posttoday

ศาลแจงดราม่า ความเเตกต่างระหว่างคดี "ติ๊งค์-ยู่ยี่-กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง"

06 พฤษภาคม 2561

โฆษกศาลเเจงดราม่า ทำไมให้ประกัน ติ๊งค์ มหาเปารยะ พร้อมอธิบายความแตกต่างกับคดียู่ยี่และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

โฆษกศาลเเจงดราม่า ทำไมให้ประกัน ติ๊งค์ มหาเปารยะ พร้อมอธิบายความแตกต่างกับคดียู่ยี่และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีการเเชร์ภาพเเละข้อความโจมตีศาลอาญากรุงเทพใต้ที่อนุญาตปล่อยชั่วคราวนายพันธิตร มหาเปารยะ หรือติ๊งค์ อายุ 26 ปี ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ซึ่งเป็นบุตรชายของนางวรกร จาติกวณิช ภรรยาของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รัฐมนตรีคลัง และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฐานมีโคเคน ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในครอบครองฯ โดยตีราคาประกัน 10,000 บาท

นายสุริยัณห์ ระบุว่า การโจมตีว่า ศาลให้ประกันนายพันธิตร ที่ครอบครองโคเคนปริมาณ 920 มิลลิกรัม เเต่กลับไม่ให้ประกันนางชัชชญา เกวสต้า รามอส หรือยู่ยี่ อลิสา อินทุสมิต อายุ 44 ปี อดีตนางแบบเซ็กซี่ชื่อดัง ที่ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จับกุมที่สนามบินดอนเมืองเมื่อ 10 พ.ย.55 โดยพบว่า นางชัชชญา ครอบครองโคเคน 251 มิลลิกรัม

ความจริงคือในชั้นฝากขังเมื่อวันที่ 12 พ.ย.55 คดีครอบครองโคเคนของนางชัชชญา ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว นางชัชชญา หรือยูยี่ ในวงเงิน 10,000 บาท เช่นเดียวกับนานพันติธร

เเต่ต่อมาพนักงานอัยการฟ้อง นางชัชชญา ในข้อหานำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มมาอีกข้อหาซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (โคเคน) ไว้ในครอบครองเพียงข้อหาเดียว โดยศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนางชัชชญา 15 ปี ปรับ 1.5 ล้านบาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา ให้ยกคำร้อง ดังนั้น คุณยู่ยี่จึงต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จำคุก 15 ปี

ส่วนกรณีที่มีการนำกรณีของนายพันธิมิตร มาเทียบเคียงกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มีการเเสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่ศาลให้ ประกันตัวในวงเงิน 100,000 บาทนั้น คดีดีงกล่าว พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มา ซึ่งเป็นลักษณะความผิดต่อความมั่นคง และมีอัตราโทษสูงการปล่อยตัวชั่วคราวจึงต้องใช้วงเงินประกันสูงตามไปด้วย

อนึ่ง การพิจารณาปล่อยชั่วคราวนั้น หากยังอยู่ในชั้นสอบสวน ศาลจะพิจารณาข้อหาตามที่เจ้าพนักงานสอบสวนกล่าวหาเป็นหลัก ประกอบคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน และพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวตามหลักเกณฑ์ในกฎหมาย ในปัจจุบันนี้ศาลยุติธรรมได้นำระบบการประเมินความเสี่ยงและการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการตรวจและจำกัดการเดินทาง (กำไร EM) มาใช้ในโครงการนำร่องเพื่อประกอบดุลพินิจในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องหลักประกันให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย