posttoday

ม้งเมือง 2018 เชื่อมอดีต มองปัจจุบัน เดินสู่อนาคต

28 เมษายน 2561

คนภาคเหนือรู้จักม้งในชื่อ “แม้ว” หรือคนจีนเรียกว่า “เหมียว” ซึ่งในภาษาจีนหมายถึง ต้นข้าวอ่อน หน่อ หรือวัชพืช กับที่นา

โดย พรเทพ เฮง

คนภาคเหนือรู้จักม้งในชื่อ “แม้ว” หรือคนจีนเรียกว่า “เหมียว” ซึ่งในภาษาจีนหมายถึง ต้นข้าวอ่อน หน่อ หรือวัชพืช กับที่นา ถือเป็นคำเรียกชนพื้นเมืองซึ่งเป็นลูกของแผ่นดินและทำนามาอย่างยาวนาน แต่คนไทยนำมาใช้ในเชิงล้อเลียน โดยเปรียบเทียบกับเสียงแมว โดยถือว่าเป็นคนป่าเถื่อน เนื่องจากสมัยก่อนม้งอพยพมาแผ่นดินไทย จะอยู่แต่ป่าเขา ห่างความเจริญ ไม่เหมือนปัจจุบัน แต่แท้จริงกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งมีประชากรในประเทศไทยประมาณกว่า 2 แสนคน และคนม้งมีเส้นทางชีวิตที่มาอย่างยาวนาน

ในปี 2561 สมาคมม้งกรุงเทพและเครือข่าย (Hmong Bangkok and Network Association-HBNA) ได้จัดงานสังสรรค์น้องพี่ 40 ปี ม้งกรุงเทพและเครือข่าย และเปิดตัวสมาคมอย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายตระกูลม้งในประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงที่จะให้ความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กร (MOU) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านการศึกษา การอาชีพ การทำประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงกิจกรรมด้านอื่นๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกลุ่มสู่สาธารณชน

ปัจจุบัน คนม้งจากยอดดอยได้เข้ามาเป็น “ม้งเมือง” จำนวนไม่น้อยและก้าวผ่านพ้นคำหยอกล้อว่า “ม้งพัฒนาแล้ว” มาสู่ความเป็นจริงที่พัฒนาตัวเองและชุมชนที่อยู่อย่างน่าสนใจ

การเดินทางจากอดีตอันยาวไกล

ม้งเมือง 2018 เชื่อมอดีต มองปัจจุบัน เดินสู่อนาคต

 

ใครที่เคยไปเที่ยวถนนข้าวสารหรือแหล่งท่องเที่ยวของไทยในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ มี่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติคับคั่ง มักจะเห็นผู้หญิงชาวม้งจะนำสินค้าของที่ระลึกแบบม้งเดินขายไปในที่ทางเหล่านั้น โดยเฉพาะเสียงกบไม้ที่รูดหลังและได้ยินเสียงกบร้องมาแต่ไกล

ที่มาของการค้าขายในเชิงท่องเที่ยวนี้ เริ่มต้นจากตรอกม้ง หรือตรอกเหล่าโจ๊ว หรือที่คนท้องถิ่นบางคนออกเสียงว่าเล่าโจ๊ว เป็นถนนสายเล็กๆ ใน จ.เชียงใหม่ ที่เป็นศูนย์รวมสินค้างานฝีมือ อุปกรณ์เย็บปักถักร้อย รวมถึงเสื้อผ้าของชนเผ่าต่างๆ ที่มีสีสันสะดุดตา กับรูปแบบไม่เหมือนใคร ซึ่งขายโดยชาวเขาตัวจริง

จากชาวเขาที่เคยขับรถเร่ร่อนขายไปตามเมืองเชียงใหม่จนมีโอกาสได้เปิดร้านเล็กๆ เพื่อขายเสื้อผ้าและสินค้าของชาวเขา ต่อมาก็ได้มีการชักชวนพี่น้องลงมาขายของด้วยกันที่ตรอกแห่งนี้ จนได้ชื่อว่า ตรอกม้ง เนื่องด้วยรายได้ที่ดีกว่าขายพืชผลทางการเกษตร ชาวเขาหลายๆ คนก็เลยอพยพลงมาหาชีวิตที่ดีกว่าในเมืองแห่งนี้

ข้อมูลจากงานวิจัย “ประเพณีของชาวม้ง : กรณีศึกษาชุมชนในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่” (The Traditions of The Hmong : A Case Study of the Hmong Community at The Nong Hoi Royal Project Development Center, Mae Ram Sub-District. Mae Rim District, Chiang Mai Province.) โดย วาทินี คุ้มแสง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าชนชาติม้งน่าจะอพยพมาจากที่ราบสูงทิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลียเข้าสู่ประเทศจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว กษัตริย์จีนในราชวงศ์เหม็งได้ปราบปรามทำให้ชาวม้งยอมจำนนและยอมรับวัฒนธรรมของจีน

แต่ในที่สุดชาวม้งเริ่มอพยพถอยร่นสู่ทางใต้และกระจายเป็นกลุ่มย่อย บางกลุ่มได้เดินทางกลับขึ้นอยู่บนที่สูงป่าเขาในแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา และอีกกลุ่มได้อพยพไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาวบริเวณทุ่งไหหิน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ต่อมานายพลวังปอ ได้รวบรวมม้งและอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณปี 2400 เป็นต้นมา

เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ม้งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และภาคกลางตอนบน ชาวม้ง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ม้งดำ (ม้งเขียว ม้งน้ำเงิน) ม้งด๊าว (ม้งขาว) และม้งลาย (ม้งกั๊วมะบา) ม้งกระจัดกระจายกันอยู่เกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย บางกลุ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ตามพื้นที่ที่ใกล้ความเจริญ

รายงานการวิจัยการปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ในชุมชนเมืองของชาวเขาเผ่าม้ง : กรณีศึกษาเขต อ.เมืองเชียงใหม่ โดย ลีศึก ฤทธิ์เนติกุล ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของม้ง ปัจจุบันมีการใช้วิธีการแบบพื้นบ้านควบคู่กับการใช้วิธีแพทย์สมัยใหม่ วัฒนธรรมการควบคุมทางสังคมที่ใช้ทั้งจารีตประเพณีและการใช้กฎหมายบ้านเมืองนั้น มักมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม

ในด้านศิลปะและการแสดงนั้น ม้งในชุมชนเมืองเชียงใหม่ยังคงรักษาศิลปะดั้งเดิมไว้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่บางส่วนได้ปรับเปลี่ยนการเต้นรำของยุคสมัยปัจจุบันมาใช้ด้วย

ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ วิญญาณต่างๆ และยังมีการปฏิบัติการเซ่นไหว้เช่นเดิม โดยที่ม้งถือว่าการลงมาในเมืองเชียงใหม่เป็นการลงมาทำมาหากินเท่านั้น บ้านพิธีกรรมจริงๆ ก็คือ ชุมชนดั้งเดิม

ในด้านเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงจากการทำการเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพมาสู่การประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน การค้าขายโดยเชื่อมโยงเครือข่ายทางการค้าระหว่างม้งด้วยกันเองกับคนพื้นราบและคนต่างประเทศ ในปัจจุบันการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับคนพื้นราบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถอยู่ร่วมกันได้

ตัวอย่างม้งสู้ชีวิต

ม้งเมือง 2018 เชื่อมอดีต มองปัจจุบัน เดินสู่อนาคต

 

คำว่า “ม้งฮลู้ม้ง” เป็นคำที่ชาวม้งหมายถึง เราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องความช่วยเหลือจากคนม้งที่จบสูงๆ ทำงานดีๆ หรือคนรวยๆ ถ้าเขามีจิตสำนึกเขาก็มาช่วยเหลือเอง เราเชื่อว่าในจิตสำนึกของคนม้งส่วนใหญ่ย่อมไม่ทอดทิ้งคนม้งด้วยกัน สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ “ช่วยเหลือตัวเองก่อน”

ปัจจุบันมีม้งตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนทั้งหมด 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน เลย สุโขทัย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร มีจำนวนไม่น้อยกระจายทำงาน ค้าขายและศึกษาอยู่ในตัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทย

การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการยกระดับทางสังคมของคนม้ง ซึ่งมีหลายคนประสบความสำเร็จและถูกกล่าวขานในสังคมวงกว้างเป็นความภูมิใจของพี่น้องคนม้ง

ในปี 2556 บัณฑิตหนุ่มม้งในชุดครุยถ่ายรูปคู่กับพ่อเป็นใบ้ หลังทำงานเก็บเงินและกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในโลกโซเชียลได้มีการแชร์และส่งต่อภาพสุดประทับใจของ พิศุทธิ์ คีรีธะระกุล หรือ มิน ซึ่งเป็นคนม้ง อาศัยอยู่ที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ที่บ้านประกอบอาชีพทำไร่ทำสวน มีพี่น้อง 5 คน โดยเขาเป็นคนสุดท้อง พิศุทธิ์ได้บวชเรียนตั้งแต่ ป.1-ม.6 ที่วัดปรางค์ จ.น่าน ก่อนที่จะสึกมาเรียนต่อ ปวส. ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสามารถสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย คณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

หมอม้งไทยคนแรก นพ.กันตพงศ์ เล่าลือพงศ์ศิริ หรือ “เต็ง” ในชื่อที่คนแถวบ้านเรียกกันแต่เด็ก จากชีวิตม้งชาวดอย ที่ตามครอบครัวไปทำไร่ที่ จ.เพชรบูรณ์ จบปริญญาใบแรก สาขาพยาบาลและผดุงครรภ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และเข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตอนอายุ 34 ปี จนจบแพทย์ในวัย 40 เมื่อปี 2550 ได้ทำงานเป็นนายแพทย์ 4 กลุ่มภารกิจวิชาการ เวชศาสตร์ สารเสพติด ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด เชียงใหม่

อีกคนคือ วิริยะบัณฑิต คีรีธีระกุล สามารถสอบติดอันดับ 1 ผู้ช่วยผู้พิพากษา รุ่น 66

ทั้ง 3 คน เป็นเพียงตัวอย่างของคนม้งที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมาในรอบไม่กี่ปี แต่ก่อนหน้านั้นก็มีอีกมากมายที่สามารถสร้างตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนม้งรุ่นหลัง

เปลี่ยนภาพลักษณ์ม้ง

ม้งเมือง 2018 เชื่อมอดีต มองปัจจุบัน เดินสู่อนาคต

 

สมาคมม้งกรุงเทพและเครือข่าย หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ที่ได้มาอยู่อาศัย หรือประกอบสัมมาอาชีพ หรือศึกษาเล่าเรียน ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง เช่น สระบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งต้องเป็นจังหวัดที่ไม่มีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง อาศัยอยู่รวมตัวกันเป็นหมู่บ้านอย่างชัดเจน

รศ.ดร.ประหยัด นันทศีล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมม้งกรุงเทพเครือข่าย เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีการรวมตัวของชาวม้งเป็นการรวมตัวของกลุ่มระหว่างนักศึกษารุ่นแรกๆ ที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเป็นสมาคม

“ประมาณปี 2520 เป็นเพียงกลุ่มนักศึกษาม้งกรุงเทพฯ ต่อมาก็ค่อยๆ พัฒนาเป็นชมรมม้งกรุงเทพฯ แล้วก็มีการรวมตัวกันเรื่อยๆ ทุกปี และขยับขึ้นมาจดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา

อย่างนั้นถ้านับเวลารวมแล้วตั้งแต่เริ่มต้นที่ชาวม้งลงมาที่กรุงเทพฯ ก็ประมาณ 40 ปีเต็มแล้วเราก็ถือโอกาสนี้เฉลิมฉลอง 40 ปีของม้งที่ลงมาสู่เมือง และกลายเป็น ‘ม้งเมือง’ และถือเป็นการนับหนึ่งจาก 40 ปี เปลี่ยนจากชมรมมาเป็นสมาคม”

คนม้งรุ่นใหม่ที่เข้าเรียนต่อในเมือง เป็นนักศึกษาที่จะเรียนให้จบเพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด รศ.ดร.ประหยัด มองว่า ปัจจุบันคนม้งที่เข้ามาอยู่ในเมืองก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสิ่งที่รุ่นพี่ๆ ได้ทำและวางรากฐานเอาไว้

“ก็เป็นพื้นฐานที่ดีให้รุ่นพวกผมซึ่งเป็นรุ่นต่อมาได้สานต่อ การดำเนินงานที่ผ่านมาของกลุ่มหรือชมรมเองก็ได้ส่งผลหรือสร้างแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนม้งรุ่นใหม่ๆ ที่อยู่บนดอย ได้เห็นตัวอย่างว่าพี่ๆ เขาไปเรียนแล้วประสบความสำเร็จ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หลายๆ คนพอเห็นตัวอย่างที่ชัดเจน พ่อแม่พวกเขาก็มีทัศนคติในด้านที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเดิมทีชาวม้งมักคิดว่าให้ลูกอยู่บ้านทำไร่จะดีกว่า เพราะไปเรียนไม่รู้จะได้งานที่ดีไหม อะไรแบบนี้ แต่พอเห็นตัวอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ ทัศนคติตรงนี้ของผู้ปกครองชาวม้งก็เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ มีผลต่อการเรียนต่อของเด็กม้งรุ่นใหม่ๆ ที่มีเปอร์เซ็นต์มากขึ้น”

การรับไม้ส่งไม้ระหว่างคนม้งเมืองไปสู่คนม้งบนดอย จากรุ่นต่อรุ่นเห็นได้ชัดจากการไปออกค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งมีการไปสร้างห้องสมุด ห้องน้ำให้โรงเรียน เอาของไปแจกตามหมู่บ้านที่กันดาร และมีการแนะแนวการศึกษาให้เด็กนักเรียนในหมู่บ้าน

“นี่เป็นกิจกรรมที่ทำๆ ไป ผมมองว่าผลิดอกออกผลเพราะคนรุ่นใหม่ๆ เขามีใจในการเรียนหนังสือพอถึงวันหนึ่งเขาก็เข้ามาเป็นทีมงานและร่วมทำกิจกรรมกับชมรม ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาคมแล้ว คิดว่าคนใหม่ๆ เหล่านี้ก็น่าจะเป็นกำลังสานต่องานของสมาคมต่อไปในอนาคต” รศ.ดร.ประหยัด ขยายความ พร้อมบอกถึงเป้าหมายของม้งเมืองว่า

“มีเรื่องสำคัญอยู่ 2 เรื่องที่สมาคมม้งฯ จะทำ คือหนึ่ง-เรื่องการศึกษา กับสอง-เรื่องการประกอบอาชีพ โดยที่เราคาดหวังว่าด้วยการส่งเสริมต่างๆ ที่สมาคมจะทำ ซึ่งช่วยหนุนให้เด็กชาวม้งเรียนจบกันมากขึ้นและหลายๆ คนก็จะเรียนในหลายๆ สาขาที่จะมีส่วนในการพัฒนาสังคมมากขึ้น ผมเชื่อว่าการศึกษาจะมีส่วนในการยกเรื่องคุณภาพชีวิตของคนม้งให้ดีขึ้น”

ม้งเมือง 2018 เชื่อมอดีต มองปัจจุบัน เดินสู่อนาคต

 

แต่ส่วนหนึ่ง รศ.ดร.ประหยัด ก็บอกว่าต้องยอมรับความจริงว่า ที่ผ่านมามีพี่น้องม้งหลายคนไปเกี่ยวข้องกับขบวนการยาเสพติด ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของม้งเองโดยส่วนใหญ่เสียไปเยอะมาก

“เพราะฉะนั้นผมจึงมองเรื่องการศึกษากับการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตรหรืออะไรอื่นๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งสมาคมม้งฯ จะเป็นตัวกลางในการอบรมถ่ายทอดจากผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ผมเชื่อว่าสองปัจจัยนี้ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของม้งให้ดีขึ้น ให้สังคมรู้ว่าจริงๆ ชาวม้งก็ทำสิ่งดีๆ เป็นนะ ซึ่งเราก็ทำมาตลอด

ปัจจุบันภาพลักษณ์ของม้งค่อนข้างจะติดลบในเรื่องของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด ทั้งม้งไทยและม้งลาว โดยคำว่าม้งในความเห็นของผมกลายเป็นสัญลักษณ์ในด้านลบไปเสียอย่างนั้นแล้ว ต้องฟื้นฟูและเปลี่ยนภาพลักษณ์ตรงนี้ให้ได้”

การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของม้งเป็นภาระที่หนักมาก รศ.ดร.ประหยัด มองว่าด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้วางรากฐานผ่านทางโครงการพระราชดำริโครงการต่างๆ ไว้เยอะมาก มีพระราชประสงค์ที่จะทำการช่วยเหลือคนม้งให้ห่างไกลจากยาเสพติดให้มากขึ้น

“สิ่งที่พวกเราทำก็คือการสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่านให้ประสบความสำเร็จและเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ผมเป็นรุ่นกลางที่เชื่อมรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ผมมองว่าคนม้งรุ่นใหม่มีความรู้มากขึ้นออกมาเห็นโลกกว้างมากขึ้น แน่นอนในขณะเดียวกัน ความคิดที่เป็นจิตสาธารณะหรือจิตอาสากลับมีน้อยลงถูกแทนที่ด้วยแนวคิดปัจเจกชนนิยม ต่างคนต่างอยู่ที่มีเยอะมากขึ้น เราก็พยายามเป็นตัวเชื่อมพาน้องๆ ชาวม้งที่มีใจอาสามาร่วมงานเพื่อที่เขาจะได้มาสานต่องานของสมาคมม้งฯ ต่อไป”

การทบทวนอดีตและนับหนึ่งเพื่อฟื้นภาพลักษณ์ของม้งที่ติดอยู่ในด้านมืดที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ทางสมาคมม้งฯ ก็เชื่อมต่อกับนานาชาติอย่างม้งในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย รศ.ดร.ประหยัด บอกว่าเมื่อเขารู้ข่าวก็ให้ความสนใจและจับตามองในหลายๆ โครงการ และเข้ามาร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมกับขับเคลื่อนโครงการในอนาคตให้เพิ่มมากขึ้น

“พี่น้องม้งที่อยู่ในต่างประเทศจะเป็นแหล่งกำลังทุนที่จะช่วยให้โครงการที่เราจะทำหรืองานของคนม้งสำเร็จได้ง่ายมากขึ้น อยากฝากว่าพี่น้องม้งส่วนใหญ่มีใจสู้และสัมมาอาชีพที่สุจริต คนม้งโดยดั้งเดิมเนื้อแท้เป็นคนทำงานหนัก แล้วก็มีความจริงจัง อาจจะมีบางส่วนหรือบางคนที่หลงผิดไปกับขบวนการยาเสพติดเลยทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดี อยากจะให้มองอีกด้านที่ดีด้วย

คนม้งไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ได้ยินหรือได้ฟัง พี่น้องม้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง รัชกาลที่ 9 และราชวงศ์จักรีมากมายมหาศาลในการที่ได้เข้ามาพำนักอาศัยเป็นประชากรในประเทศนี้ เราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ร่วมพัฒนาประเทศไทยตามกำลังตามหน้าที่ตามบทบาทที่ตัวเองมีอยู่อย่างสุจริต ผมเชื่อว่าที่สุดแล้วภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีจะค่อยๆ เลือนไป”