posttoday

อนุรักษ์เพื่อพัฒนา จากยอดเขาสู่ท้องทะเล ที่ ‘อ่าวคุ้งกระเบน’

21 เมษายน 2561

จันทบุรีเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย อนัญญา มูลเพ็ญ

 จันทบุรีเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเสน่ห์ดึงดูดทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ความงดงามของธรรมชาติ บรรยากาศของสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผู้คนหลากเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว และที่สำคัญที่นี่เป็นแหล่งปลูกทุเรียนนานาพันธุ์ที่ล่าสุด รัฐบาลจะผลักดันให้เป็นมหานครผลไม้เมืองร้อนในระดับโลก

 นอกจากนี้ จันทบุรียังเป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ปัจจุบันเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ด้านการประมงและเกษตรที่สำคัญของประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษา ทั้งจากชุมชนโดยรอบและจากพื้นที่อื่นทั่วประเทศ รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนติดหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.จันทบุรี

ตามรอยพระบาท ในหลวงรัชกาลที่ 9 

อนุรักษ์เพื่อพัฒนา จากยอดเขาสู่ท้องทะเล ที่ ‘อ่าวคุ้งกระเบน’

 ใครที่เคยไปเที่ยวสถานที่ที่สวยงามแห่งนี้ ต้องนึกไม่ถึงแน่นอนว่าอ่าวคุ้งกระเบนที่ครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริในคราวเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ จ.จันทบุรี ในเดือน ธ.ค. 2524  ให้ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ขึ้น

 ตลอด 36 ปี โครงการพัฒนาอันเนื่องจากพระราชดำริและของหน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมจนกลับมาสวยงามอย่างปัจจุบัน 

 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ  ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็น 1 ใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตั้งอยู่ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งเกิดขึ้นเนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องมีตัวอย่างของความสำเร็จ เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการทำการเกษตร การประมง อย่างมีหลักวิชา เผยแพร่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไปสู่ประชาชนแต่ละท้องที่ ด้วยวิธีการที่เข้าใจได้ง่าย นำไปปฏิบัติได้จริง ผ่านการสาธิตและฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ

 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั้ง 6 แห่ง ดำเนินการศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ภูมิสังคม และสภาพปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ท้องถิ่น ซึ่งในส่วนของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จ.จันทบุรี นั้น ก็มีภารกิจหลักคือการศึกษาการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านประมงชายฝั่ง

 เนื่องจากสภาพปัญหาของพื้นที่ก่อนตั้งโครงการเมื่อปี 2524 นั้น ทรัพยากรชายฝั่งทะเลมีสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนักจากทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าบกและป่าชายเลน การจับสัตว์น้ำมากเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติและพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากน้ำทะเลเอ่อล้น

 การอำนวยความสะดวกของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ทำให้เราได้ฟังรายละเอียดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ และได้เห็นถึงพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9  ที่แนวทางการพัฒนาของพระองค์นั้นทรงเน้นให้เราอยู่กับธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติแก้ไข และช่วยเหลือธรรมชาติ

ฟื้นฟูเยียวยา อนุรักษ์พัฒนา

อนุรักษ์เพื่อพัฒนา จากยอดเขาสู่ท้องทะเล ที่ ‘อ่าวคุ้งกระเบน’

 นเรศ แสงอรุณ นักวิชาการประมง ประจำศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85,235 ไร่ พื้นที่รอบอ่าวคุ้งกระเบน 4,000 ไร่ พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ 57,025 ไร่ และพื้นที่ขยายผล 24,210 ไร่ โดยการดำเนินงานประกอบด้วยการศึกษา ทดลองและวิจัย ครอบคลุมทั้งด้านประมง ปศุสัตว์ ป่าไม้และสัตว์ป่า งานปรับปรุงบำรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำ

 เมื่อได้ความรู้แล้ว ก็นำองค์ความรู้เผยแพร่สู่ประชาชนผ่านการฝึกอบรมหรือช่องทางต่างๆ โดยการทำงานของศูนย์ ยึดหลักการทำงานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานมา คือ การพัฒนาจากยอดเขาสู่ท้องทะเล อนุรักษ์เพื่อการพัฒนา

 นเรศ กล่าวว่า การพัฒนาที่เริ่มจากยอดเขาได้ถ่ายทอดลงไปสู่ภารกิจสำคัญ ที่ดำเนินมาตั้งแต่แรกตั้งโครงการจนยังผลเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน อย่างการฟื้นฟูผืนป่า ด้วยงานเขตห้ามล่าสัตว์คุ้งกระเบน ภารกิจในส่วนนี้ประกอบไปด้วยการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าตามแนวภูเขา 11,370 ไร่ ให้คงสภาพสมบูรณ์ โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งการปลูกป่า การปลูกหญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ

 “มีการจัดสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) ตามแนวพระราชดำริ เพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำ สร้างความชุ่มชื้น กักเก็บตะกอนไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำตอนล่าง และเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า เมื่อฟื้นฟูป่าขึ้นมาได้แล้วก็มีการจัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าบก เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้  โดยงานฟื้นฟูผืนป่านี้ได้เปลี่ยนป่าภูเขาที่ถูกบุกรุกจนเป็นภูเขาหัวโล้นให้กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์”

 ขณะที่งานฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนก็ดำเนินการมาพร้อมกัน นเรศ บอกว่า ทำทั้งส่วนงานอนุรักษ์ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ 610 ไร่ รอบอ่าวคุ้งกระเบนและปลูกป่าเพิ่มเติมอีก  690 ไร่

 “เปลี่ยนพื้นที่ชายเลนที่แทบไม่มีต้นโกงกางเหลือในอดีต เป็นผืนป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดใน จ.จันทบุรี พื้นที่รวม 1,300 ไร่ ซึ่งในงานด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลนนี้มีการศึกษาวิจัยพันธุกรรมพืช เพื่อนำไปดำเนินการในพื้นที่ขยายผลด้วย”

 นเรศ กล่าวต่อว่า ถัดจากการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าซึ่งเป็นต้นน้ำ ถัดลงมาคือการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นราบ โดยการทดสอบพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ข้าวพันธุ์ดี การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การปลูกผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ควบคู่ไปกับงานพัฒนาดินและปศุสัตว์เพื่อเป็นอาชีพให้ประชาชนมีทางเลือกของอาชีพและรายได้

อนุรักษ์เพื่อพัฒนา จากยอดเขาสู่ท้องทะเล ที่ ‘อ่าวคุ้งกระเบน’

 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภูมิสังคมของ จ.จันทบุรี เป็นพื้นที่ที่ประชาชนประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง ทำให้ภารกิจสำคัญของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้เน้นหนักที่งานด้านการประมง ที่นี่มีการทดลองและสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น การเลี้ยงกุ้งทะเลและปลาน้ำกร่อย 

 “ที่ผ่านมางานด้านการส่งเสริมบางส่วนก็พบกับปัญหา เช่น กรณีใน 2530  ได้มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมรอบอ่าวคุ้งกระเบน จำนวน 728 ไร่ ให้ราษฎรประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล แต่ต่อมาพบปัญหาคือการปล่อยน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้งลงสู่อ่าวคุ้งกระเบนจนเกิดมลภาวะตามมา” นเรศ กล่าว

 ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาครั้งนั้นเมื่อปี 2542 โดยการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงกุ้งทะเล ด้วยระบบชลประทานน้ำเค็มรอบอ่าวคุ้งกระเบน เพื่อจัดหาน้ำทะเลคุณภาพดีวางระบบการบำบัดน้ำก่อนลงสู่ทะเล มีการให้ความรู้กับผู้เลี้ยงเพื่อให้กุ้งได้มาตรฐาน CoC/GAP  ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มชาวประมงอยู่ภายใต้โครงการนี้ 208 ครัวเรือน พื้นที่การเลี้ยง 1,083.50 ไร่ ได้ผลผลิตเป็นกุ้งทะเลปีละ 3,000-5,000 ต้นมูลค่า 400-500 ล้านบาท/ปี

