posttoday

"อย."เตรียมตรวจผลิตภัณฑ์ใหม่ 4แสนรายการ วอนคนซื้อต้องรู้เท่าทันด้วย

26 เมษายน 2561

ผู้บริโภคจะต้องรู้เท่าทัน เพราะสินค้าเครื่องสำอาง อาหารเสริมในตลาดมีมากถึงหลายแสนรายการในท้องตลาดขณะนี้

ผู้บริโภคจะต้องรู้เท่าทัน เพราะสินค้าเครื่องสำอาง อาหารเสริมในตลาดมีมากถึงหลายแสนรายการในท้องตลาดขณะนี้

*************************

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

เป็นข่าวที่ครึกโครมอย่างมาก เมื่อเกิดเหตุการณ์เข้าจับกุมบริษัท เมจิก สกิน บริษัทดังที่จำหน่ายเครื่องสำอางและอาหารเสริมอย่างผิดกฎหมาย ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกสาวไส้ไปถึงดาราชื่อดัง บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมที่รับโฆษณาผลิตภัณฑ์ปัญหา รีวิวสินค้าแลกกับเม็ดเงิน ความสวยงามของบุคคลยิ่งทำให้สังคมผู้บริโภคเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ ทั้งๆ ที่ยังไม่อาจการันตีได้ว่าคนสวยคนงามคนหล่อเหล่านั้นใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจริงๆ ในชีวิตประจำวันหรือไม่

เมื่อสูตรผสมไม่ได้ทำให้เกิดผลจริงดั่งโฆษณา การเข้าจับกุมจึงเกิดขึ้น ขณะที่คนเคยใช้ผลิตภัณฑ์เฉกเช่นประชาชนทั่วไป ก็ต้องก้มหน้ารับข้อสงสัย และข้อกังวลว่าจะมีปัญหาใดๆ ตามมาหรือไม่

ประเด็นที่น่าสนใจคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้มีการค้าขายมานานนับปี แต่กลับไม่ได้ออกมาตรวจสอบอย่างทันท่วงที เพราะการโฆษณาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ดูเหมือนจะโฆษณาเกินจริงและไม่สมเหตุผลกับราคาสินค้ามากนัก ทั้ง “กล่องละ 99 บาท น้ำหนักลด 3 กก.ได้ใน 3 วัน” หรือ “ขาวขึ้นทันทีแค่ 5 วัน เห็นผลชัดเจน” สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่น่าจะขัดต่อความเป็นจริง

แต่เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคเอาไว้ก่อนที่จะเกิดปัญหาตามมา หรือหากแต่ปล่อยให้เกิดเรื่องจึงค่อยขยับล้อมคอก

เภสัชกร (ภก.) สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ให้คำตอบกับเรื่องนี้ว่า เจ้าหน้าที่ของ อย. ทำการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในท้องตลาดอยู่เป็นประจำ และบางครั้งก็ถึงกับแอบสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่สงสัยผ่านอินเทอร์เน็ตมาตรวจสอบด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าคนที่ผลิตหรือจำหน่ายอาหารเสริมที่ผิดกฎหมาย ยังคงหลบเลี่ยงและใช้ช่องทางเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ถึงตัว

“มีอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่ใส่เลข อย.มั่วๆ ลงไปเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หรือใช้เลขลงทะเบียนของผลิตภัณฑ์อื่นที่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งแน่นอนว่ามันคือผลิตภัณฑ์เถื่อน หรือแม้แต่การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ขายที่ผิดกฎหมายก็พยายามตรวจสอบผู้ซื้อก่อนด้วย เช่น ขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับเพื่อสอบถามความสนใจ แต่จริงๆ แล้วคือการเช็กว่าผู้ซื้อสนใจจริง หรือเป็นเจ้าหน้าที่แฝงตัวมา” ภก.สมชาย เสริม

แต่กระนั้น ผู้บริโภคเองต้องเท่าทันโดยสามารถกรอกเลข อย.ของผลิตภัณฑ์ผ่านเว็บไซต์ของ อย.เพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ ทั้งเป็นสินค้าจริงที่ได้รับการอนุญาตหรือไม่ หรือเป็นสินค้าที่อยู่ในสถานะอนุญาต หรือถูกเพิกถอนไปแล้ว ซึ่งสำคัญอย่างมากที่ผู้บริโภคจะต้องรู้เท่าทัน เพราะสินค้าเครื่องสำอาง อาหารเสริมในตลาดมีมากถึงหลายแสนรายการในท้องตลาดขณะนี้

“อย.มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากผลิตภัณฑ์ไหนไม่ถูกต้องก็ต้องเข้าไปจัดการทันที รวมถึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ให้ช่วยเหลือปฏิบัติการ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และตำรวจเอง นอกเหนือจากนี้กำลังรอตรวจสอบสินค้าที่จดทะเบียนก่อนปี 2558 ซึ่งมีอยู่ราว 4 แสนผลิตภัณฑ์ เนื่องจากกลุ่มสินค้าเหล่านี้ใกล้ครบรอบการอนุญาตไปแล้ว ก็ต้องมาตรวจสอบดูว่าผลิตภัณฑ์ยังได้มาตรฐานอยู่หรือไม่”รองเลขาธิการ อย. ย้ำ

แหล่งข่าวจากวงการตำรวจนายหนึ่ง ขยายความว่า กลุ่มเจ้าของผลิตภัณฑ์อาจผลิตสินค้าขึ้นมาอย่างไม่มีมาตรฐาน และเร่ขายด้วยกลยุทธ์ที่บุกตลาดอย่างรวดเร็ว จ้างดารานักร้องมาเป็นพรีเซนเตอร์เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือว่า “ของดี ดารายังใช้” คนที่ขาดการพิจารณาให้รอบคอบก็เลยตกเป็นเหยื่อ และยังไม่รู้ชัดแจ้งทีเดียวว่าสินค้าดังกล่าวมันดีจริงหรือไม่

“เขาใช้ความเร็วและทุ่มเงินก้อนหนึ่งหลักพันหรือหลักหมื่นบาท เพื่อจ้างคนสวยคนหล่อมารีวิวสินค้า ทั้งพริตตี้หรือดาราที่อาจไม่ต้องดังมากก็ได้ เพราะคนที่ดังๆ อาจจะไม่รับรีวิว มันคุ้มเพราะหน่วยงานรัฐบางทีก็ไม่เห็น หรือปล่อยปละละเลยไม่อยากตรวจสอบหากไม่มีคนร้องเรียน เพราะเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เยอะมากพอที่จะสอดส่องได้หมด แต่ถ้าเจอผิดจังๆ หรือสงสัยว่ามันเกินความจริงไป ก็ต้องจับกุม ต้องตรวจสอบ” นายตำรวจคนเดิมอธิบาย

กระนั้น เขายังสำทับทิ้งท้ายว่า ปัญหาอีกประการคือผู้บริโภคที่ขาดความรอบคอบในการตรวจสินค้า โดยเฉพาะการเช็กว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทั้งอาหารเสริม ยา ครีมต่างๆ ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายหรือให้โฆษณาอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจริงๆ ก็เช็กได้ง่ายดายผ่านเว็บไซต์ของ อย. แต่หากในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับกันว่าคงไม่มีใครมาตรวจสอบก่อนจะซื้อสินค้าเป็นแน่ เพราะเพียงแค่เห็นตรารับรอง หรือตรา อย. ก็คิดได้แล้วว่าปลอดภัย ทั้งๆ ที่จริงยังมีการปลอมแปลงอยู่จำนวนมาก