posttoday

สถ.มุ่งมั่นก.ย.นี้80%ครัวเรือนไทยช่วยคุ้มครองโลกด้วยขยะเปียก

25 เมษายน 2561

กรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมุ่งมั่นในก.ย.นี้80%ของครัวเรือนไทยจะช่วยคุ้มครองโลกด้วยถังขยะเปียกทุกวัน

กรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมุ่งมั่นในก.ย.นี้80%ของครัวเรือนไทยจะช่วยคุ้มครองโลกด้วยถังขยะเปียกทุกวัน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการดูแลรักษาโลกในวันคุ้มครองโลก เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561โดยกำหนดแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของประเทศ เน้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน ที่เป็นการคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป โดยกรมฯ ตั้งเป้าหมายในการนำแนวคิดเรื่องการจัดทำ "ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน" ที่ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยนำหลักการ 3Rs หรือ 3ช : Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะ รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยเด็กให้รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชน ที่มีเป้าหมายในการดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2561 ในการเร่งรณรงค์ให้มีถังขยะเปียกครัวเรือนไม่น้อยกว่า 80% ของครัวเรือนทั้งหมด (ไม่รวม กทม.) และยังได้ริเริ่มโครงการ “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” (อถล.) ที่ขณะนี้ มีประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าสมัครร่วมแล้วกว่า 1.2 ล้านคน เพื่อร่วมกันทำความดีทดแทนแผ่นดิน ส่งเสริมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง

การจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือน จะช่วยทั้งการลดปัญหาขยะเน่าเหม็น ที่เป็นที่รังเกียจของผู้คน ยังมีผลพลอยได้คือทำให้ได้ปุ๋ยหมักไว้บำรุงดิน ปลูกผักผลไม้ให้งอกงามได้อย่างดี โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อหา ทั้งยังช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย เพราะหากลดขยะเปียกได้ 1 ตัน จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ 2.53 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และถ้าลดขยะเปียกได้ 10,000 ตัน ก็จะลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ถึง 25,300  ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเลยทีเดียว

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "แนวทางการจัดทำข้อมูลก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว 5 รุ่น เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Carbon Footprint for Organization : CFO) และการรายงานข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง (City Carbon Footprint : CCF) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ เพราะจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน เกิดจากการสะสมของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่ก็มาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะบริหารจัดการการจัดทำข้อมูลก๊าซเรือนกระจก เพื่อประเมินศักยภาพและนำไปวางแผนการพัฒนาเมืองควบคู่กับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง