posttoday

‘ปฏิรูป’ เงินสงเคราะห์คนมีรายได้น้อยด้อยโอกาส

12 พฤษภาคม 2561

ข่าวร้อนในรอบเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ที่มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องคือ การทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง

โดย พรเทพ เฮง

ข่าวร้อนในรอบเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ที่มีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องคือ การทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้แถลงผลการตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ว่าการตรวจสอบจังหวัดเป้าหมายเร่งด่วน 37 จังหวัด โดยเป้าหมายศูนย์ฯ ที่มีงบประมาณเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป ได้รับจัดสรรเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย 503,966,500 บาท พบความผิดใน 34 จังหวัด

ประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ตราด อุดรธานี น่าน กระบี่ ตรัง สระแก้ว ร้อยเอ็ด พัทลุง ชุมพร ชัยภูมิ สุรินทร์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน นครราชสีมา อำนาจเจริญ อ่างทอง ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครพนม กาฬสินธุ์ ยะลา สมุทรสงคราม พิจิตร ราชบุรี และเลย ส่วนอีก 3 จังหวัดที่ตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบการทุจริต แต่จะทำการตรวจซ้ำอีก ได้แก่ ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช และสิงห์บุรี

ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งถูกเรียกว่า “ผู้มีรายได้น้อย (ยากไร้) และผู้ไร้ที่พึ่ง” ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะส่วนราชการที่ให้การดูแลและให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำอันเป็นการดูแลและฟื้นฟูสภาพจิตใจ และให้ความช่วยเหลือด้านการเงินหรือสิ่งของตามวงเงินที่กำหนดตามความจำเป็นต่อการดำรงชีพและการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติกลับทุจริตเสียเอง

จากการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งครั้งมโหฬารและมีมูลค่ามหาศาล ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปกันอย่างขนานใหญ่เสียที

มองปัญหาคนไร้ที่พึ่งและผู้ด้อยโอกาสเชิงโครงสร้างสังคม

‘ปฏิรูป’ เงินสงเคราะห์คนมีรายได้น้อยด้อยโอกาส

สารนิพนธ์ “ความรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นของประชาชนในชุมชนต่อการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง : กรณีศึกษาประชาชนในตําบลผาสิงห์ อําเภอเมือง จังหวัดน่าน โดย อัจฉราพร ปะทิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการบริหารและนโยบายสวัสดิการสังคม ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559 ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจต่อการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดยรวมมีระดับความรู้ ความเข้าใจในระดับมาก

เมื่อพิจารณาเป็นรายๆ เห็นได้ว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ในด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ความหมายของคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 87.5, 75.0, 50.0

ยกเว้นด้านกฎหมายคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ซึ่งประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง อยู่ในระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 100 ตามลำดับ และประชาชนมีความคิดเห็นว่า ความเหมาะสมความจำเป็นที่ต้องการมีการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คือการให้ความช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งควรสร้างอาชีพมากกว่าการให้เงิน รูปแบบการคุ้มครอง คนไร้ที่พึ่ง ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่ที่อาศัยอยู่

ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษา ควรมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานแก่ประชาชนและชุมชน เพราะจะได้ทราบการคุ้มครอง ได้เข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ได้มีความรู้ ได้ให้มีการช่วยเหลือตนเอง เป็นการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในช่วยเหลือแก้ไขปัญหา และสามารถนำไปปรับใช้กรณีที่เกิดปัญหาขึ้น และควรเน้นให้ชุมชนดูแลคนไร้ที่พึ่งมากกว่าการส่งคนไร้ที่พึ่งเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์ เพราะจะได้ไม่ถูกทอดทิ้ง ลดภาระของภาครัฐ ชุมชนจะได้ช่วยเหลือกัน และศูนย์คนไร้ที่พึ่งต้องช่วยเหลือเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหา

เมื่อมาดูแนวคิดการจัดสวัสดิการสําหรับคนไร้ที่พึ่งในประเทศไทย สวัสดิการสังคมเป็นความช่วยเหลือที่เอื้อให้ผู้อ่อนแอหรือด้อยโอกาสทางสังคมช่วยเหลือตนเองได้ งานสวัสดิการสังคมเป็นภารกิจที่มุ่งสนองความต้องการประเภทต่างๆ ประกอบด้วย ความต้องการของบุคคลธรรมดา และความต้องการของบุคคลที่มีปัญหา

ฐานคิดของการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในประเทศไทยนโยบายการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่ผ่านมา รวมถึง พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพูดถึงการทำงานกับคนไร้ที่พึ่งอยู่ใน 3 ลักษณะ คือ “มีที่พึ่ง พึ่งตนเองได้ เป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้” คือระบบการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ต้องช่วยให้คนไร้ที่พึ่งมีที่พึ่ง ได้รับการบริการและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่เหมาะสมและช่วยให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาจนกลายเป็นคนปกติที่สามารถเป็นที่พึ่งให้ผู้อื่นได้

ด้วยการที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง มุ่งไปที่ตัวบุคคลทำให้มีข้อดี คือ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทราบว่าตนต้องปฏิบัติงานกับคนในกลุ่มใดบ้าง เป็นการให้ความเคารพต่อบุคคลเหล่านั้น ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและคุณค่าในตัวเอง

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ ในการออกแบบกระบวนการในการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการ เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้เขากลายเป็นผู้ที่มีที่พึ่ง และสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาวกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการให้บริการแก่คนขอทานและคนไร้ที่พึ่งใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.ให้การอุปการะในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2.ให้คำแนะนำด้านบริการ และการช่วยเหลือจากหน่วยสำรวจและช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง

การให้ความช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว เป็นการให้ความช่วยเหลือเพียงเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น รัฐและสังคมยังขาดมาตรการรองรับและติดตามผลในระยะยาว เป็นผลให้บุคคลเร่ร่อนไร้ที่พึ่งเหล่านี้ง่ายที่จะกลับไปสู่วงจรเดิมเมื่อการได้รับการบริการช่วยเหลือจากรัฐสิ้นสุดลง และที่ผ่านมา ยังไม่มีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจถึงชีวิตของคนไร้ที่พึ่งอย่างจริงจังและสมบูรณ์มาก่อน การขาดการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจชีวิตของบุคคลเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุหลักที่ผลักดันให้บุคคลเหล่านี้ต้องกลายสภาพมาเป็นคนไร้ที่พึ่ง ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเปราะบางของสถาบันครอบครัว การขาดการสนับสนุนจากเครือญาติ ปัญหากระทบจากภาวะสังคมและเศรษฐกิจรอบตัว การประสบกับปัญหาภาวะวิกฤตในชีวิต

ทางออกและการปฏิรูปเงินสงเคราะห์คนมีรายได้น้อย

‘ปฏิรูป’ เงินสงเคราะห์คนมีรายได้น้อยด้อยโอกาส

การคำนึงถึงสิทธิของความเป็นพลเมืองของคนไร้ที่พึ่งและผู้ด้อยโอกาสที่เสมอภาคกับพลเมืองอื่นๆ โดยมอบสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิทางการเมือง ซึ่งต้องมีการแก้ปัญหา ส่งเสริมและพัฒนาสิทธิด้านเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมในขั้นต้น

เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ขาดโอกาสที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการส่งเสริมสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้พวกเขาได้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตอย่างตรงความต้องการมากกว่าการช่วยเหลือจากรัฐ เพื่อการแก้ปัญหาให้จุดสมดุลระหว่างปัจเจกบุคคลและส่วนรวม เพื่อรักษาสิทธิของกันและกันอย่างสันติสุข ควรให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการมีศักยภาพเท่าเทียมกันของทุกคน และปรับเปลี่ยนค่านิยมที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์

เวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 2 หัวข้อ “ตีแผ่เงินสงเคราะห์” ที่มีการระดมนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางการป้องกันการทุจริตเงินสงเคราะห์ นโยบายการคลังและความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่เอื้อต่อการทุจริต โดยศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และผู้ช่วยศาสตราจารย์ อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. เข้าร่วมเสวนา

มีการตั้งข้อสังเกตการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เมื่อปี 2557 ว่ามีนัยและเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เป็นจุดบอดที่ทำให้มีการทุจริตเงินสงเคราะห์ เนื่องจากไม่มีการแจ้งสิทธิ และการเผยแพร่ข้อมูลให้ท้องถิ่นและภาคประชาชนทราบนั้น

จากระบบโครงสร้างที่เป็นปัญหา และการรวมศูนย์อำนาจ ไม่กระจายลงสู่ท้องถิ่น ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ลงไปอย่างชัดเจนว่า ปัญหาผู้ด้อยโอกาส หรือคนไร้ที่พึ่ง เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสำคัญและให้การดูแลเป็นพิเศษ

“ทั้งนี้ เพราะคนกลุ่มนี้รัฐจะต้องดูแล ช่วยเหลือ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 10 ล้านคน ในประเทศไทย ที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษ

สำหรับประชากร 1 ใน 6 ของทั้งประเทศ โดยสามารถแบ่งเป็นผู้พิการจำนวนประมาณ 2 ล้านคน คนไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แสนคน รวมถึงผู้ยากจนไร้ที่ดินทำกินจำนวนกว่า 5 ล้านคน และผู้สูงอายุอีกกว่า 12 ล้านคน จึงทำให้เป็นที่มาของโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับในฐานะประชาชนชาวไทย

ส่วนการช่วยเหลือในรูปแบบรัฐสวัสดิการเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชน ต้องมีการกำหนดที่ชัดเจนถึงผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สวัสดิการสำหรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม อาทิ สิทธิการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข ในขณะที่จำเป็นจะต้องมีสวัสดิการสำหรับเฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาส คนไร้ที่พึ่ง ต้องมีการกำหนดกรอบให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนเช่นกันเกี่ยวกับสิทธิของผู้ด้อยโอกาสกว่า”

‘ปฏิรูป’ เงินสงเคราะห์คนมีรายได้น้อยด้อยโอกาส

สำหรับการทุจริตในไทยที่กำลังจะฝังรากเป็นวัฒนธรรม โดยเฉพาะการที่องค์กรส่วนกลางเป็นผู้บริหารจัดการทำให้เกิดช่องโหว่ในการทุจริตและคอร์รัปชั่น ประกอบกับประชาชน ชาวบ้าน และผู้ด้อยโอกาสยังขาดความรู้ด้านสิทธิพื้นฐาน และสิทธิที่ตนพึงได้ ทำให้ผู้ทุจริตสามารถทำการคดโกงได้อย่างง่ายขึ้นโดยปราศจากการร้องเรียน เนื่องจากทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ต่างได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ ขยายความต่อว่า กรณีเงินสงเคราะห์คนจน คนด้อยโอกาส และคนไร้ที่พึ่ง ที่มีการพบปัญหาการทุจริตในหลายพื้นที่ของประเทศ อันมีสาเหตุเนื่องมาจากกลไกในการช่วยเหลือยังมีความบกพร่อง และไม่มีกลไกที่ช่วยเหลืออย่างละเอียดพอ

“การจะแก้ปัญหาทุจริตดังกล่าว ต้องทำการแก้ไขในเรื่อง ‘การรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง’ ซึ่งเป็นที่มาของการทุจริตและการคอร์รัปชั่นต่างๆ โดยจำเป็นต้องมีการรื้อโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เนื่องจากแนวปฏิบัติราชการในปัจจุบันเป็นการนำเสนองบประมาณผ่านกระทรวง หรือกรมต่างๆ เพื่อนำไปแก้ปัญหาของประชาชน ชาวบ้านผู้ด้อยโอกาส ซึ่งหน่วยงานต่างๆ จากส่วนกลางนั้นไม่สามารถเข้าถึงสถานการณ์และจำนวนของผู้ที่ประสบปัญหาจริงในพื้นที่ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

