posttoday

ป.ป.ส.เผยตรวจทหารเกณฑ์ปี61เจอสารเสพติด12,000คน

19 เมษายน 2561

ป.ป.ส.สรุปผลตรวจปัสสาวะทหารเกณฑ์ปี 61 เจอสารเสพติดกว่า 12,000 คน ทยอยส่งตัวเข้าเข้าบำบัดโรงพยาบาลท้องที่-ค่ายทหารฯ

ป.ป.ส.สรุปผลตรวจปัสสาวะทหารเกณฑ์ปี 61 เจอสารเสพติดกว่า 12,000 คน ทยอยส่งตัวเข้าเข้าบำบัดโรงพยาบาลท้องที่-ค่ายทหารฯ

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นายศิริทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการป.ป.ส. เปิดเผยถึงผลการตรวจสารเสพติดในปัสสาวะของชายไทยที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารปี 2561 ว่า ขณะนี้มีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบฐานข้อมูลของป.ป.ส.แล้ว 709 อำเภอ ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยมีการเกณฑ์ทหาร 182,910 คน พบสารเสพติด 12,209 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.7 ในจำนวนดังกล่าวแยกเป็นผู้เสพยาบ้า 11,139 คน กัญชา 750 คน และสารเสพติดประเภทอื่น 213 คน ถูกส่งเข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว 7,174 คน โดยส่งเข้ารับโปรแกรมบำบัดในโรงพยาบาล . 2,146 คน ส่งเข้าบำบัดในค่ายทหาร 5,028 คน ส่วนที่เหลืออีก 5,035 คน ยังอยู่ระหว่างการจัดส่งตัวเข้ารับการบำบัดรักษา สำหรับผู้ที่ตรวจพบสารเสพติดที่ถูกเกณฑ์ทหาร 3,128 คน จะได้รับการบำบัดในขณะที่เข้ารับการฝึก อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่พบผู้เสพสารเสพติดมากที่สุดคือ กาฬสินธุ์ 678 คน นราธิวาส 609 คน และสงขลา 592 คน

นายศิรินทร์ยา กล่าวอีกว่า สำหรับผลการตรวจปัสสาวะทหารกองเกิน ปี 61 ระหว่างวันที่ 1-12 เม.ย.ที่ผ่านมา จะมีการลงข้อมูลผู้ใช้สารเสพติดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 เม.ย.นี้ โดยผู้ที่เข้ารับการคัดเลือกจะถูกตรวจปัสสาวะทุกราย ยกเว้นผู้ที่ขอผ่อนผัน ภายในปี 2561 นี้ ป.ป.ส.กำหนดเป้าหมายในการตรวจหาสารเสพติดไว้ที่ 516,240 คน ในส่วนของผลการดำเนินงานในปี 60 มีการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด 380,746 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 493,140 คน พบสารเพสติดในปัสสาวะผู้รับการเกณฑ์ทหาร 30,089 คน คิดเป็นร้อยละ 7.9 โดยจังหวัดที่พบผู้ใช้สารเสพติดมากที่สุดคือ สงขลา 1,836 คน อุดร 1744 และอุบล 1,547 คน

“สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ใช้สารเสพติดที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารนั้น ทางป.ป.ส กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกันกันแล้วว่า กรณีที่ตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะแล้วถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นทหารเป็นหน้าที่ของค่ายทหารฝึกทหารเกณฑ์ใหม่จะต้องเข้ารับการบำบัดในค่ายทหารนั้นๆ ในผลัดแรก ส่วนกลุ่มจับใบดำและไม่ต้องเป็นทหาร ทางป.ป.ส.หน่วยงานทหารแต่ละภาคจะทำบันทึกทะเบียนประวัติ แล้วส่งเข้ารับการบำบัดรักษาตามภูมิลำเนาและส่งเข้าศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในแต่ละจังหวัดเป็นเวลา 13 วัน หลังจากสิ้นเดือนเม.ย.นี้”นายศิรินทร์ยากล่าว

เลขาธิการป.ป.ส. ระบุด้วยว่า ผู้ที่เข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจและผ่านการคัดกรองจากศูนย์คัดกรองของโรงพยาบาลประจำพื้นที่ จะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา และไม่มีการทำบันทึกทะเบียนประวัติ ตามคำสั่งคสช.ที่ 108 ถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษา ส่วนผู้ที่ไม่มารายงานตัวเข้ารับการบำบัดหรือไม่ผ่านการคัดกรองก็จะถูกส่งตัวเข้าบังคับบำบัดตามโปรแกรมของกรมคุมประพฤติ ในกรณีที่ผ่านการบำบัดแล้วไม่กลับไปเสพซ้ำก็จะถูกลบประวัติออกจากทะเบียนประวัติ