posttoday

ชีวิตเปิดเทอม เพิ่มเติมคือ ‘รายจ่าย’

05 พฤษภาคม 2561

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความกังวลรับเปิดเทอมของกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองว่าด้วยการเตรียมค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา

โดย นิติพันธุ์ สุขอรุณ/พรเทพ เฮง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ความกังวลรับเปิดเทอมของกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองว่าด้วยการเตรียมค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.4 กังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลานช่วงเปิดเทอม ซึ่งต้องเตรียมเงินด้านการศึกษาไว้ให้ลูกหลาน เช่น ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ค่าเรียนพิเศษ และเงินแป๊ะเจี๊ยะ โดยเฉลี่ยกว่า 4 หมื่นบาท

หมวดค่าใช้จ่ายสำหรับเทอมแรกของปีการศึกษาให้กับบุตรหลานที่มีสัดส่วนสูงที่สุด ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.8 ระบุเป็นค่าเครื่องแต่งกายชุดนักเรียน นักศึกษา รองลงมาคือร้อยละ 77.3 ระบุเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง และร้อยละ 68 ระบุเป็นค่าอุปกรณ์การเรียน ตำราเรียน และรองๆ ลงไปคือ ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน ค่ากิจกรรมเสริมหลักสูตร ค่าบำรุงโรงเรียน หรือแป๊ะเจี๊ยะ และค่าหอพัก ตามลำดับ

มาถึงเปิดเทอมใหม่ปี 2561 ทุกอย่างยังวนอยู่ภาพเดิมๆ จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ปกครองเกี่ยวกับการเปิดเทอม ยังพบว่า ส่วนใหญ่กังวลกับสถานการณ์สินค้าที่มีราคาแพง และส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยได้ยอมรับว่า จะเลือกซื้อแต่สิ่งของที่จำเป็นเท่านั้น และที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนเลิกคิดที่จะเข้าโรงรับจำนำแล้ว เพราะไม่มีทองหรือทรัพย์สินที่จะนำไปเปลี่ยนเป็นเงินสดมาใช้ในช่วงเปิดเทอม จึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด

มาสำรวจสถานการณ์ของช่วงเปิดเทอมในปีการศึกษา 2561 กัน 

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อลูกหลาน

ชีวิตเปิดเทอม เพิ่มเติมคือ ‘รายจ่าย’

จากข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของปี 2560 คาดว่าน่าจะใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 2.7 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2559

แม้ยังไม่มีข้อมูลในปี 2561 นี้ออกมา แต่คาดว่าไม่ขยายตัวมากนัก โดยค่าใช้จ่ายหลักๆ ก็มีค่าเทอม ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอม เช่น ค่าบำรุงการศึกษา ค่ากิจกรรมพิเศษในโรงเรียน และค่าใช้

จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนกวดวิชา ค่าเรียนเสริมทักษะ

เมื่อมาดูลงไปในรายละเอียด ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังคงเป็นค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษาที่จ่ายให้กับทางโรงเรียน (ประมาณร้อยละ 33.3) แม้ว่าทางภาครัฐ จะมีการดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปี รวมทั้งการอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและหนังสือเรียน แต่การดำเนินนโยบายดังกล่าว สามารถช่วยบรรเทาภาระของผู้ปกครองบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งค่าเล่าเรียนที่ทางรัฐบาลสนับสนุนจะครอบคลุมเฉพาะโรงเรียนในสังกัดของรัฐบาล

สำหรับกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานศึกษาอยู่ภายในโรงเรียนเอกชน นอกจากยังคงต้องมีภาระค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าโรงเรียนรัฐบาล และค่าเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยค่าแรงขั้นต่ำสำหรับพนักงาน

ค่าเรียนกวดวิชาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การซื้อคอมพิวเตอร์ กลายเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญอีกส่วนหนึ่งสำหรับการศึกษาของบุตร (ประมาณร้อยละ 29.3) เนื่องจากปัจจุบันภาวะการแข่งขันทางการศึกษามี

แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนบางกลุ่มต่างมีความเชื่อว่าการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม จะสามารถช่วยเพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการทำข้อสอบมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาตามที่ตนเองคาดหวังเอาไว้ จึงทำให้มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยเต็มใจที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยเฉลี่ยอัตราค่าเรียนพิเศษจะคิดเป็นรายวิชา

ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ประมาณร้อยละ 19.6) เช่น ค่ากิจกรรมต่างๆ ภายในโรงเรียน (ค่ากิจกรรมวิชาการ กิจกรรมทัศนศึกษา การให้บริการสารสนเทศ) รวมทั้งค่าเรียนเสริมทักษะต่างๆ (ทักษะทางด้านดนตรี วาดภาพ ว่ายน้ำ คอมพิวเตอร์และภาษาต่างประเทศ) ทั้งนี้ ในส่วนของการเรียนเสริมทักษะ เพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและเลือกที่จะส่งเสริมให้ลูกได้มีกิจกรรมยามวางตามที่มีความสนใจ โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าการทำกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้ลูกใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ยังเป็นการฝึกสมาธิ และช่วยให้ลูกผ่อนคลายจากความเครียดจากการเรียน

ค่าใช้จ่ายในส่วนเครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียน (ประมาณร้อยละ 17.8) โดยภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากภาครัฐได้มีการให้เงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนของเครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียนแก่เด็กนักเรียน โดยจะทำการอุดหนุนในรูปแบบของการจ่ายเงินสมทบ ประกอบกับภาวะการแข่งขันในตลาดในกลุ่มสินค้าเครื่องแบบนักเรียน และเครื่องเขียนมีการแข่งขันค่อนข้างสูงในช่วงระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งทำให้ยากต่อการที่ผู้ประกอบการจะปรับเพิ่มราคาจำหน่าย นอกจากนี้ ทางหน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาดังกล่าว

เทศกาลลดราคาหน้าเปิดเทอม

ชีวิตเปิดเทอม เพิ่มเติมคือ ‘รายจ่าย’

เพื่อช่วยดูแลและลดภาระค่าครองชีพผู้ปกครองในช่วงใกล้เปิดเทอม ปี 2561 นี้ก็เฉกเช่นเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงาน “รวมใจเพิ่มสุข ช็อปสนุก ลดรับเปิดเทอม” ระหว่างวันที่ 26 เม.ย.-13 พ.ค. 2561 รวม 18 วัน โดยได้รับความร่วมมือจากห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ จำนวน 14 รายกว่า 1.35 หมื่นสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียน จำนวน 4 ราย ได้แก่ ร้านศึกษาภัณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ร้านน้อมจิตต์ ห้างตราสมอ และร้านสมใจนึก

มีการลดราคาจำหน่ายสูงสุดถึง 70% ซึ่งคาดว่างานดังกล่าวจะมีเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระค่าครองชีพได้กว่า 6,000 ล้านบาท หรือกว่า 30% ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ได้ หวังลดภาระค่าครองชีพช่วงเปิดเทอม โดยมีทั้งสินค้าเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน เช่น ชุดนักเรียน รองเท้านักเรียน เครื่องเขียนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ได้แก่ สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช นมยูเอชที สินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสีฟัน สบู่ ผงซักฟอก และสินค้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องครัว เป็นต้น

หากย้อนกลับไปดูแคมเปญนี้ของกระทรวงพาณิชย์จะพบว่า การมีงานลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ในช่วงเปิดเทอมเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชน เนื่องจากผู้ปกครองและประชาชนจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาได้จัดงานลดราคาสินค้าเครื่องแบบนักเรียนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2558 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-10 พ.ค. 2558 รวม 11 วัน ในปี 2559 ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-15 พ.ค. 2559 รวม 18 วัน และในปีนี้ ระหว่างวันที่ 26 เม.ย.-13 พ.ค. 2561 รวมระยะเวลา 18 วัน

ในช่วงเปิดเทอม 2561 ปีนี้ ผู้ปกครองจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเครื่องแบบนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนบางส่วน จะยังคงไม่ปรับราคาขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.นี้ แต่ผู้ปกครองยังคงต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและราคาพลังงาน ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้ปกครองมีแนวโน้มชะลอลง และมีความระมัดระวังในการจับจ่ายสินค้ามากขึ้น โดยกลุ่มผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการวางแผนก่อนการซื้อสินค้า ปรับลดการใช้จ่าย รวมทั้งชะลอการใช้จ่ายในสิ่งที่ยังไม่จำเป็นออกไป

โรงตึ๊ง กทม.ช่วยค่าเล่าเรียนก่อนเปิดเทอม

ชีวิตเปิดเทอม เพิ่มเติมคือ ‘รายจ่าย’

ด้วยแนวทางดอกเบี้ยต่ำลดปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งนำออกมาใช้ตอนช่วงใกล้เปิดภาคการศึกษาในวันที่ 15 พ.ค. 2561 ทำให้หลายครอบครัวมีความต้องการใช้เงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยซื้อหนังสือและเครื่องแบบนักเรียนให้แก่บุตรหลาน โดยช่วงเวลานี้ผู้ปกครองมักใช้บริการโรงรับจำนำในการหมุนเวียนเงินเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในครอบครัว ซึ่งมีรูปแบบความปลอดภัยได้มาตรฐาน มากกว่าไปกู้นอกระบบขูดรีดดอกเบี้ยแพง

ภาวะความจำเป็นเร่งด่วนนี้ ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประกาศลงนามโดย  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.นี้ กำหนดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำช่วงเปิดเทอมสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ปกครอง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความจำเป็นใช้เงิน โดยให้ลดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำเป็นกรณีพิเศษ ดังนี้

- อัตราดอกเบี้ย 0.50 บาท/เดือน

- วงเงินจำนำต่อ 1 ราย (บุคคล) รวมไม่เกิน 7 หมื่นบาท

สำหรับเอกสารที่ต้องนำมาประกอบในการจำนำเพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ย หรือเมื่อมาชำระดอกเบี้ย แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 นักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนำด้วยตนเอง ต้องนำเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวนักเรียน หรือสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียน ค่าแบบเรียน หรืออุปกรณ์การเรียน ที่ระบุชื่อ-นามสกุล ของนักเรียนตรงกับตัวและบัตรนำมาจำนำได้

กลุ่มที่ 2 ผู้ปกครองเป็นบิดา มารดา ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา นำเอกสารสำเนาสูติบัตร หรือสำเนาหลักฐานแสดงความเป็นบิดา มารดา สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียน ค่าแบบเรียน หรืออุปกรณ์การเรียน ที่ระบุชื่อ-นามสกุล ของนักเรียน

กลุ่มที่ 3 ผู้ปกครองไม่ได้เป็นบิดาหรือมารดาของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ต้องนำเอกสารแสดงสถานะผู้ปกครอง เช่น สมุดประจำตัวนักเรียน (ระบุชื่อผู้ปกครอง) หรือใบรับรองจากสถานศึกษาว่าเป็นผู้ปกครอง และสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียน ค่าแบบเรียน หรืออุปกรณ์การเรียน ที่ระบุชื่อ-นามสกุล ของนักเรียน

นพดล เพิ่มพิทยา ผู้อำนวยการสถานธนานุบาล เปิดเผยว่า ประกาศที่ กทม.ออกมาใช้มีจุดมุ่งหมายให้ความช่วยเหลือนักเรียน นิสิต และนักศึกษาให้ได้เข้ารับการศึกษาต่อโดยไม่ขาดตอน ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ เนื่องจากต้องยอมรับว่ายุคปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครอง หาเงินจุนเจือครอบครัวได้ยากมากขึ้น ดังนั้นการออกโปรโมชั่นเช่นนี้จึงเป็นการช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ คือ 0.50 บาท/ตั๋ว 7 หมื่นบาท/คน ถือว่าช่วยครอบครัวที่กำลังต้องการใช้เงินได้มาก เช่น บางกรณีเด็กนักเรียนหาเงินส่งตัวเองเรียนหนังสือ แม้เขาจะไม่ค่อยมีทรัพย์สินอะไรมาจำนำมูลค่ามากนัก แต่เท่าที่สำรวจเด็กบางคนนำเครื่องดนตรีมาจำนำ เพื่อให้ได้เงินอีกเล็กน้อยก่อนนำไปลงเรียนต่อได้

“ส่วนใหญ่ของที่นักเรียนเอามาจำนำมักเป็นกีตาร์ บางครั้งเป็นเครื่องดนตรีไทยอย่าง ขิม ก็เคยมี ซึ่งของประเภทนี้ราคาขึ้นอยู่กับเนื้อไม้แต่จะได้ราคาไม่เกิน 1,000 บาท และที่ผ่านมา เด็กเหล่านี้ได้มาไถ่ถอนคืนกลับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ผู้ปกครองมักนำทองมาจำนำ จะเป็นช่วงที่มีประชาชนเข้ามามากกว่าปกติ โรงรับจำนำ กทม. จึงได้เตรียมเงินไว้สำหรับเรื่องนี้จำนวน 1,200 ล้านบาทแล้ว คาดว่าเพียงพอต่อความต้องการก่อนเปิดเทอมแน่นอน” นพดล กล่าว

ผู้อำนวยการสถานธนานุบาล กล่าวอีกว่า ความจริงต้นทุนในการออกเงินให้ประชาชนเดิมทีกำหนดไว้ที่ 8% ฉะนั้นโปรโมชั่นที่ออกมาทางสถานธนานุบาลถือว่าขาดทุน แต่เมื่อเทียบกับอัตราเงินฝากยังคุ้มอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นโปรโมชั่นนี้ยังช่วยให้ผู้ปกครองที่จำนำของไว้ก่อนหน้านี้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ยังสามารถนำเอกสารการค่าเล่าเรียนของบุตรมายื่นเรื่องขอลดดอกเบี้ยเข้าสู่เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยพิเศษนี้ได้อีกด้วย

ด้าน พล.ต.ต.อัครชัย พงษ์ศิริ ประธานกรรมการบริหารกิจการสถานธนานุบาล กทม. กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกิจการสถานธนานุบาล กทม. พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานของสถานธนานุบาล กทม. เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและประชาชนที่ใช้บริการดำเนินธุรกรรม ภายหลังเวลา 16.00 น. อาศัยอำนาจตามความในข้อ 11 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของ กทม. เรื่อง สถานธนานุบาล กทม. พ.ศ. 2534

โดยมีมติให้สถานธนานุบาล กทม. จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สถานธนานุบาลมีนบุรี 2.สถานธนานุบาลเทเวศร์ 3.สถานธนานุบาลประดิพัทธ์ และ 4.สถานธนานุบาลวงเวียนเล็ก ขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานเพิ่มเติม ตั้งแต่เวลา 16.00-18.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบราชการกำหนดให้ขยายระยะเวลาได้

อย่างไรก็ตาม หากได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน โรงรับจำนำมีแผนจะขยายเวลาปฏิบัติงานทั้ง 21 สาขา และเตรียมขยายเวลาเปิดทำการในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

โรงรับจำนำ อปท.ก็ร่วมด้วยช่วยกัน 

ชีวิตเปิดเทอม เพิ่มเติมคือ ‘รายจ่าย’

ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา บรรดาสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ลดดอกเบี้ยช่วงเปิดเทอม หวังบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินให้ประชาชน สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ในฐานะประธานกรรมการจัดการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (จ.ส.ท.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการจัดการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มเติมในช่วงเปิดภาคเรียนของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ให้มีเงินทุนหมุนเวียนใช้จ่ายในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ทั้งนี้ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสถานธนานุบาลของ อปท. ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค. 2561 (กำหนดระยะเวลา 2 เดือน) สำหรับเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ต่อเดือน และสำหรับเงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้สถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมตามนโยบาย “ของขวัญปีใหม่ 2561” ของกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม นโยบายเดิมกำหนดว่า เงินต้นที่ไม่เกิน 5,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย 0.50 บาท/เดือน สำหรับเงินต้นเกินกว่า 5,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย 1 บาท/เดือน และสำหรับเงินต้นเกินกว่า 3 หมื่นบาท ที่ปัจจุบันเก็บดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50 บาท/เดือน อัตราดอกเบี้ยก็จะลดลงเหลือร้อยละ 1.0 บาท/เดือน เท่ากับอัตราดอกเบี้ยของเงินต้นที่เกิน 5,000 บาท โดยตั้งแต่ช่วงปีใหม่จนถึงปัจจุบัน

นโยบายนี้ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เดือดร้อนด้านการเงิน ทั้งรายเก่า รายใหม่ ที่เข้ามาใช้บริการของสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้รับการช่วยเหลือในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้วกว่า 2 แสนคน คิดเป็นจำนวนดอกเบี้ยการรับจำนำที่ได้ปรับลดให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านบาท