 นเรศ แจงภาพตรงนี้ว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เคยเกิดขึ้นจากการทำการประมงชายฝั่ง ทำให้ศูนย์มีงานการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยติดตามและตรวจสอบบริเวณคลองบำบัดน้ำทิ้งและในอ่าวคุ้งกระเบนจำนวน 12 ครั้ง/ปี

 “ปัจจุบันคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและมีการนำวิธีธรรมชาติช่วยธรรมชาติเข้ามาใช้ โดยการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงหอยนางรม เพื่อช่วยบำบัดน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเล ด้วยวิธีธรรมชาติ และสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 455.93 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

 นอกจากนี้ ยังมีงานส่งเสริมการประมงส่วนอื่น เช่น การสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดินและกระชัง ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มประมงพื้นบ้าน เพื่อร่วมมือกันในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ จัดทำโครงการธนาคารปูม้า เพื่อเพิ่มปริมาณทรัพยากรปูม้าทั้งในและนอกอ่าวคุ้งกระเบน

อนุรักษ์เพื่อพัฒนา จากยอดเขาสู่ท้องทะเล ที่ ‘อ่าวคุ้งกระเบน’

 ทั้งหมดนี้ทำไปพร้อมกับงานอนุรักษ์ปะการังธรรมชาติและหอยมือเสือ บริเวณทะเลหน้าอ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่ใกล้เคียง จัดสร้างที่อยู่อาศัยสัตว์ทะเล (ปะการังเทียม) และซั้งเชือก เพื่อให้สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ได้เข้ามาอยู่อาศัย”

 นเรศ อธิบายต่อว่าผลสำเร็จจากงานด้านต่างๆ ทั้งการฟื้นฟู อนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรชายฝั่งให้ยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ ได้รับการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งประชาชนทุกคนเข้าถึงไปเที่ยวเยี่ยมชมได้ 

 “ในป่าชายเลนที่ได้รับการฟื้นฟูจนเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุด ได้มีการจัดสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลนและพักผ่อนหย่อนใจระยะทาง 1,793 เมตร  และในช่วงกลางเดือน ต.ค.ถึงกลางเดือน มี.ค.ทุกปี มีบริการให้พายเรือคายักในพื้นที่ป่าโกงกางรวมระยะทาง 2,509 เมตร” 

 เรื่องราวเกร็ดความรู้ภายใต้การทำงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ยังมีอีกมาก รอให้ผู้ที่รักการท่องเที่ยวเชิงการพัฒนาและเชิงธรรมชาติไปเรียนรู้ ไปสัมผัสในองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มไว้ 

 ว่าไปแล้วอ่าวคุ้งกระเบนเป็นเพียง 1 ใน 6 ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ และ 1 ใน 4,741 โครงการในพระราชดำริ ที่พระองค์ริเริ่มและทรงค้นคว้าจนตกผลึกเป็นองค์ความรู้นับไม่ถ้วนไว้ให้เป็นสมบัติคนไทยทุกคน

 องค์ความรู้ทั้งหลายกระจายอยู่ทั่วทุกหนแห่งของประเทศ มีค่ายิ่งว่าบ่อน้ำมันหรือบ่อเพชรบ่อพลอย เพราะความรู้นั้นยิ่งใช้ยิ่งเพิ่มไม่มีวันหมด รอก็แต่เพียงให้คนไทยใส่ใจศึกษาอย่างจริงจัง และร่วมกันรักษาสืบสาน ต่อยอดองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริให้เป็นฐานการพัฒนาประเทศให้เจริญอย่างมั่นคง