจมาส โชติทอง ผู้จัดการแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อวิพากษ์รวมถึงเสนอแนวทางออกการดำเนินโครงการดังกล่าว ว่าต้องทำอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ กทม.หวังแก้ปัญหาขยะในเมืองใหญ่

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องดี แต่กระบวนการอาจขาดการประสานงานและสื่อสารให้ชัด ตั้งแต่ผู้ริเริ่มโครงการกับฝ่ายผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน ว่าจะทำจุดรวบรวมหรือที่ทิ้งขยะ เพราะจากการสังเกตหลายจุดกีดขวางทางเดิน รวมถึงรูปแบบคอกเหล็กยังไม่เอื้อต่อการรองรับขยะชิ้นเล็กจนทำให้เกิดภาพไม่น่ามอง เช่น น้ำขยะไหลเต็มพื้น เศษขยะชิ้นเล็กปลิวกระจายอยู่บริเวณใกล้เคียง

ขณะการดำเนินการโครงการในต่างประเทศซึ่งได้ผลดี เนื่องจากผู้คิด ฝ่ายปฏิบัติและภาคประชาชน มีการสื่อสารกันก่อนเริ่ม จึงทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ อาทิ บางเมืองในประเทศญี่ปุ่น มีการกำหนดจุดและเวลาการเก็บขยะชัดเจน เมื่อใกล้ถึงกำหนดนัดหมายคนในชุมชนจะติดตั้งคอกขยะพลาสติกให้คนนำขยะมาทิ้ง และหลังขยะถูกเก็บก็จะจัดเก็บคอกเพื่อไม่ให้ขวางทาง

“ในบ้านเราที่เป็นปัญหาอย่างนี้คิดว่า หน่วยงานตั้งแต่ผู้คิดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานมีการพูดคุยกันน้อย และเมื่อเริ่มทำก็ไม่มีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ”

นโยบาย "ล้อมคอก" กทม. แก้ปัญหา "ขยะ" ได้จริงหรือ? การบริการจัดการขยะต่างประเทศ กับในประเทศไทย

ดังนั้นหากจะดำเนินการ เสนอว่าในส่วนจุดทิ้งสามารถติดตั้งถังขยะแบบทึบที่แยกประเภทตามเดิมได้ แต่หากเป็นจุดรวบรวมขยะควรทำภาชนะจัดเก็บให้มิดชิด มีขนาดเหมาะสม และตั้งในสถานที่ที่ไม่กระทบกับคนในละแวกใกล้เคียง เช่น ไม่ขวางการสัญจร ไม่ขวางหน้าบ้าน ซึ่งอาจต้องได้รับการยินยอมจากคนในชุมชนด้วย

“ถังขยะทั่วไปทำไปเถอะ แต่จุดพักขยะต้องวางแผนเรื่องขั้นตอนกระบวนการให้ชัดเจน เช่น ตลาดตั้งจุดพักขยะท้ายตลาด หากเป็นชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก ควรได้รับการยินยอมจากคนในชุมชน และควรมีการกำหนดเวลาจัดเก็บให้ชัดเจน”

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม แนะนำโครงการบริการจัดการขยะในประเทศไทยที่เคยได้ผลตอบรับดี คือโครงการตาวิเศษเห็นนะ ในอดีตเคยรณรงค์ทำให้ประชาชนใส่ใจเรื่องการทิ้งขยะได้ดีมาก แต่ภายหลังกลับเงียบหาย ดังนั้นมองว่ายุคที่ประชาชนเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียได้ง่ายนี้ หากดำเนินการอย่างถูกวิธีและรณรงค์ให้เข้าถึงประชาชนเหมือนโครงการตาวิเศษฯ ก็จะทำให้การบริหารจัดการขยะใน กทม.ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาก

เบญจมาส ทิ้งท้ายว่า การดำเนินโครงการลักษณะนี้ผู้คิดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานจะต้องสื่อสารกันให้มาก จากนั้นอธิบายให้ประชาชนรับทราบ “ผู้ว่าฯกับเจ้าหน้าที่ถึงเวลาต้องมาทบทวนกันแล้ว จากนั้นไปคุยกับประชาชนว่า ชุมชนจะเอาจุดพักขยะแบบไหน ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำเป็นจุดๆ”

นโยบาย "ล้อมคอก" กทม. แก้ปัญหา "ขยะ" ได้จริงหรือ?

นโยบาย "ล้อมคอก" กทม. แก้ปัญหา "ขยะ" ได้จริงหรือ?

นโยบาย "ล้อมคอก" กทม. แก้ปัญหา "ขยะ" ได้จริงหรือ?

นโยบาย "ล้อมคอก" กทม. แก้ปัญหา "ขยะ" ได้จริงหรือ? เบญจมาส โชติทอง ผู้จัดการแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย