posttoday

คพ.เตือนภัยปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี

21 เมษายน 2561

กรมควบคุมมลพิษแจ้งเตือนฝั่งอ่าวไทยน้ำทะเลเปลี่ยนสีอาจเกิดอาการคันระคายเคืองผิวหนังเลี่ยงบริโภคสัตว์น้ำ

กรมควบคุมมลพิษแจ้งเตือนฝั่งอ่าวไทยน้ำทะเลเปลี่ยนสีอาจเกิดอาการคันระคายเคืองผิวหนังเลี่ยงบริโภคสัตว์น้ำ

เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2561 นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. ได้แจ้งเตือนประชาชนที่ประกอบกิจกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ให้ระมัดระวังการประกอบกิจกรรมทางน้ำเมื่อเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี ซึ่งจะพบในบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยพบบ่อยใน จ.ระยอง ช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน และในบริเวณ จ.ชลบุรี ช่วงเดือนพฤษภาคม - กันยายน ของทุกปี เมื่อเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี แพลงก์ตอนพืช (สาหร่ายขนาดเล็ก) จะมีปริมาณมากบริเวณผิวน้ำ ทำให้แสงแดดส่องไปสู่ใต้น้ำได้น้อยลง อีกทั้งเมื่อแพลงก์ตอนพืชตายลงและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนในการย่อยสลาย ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำน้อยจนเกิดภาวะขาดออกซิเจนทำให้น้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น สัตว์น้ำบริเวณนั้นขาดออกซิเจนและอาจตายได้ เกิดผลกระทบกับการท่องเที่ยว และการประมง โดยผู้ประกอบกิจกรรมทางน้ำควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางน้ำเมื่อสังเกตเห็นน้ำทะเลเปลี่ยนสี เพราะอาจเกิดอาการคันและระคายเคืองต่อผิวหนังได้ และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคสัตว์น้ำที่จับจากบริเวณที่เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี เนื่องจากสัตว์ทะเลอาจกินแพลงก์ตอนบางชนิดที่ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจปวดท้องและท้องเสียได้

นางสุณี กล่าวว่า ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากแพลงก์ตอนพืชที่อาศัยอยู่ในน้ำทะเลมีการเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมชุมชน เกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งแสงแดดและอุณหภูมิของน้ำ ทำให้แพลงก์ตอนพืชเติบโตอย่างรวดเร็ว เรียกว่า "แพลงก์ตอนบลูม" ส่งผลให้น้ำทะเลบริเวณนั้นเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ ผิดไปจากธรรมชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของแพลงก์ตอนพืช โดยส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยคือ น้ำทะเลมักเปลี่ยนเป็นสีเขียวและสีน้ำตาลแดง

นางสุณี กล่าวต่อว่า แนวทางการจัดการปัญหาการเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี สามารถทำได้โดย  1. กำหนดมาตรการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่ให้มีการระบายปริมาณสารประกอบไนเตรทและฟอสเฟตมากเกินไป 2. ควรมีการเข้มงวดในการควบคุม กำกับ ดูแลการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากเกษตรกรรม ชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม และ 3. ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพดิน ชนิดพืช เวลาที่ต้องการ รวมทั้งวิธีการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง ทั้งนี้ การจัดการปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนที่ประกอบกิจกรรมทางน้ำ เพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหาที่จะเกิดจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี