posttoday

กสร.เตือนนายจ้างหากไม่ให้ลูกน้องหยุด "วันแรงงาน" ต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 1 เท่า

30 เมษายน 2561

กรมสวัสดิฯ เตือนนายจ้างวันแรงงานต้องให้ลูกจ้างหยุด ไม่เช่นนั้นต้องจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่า 1 เท่า ไม่ทำมีโทษจำคุก 2 เดือน-ปรับ 1 แสน

กรมสวัสดิฯ เตือนนายจ้างวันแรงงานต้องให้ลูกจ้างหยุด ไม่เช่นนั้นต้องจ่ายชดเชยไม่น้อยกว่า 1 เท่า ไม่ทำมีโทษจำคุก 2 เดือน-ปรับ 1 แสน

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.  นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า วันที่ 1 พ.ค. เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดเป็นวันหยุดตามประเพณี กสร.จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย

แต่หากนายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ งานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องเดิม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติอต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายกับงาน ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะให้หยุดชดเชยในวันอื่นแทนหรือจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้าง โดยจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าของค่าจ้างวันทำงานปกติ สำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดและจ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 2 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดและหากมีการทำงานล่วงเวลา นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่ำจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ให้ลูกจ้างทำ

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยอัตราโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้หากลูกจ้างหรือนายจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ กสร. หรือสายด่วน 1506 กด 3