posttoday

เกือบทั้งประเทศ! ปปท.สรุปพบโกงเงินคนไร้ที่พึ่ง67จังหวัด จนท.เอี่ยวกว่า250ราย

30 เมษายน 2561

ป.ป.ท.สรุปผลตรวจสอบเงินคนไร้คนที่พึ่งทั่วประเทศ พบโกง 67 จังหวัด ไม่พบทุจริต 9 จังหวัด ตั้งอนุกก.ไต่สวนแล้ว 43 จังหวัด คาดมีจนท.เอี่ยวไม่ต่ำกว่า 250 ราย

ป.ป.ท.สรุปผลตรวจสอบเงินคนไร้คนที่พึ่งทั่วประเทศ พบโกง 67 จังหวัด ไม่พบทุจริต 9 จังหวัด ตั้งอนุกก.ไต่สวนแล้ว 43 จังหวัด คาดมีจนท.เอี่ยวไม่ต่ำกว่า 250 ราย

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวภายหลังการประชุมสรุปผลการดำเนินงานตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งว่า จากการดำเนินการตรวจสอบมาตั้งแต่กลางเดือนก.พ. ถึง วันนี้(30 เม.ย.) ตรวจครบเสร็จสิ้นแล้วทั้ง 76 ศูนย์ ใน 76 จังหวัด พบพฤติการณ์ทุจริตของเจ้าหน้ารวม 67 ศูนย์

ทั้งนี้มีเพียง 9 จังหวัดเท่านั้นที่ไม่พบการทุจริต คือ สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช นนทบุรี แพร่ นครสวรรค์ สุโขทัย และ อุตรดิตถ์

โดยทั้ง 67 ศูนย์ บอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว 43 จังหวัด ส่วนที่เหลือวันที่ 3 พ.ค.นี้จะส่งรายชื่อให้บอร์ดป.ป.ท. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯที่เหลือทั้งหมด สำหรับรายชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดิม ป.ป.ท.ส่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ไปก่อนหน้านี้ 156 ราย แต่ล่าสุดตรวจสอบพบเพิ่ม และส่งไปให้ พม.พิจารณาโทษอีก 33 ราย รวม 43 ศูนย์ที่ตั้งอนุกรรมการไต่สวน พบเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องรวม 189 ราย คาดการณ์ว่าหากตั้งอนุกรรมการครบทั้งหมดจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 250 คน

พ.ท.กรทิพย์ กล่าวอีกว่า แผนประทุษกรรมในการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งทั้ง 67 ศูนย์ ลักษณะมีความคล้ายคลึงกันทุกพื้นที่ คือ ขอบัตรประจำตัวประชาชนชาวบ้านโดยอ้างว่าจะเอาไปใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนนำมาใช้ปลอมแปลงเอกสารหลักฐานแล้วนำมาเบิกเงิน ซึ่งเงินที่ได้มาก็จ่ายให้ชาวบ้านบ้างไม่จ่ายบ้าง และเชื่อว่าน่าจะมีการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่ศูนย์ แต่หลักฐานไปไม่ถึงลักษณะขบวนการ สำหรับทั้ง 9 จังหวัด ที่ระบุไม่พบพฤติกรรมการทุจริต ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการทุจริต เพียงแต่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่ลงไปในพื้นที่ 2 ครั้ง ยังไม่พบเอกสารหลักฐาน หรือพยานบุคคลที่นำไปสู่การพิสูจน์ จึงต้องใช้คำว่าไม่พบพฤติการณ์ทุจริต ทั้งนี้ ในส่วนของ จ.สิงห์บุรี ที่ไม่พบการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง แต่ปรากฎพบพฤติการณ์ ทุจริตการจัดซื้อผ้าห่ม ซึ่งตอนนี้กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบอยู่ เพราะจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ที่ลงไปสำรวจ พบเหตุบ่งบอกได้ชัดเจนว่ามีการเตรียมการในเรื่องนี้ไว้แล้ว รวมถึงดูว่าในจังหวัดอื่นมีพฤติการณ์แบบเดียวกันหรือไม่

"การทำการทุจริตแบบนี้ไม่มีใครทำแล้วทิ้งหลักฐานไว้ ซึ่งในทางการตรวจสอบเราไม่สามารถสาวไปถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวโยงกันชัดเจนว่าทำเป็นขบวนการ แต่น่าจะมีการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่ศูนย์ และเลียนแบบพฤติกรรมกันมากกว่า"เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าว

พ.ท.กรทิพย์ ยังกล่าวอีกว่า หลังเสร็จสิ้นการตรวจสอบทุจริตเงินศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ป.ป.ท.จะขยายการตรวจสอบเพิ่มเติมในเฟสที่ 3 ในส่วนของตรวจสอบนิคมสร้างตนเอง/ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง หรือศูนย์ชาวเขา/ศูนย์ประสานงานโครงการฯ/หมู่บ้านสหกรณ์ ซึ่งพบว่ามีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ว่ามีการทุจริต ในงบประมาณส่วนนี้อีกกว่า 100 ล้านบาท โดยผู้อำนวยการศูนย์ที่เกี่ยวข้อง และตำแหน่งไม่เกินระดับ 8 เป็นส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ตรวจสอบของ ป.ป.ท. รวมมีทั้งหมด 28 ศูนย์ ทั้งนี้ ป.ป.ท.วางกรอบระยะเวลาตรวจสอบ 90 วันนับจากวันพรุ่งนี้(1 พ.ค.)เป็นต้นไป