posttoday

โพลล์เผยพ่อแม่ยุคใหม่มองส่งลูกเรียนพิเศษมีความจำเป็นมาก

12 พฤษภาคม 2561

กรุงเทพโพลล์ เผย พ่อแม่ยุคใหม่ 66.8% ระบุว่าการส่งลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มมีความจำเป็นมาก 40.8% วางแผนเพิ่มทักษะเน้นภาษาที่ 3

กรุงเทพโพลล์ เผย พ่อแม่ยุคใหม่ 66.8% ระบุว่าการส่งลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มมีความจำเป็นมาก 40.8% วางแผนเพิ่มทักษะเน้นภาษาที่ 3

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “พ่อแม่ยุคใหม่วางแผนอย่างไรเมื่อใกล้เปิดเทอม” โดยเก็บข้อมูลจากพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสิ้น1,175 คน ทั้งนี้สืบเนื่องจากในเดือน พ.ค.ของทุกปี เป็นช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมการวางแผนในด้านการศึกษาแก่บุตรหลานสำหรับปีการศึกษาใหม่ มีผลสำรวจดังนี้

เมื่อถามว่าระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันมีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนพิเศษ พ่อแม่ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.8 ระบุว่า จำเป็นมาก รองลงมาร้อยละ 20.4 ระบุว่าจำเป็นน้อย และมีเพียงร้อยละ 12.8 ระบุว่าไม่จำเป็นเลย

ส่วนการวางแผนเพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถให้กับลูกๆในเทอมใหม่นี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.8 จะเน้นด้านภาษาที่ 3 เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น รองลงมาร้อยละ 38.0 เน้นด้านกีฬา และร้อยละ 23.6 เน้นด้านดนตรี/ร้องเพลง/นาฏศิลป์

โดยวิธีการสนับสนุนเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถให้แก่ลูกๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.8 ให้ลูกเรียนเสริมในสิ่งที่ชอบ ไม่บังคับหรือกำหนดให้ลูก รองลงมาร้อยละ 46.5 กำหนดให้ลูกไปเรียนเพื่อสร้างทักษะเฉพาะ เช่น ดนตรี กีฬา คณิต ศิลปะ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ และร้อยละ 37.8 ให้ลูกเรียนพิเศษด้านวิชาการในวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์

ด้านค่าเรียนพิเศษเพื่อเสริมทักษะความสามารถให้แก่ลูกๆ ด้านต่างๆในปัจจุบัน ร้อยละ 49.9 ระบุว่า ราคาพอดีแล้ว รองลงมาร้อยละ 29.0 ระบุว่าราคาสูงแต่พอรับได้ และร้อยละ 5.3 ระบุว่า ราคาสูงมากจนไม่สามารถรับได้

สำหรับการจัดเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการศึกษาของลูกๆ ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.6 ระบุว่ามีการจัดสรรเงินไว้สำหรับการศึกษาของลูกโดยเฉพาะ รองลงมาร้อยละ 31.7 ระบุว่านำเงินเก็บออมออกมาใช้ และร้อยละ 10.5 ระบุว่าหยิบยืมจากญาติเพื่อนกรณีหมุนเงินไม่ทัน

ทั้งนี้เรื่องที่ต้องการการสนับสนุนด้านการศึกษาจากรัฐบาลมากที่สุดร้อยละ 17.7 คือสร้างหลักสูตรทางเลือกที่หลากหลาย เหมาะกับศักยภาพของเด็ก รองลงมาร้อยละ 17.5 คือ ให้ครูสอนเต็มที่จะได้ไม่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม และร้อยละ 15.9 ให้พัฒนาครูให้มีเทคนิคการสอนโดยยึดนักเรียนเป็นหลัก