ตลอดจนยังมีช่องว่างในกระบวนการที่ทำให้สามารถเกิดการทุจริตขึ้นมาได้ กรณีเงินที่มีการทุจริตในศูนย์พักพิงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งศูนย์พักพิงสังกัดส่วนกลาง ไม่ได้ขึ้นตรงกับส่วนจังหวัด หรือส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ฉะนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาคือ รัฐบาลต้องปฏิรูประบบโครงสร้างการบริหารราชการใหม่ ให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลคนด้อยโอกาสในพื้นที่ เนื่องจากองค์กรส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากกว่า เข้าใจถึงสถานการณ์และความต้องการได้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังเป็นการทำงานที่มีกลไกในการตรวจสอบที่โปร่งใส ทั้งในระดับเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือสภาท้องถิ่น อันเห็นได้จากกรณีเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่องค์กรส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการ และพบปัญหาการทุจริตที่น้อยลง”

ผศ.อานนท์ มาเม้า มองปัญหาที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลได้ตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 76 แห่งทั่วประเทศ และมีแผนสงเคราะห์เงินให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และชนกลุ่มน้อยในบางพื้นที่ เช่น ชาวเขา โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับไว้อย่างชัดเจน

“แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ประชาชน ชาวบ้าน ไม่รับรู้ถึง ‘สิทธิที่ตนพึงได้รับ’ ชาวบ้านส่วนมากมีความเข้าใจในเรื่องเงินสงเคราะห์ว่าเป็น ‘ความเมตตาจากรัฐ’ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ ที่ชาวบ้านทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เงินมา ได้มาเท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของตนเองอย่างทั่วถึง นำมาซึ่งเหตุการณ์การตักตวงผลประโยชน์จากความไม่เข้าใจของราษฎร ทำให้เกิดช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีหน่วยงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในระดับจังหวัด หรือภูมิภาค กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยหากพบปัญหาการทุจริตสามารถเข้าแจ้งเบาะแสได้ในทันที ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว ผู้เข้าแจ้งเบาะแสจะได้รับสิทธิของกฎหมายการคุ้มครองพยานอีกด้วย”

‘ปฏิรูป’ เงินสงเคราะห์คนมีรายได้น้อยด้อยโอกาส

เมื่อมองถึงการจะแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่นในกรณีเงินสงเคราะห์คนจนนั้น ต้องรื้อโครงสร้าง และทำการกระจายอำนาจไปยังองค์กรส่วนบริหารท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ในขณะเดียวกันต้องให้ความรู้ชาวบ้านถึงเรื่องสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับตามกฎหมาย ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สังคมไทยมีความเข้าใจว่าการทุจริตเกิดจากบุคคล แต่หากพิจารณาอย่างแท้จริงแล้ว รากฐานของการทุจริตเกิดจาก “ระบบ” ที่มีปัญหา

“อันได้แก่ ระบบการเมือง การทุจริตเกิดจากระบบการเมืองที่ผู้มีอำนาจมองว่าอำนาจเป็นของตนเองไม่ใช่ของประชาชนและหน้าที่ของตนเองไม่ใช่รับใช้ประชาชน ในทางระบบวัฒนธรรม การทุจริตเกิดจากวัฒนธรรมที่ผู้มีอำนาจรัฐมองสถานะของตนเหนือกว่าประชาชน ในขณะที่ ระบบกฎเกณฑ์ต่างๆ ของรัฐ มีมาตรฐานที่ไม่ชัดเจน จึงเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเพื่อเปิดช่องทางในการสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง

การแก้ปัญหาการทุจริตจึงต้องมุ่งแก้ที่ระบบที่กล่าวมาข้างต้น ตลอดจนพัฒนากลไกการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างช่องทางให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น รวมถึงการพัฒนากลไกส่วนอื่นไปพร้อมกัน อาทิ สร้างองค์กรของประชาชนที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบภาครัฐ การเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการระบบจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น”