posttoday

อธิบดีสถ.ชวนมอบความรักให้ผู้สูงอายุในวันปีใหม่ไทย

13 เมษายน 2561

อธิบดี สถ. ใส่ใจผู้สูงอายุ ขอเยาวชนกตัญญู ชวนมอบความรักให้ผู้สูงอายุในปีใหม่ไทย

อธิบดี สถ. ใส่ใจผู้สูงอายุ ขอเยาวชนกตัญญู ชวนมอบความรักให้ผู้สูงอายุในปีใหม่ไทย

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 28 ในปี 2574

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกรณีประเทศไทย จะก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถตอบสนองต่อสภาพปัญหาของผู้สูงอายุในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงได้จัดทำโครงการ “มหาดไทยห่วงใย ใส่ใจผู้สูงอายุ” โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ประกอบด้วยกิจกรรมจำนวน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านการบริการทางสังคม ด้านการปรับสภาพแวดล้อม รวมทั้งได้เน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เช่น ศูนย์บริการผู้สูงอายุ การบริการขั้นพื้นฐาน ด้านสังคม การแพทย์ สาธารณสุข และคุณภาพชีวิต การจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ ขีดความสามารถของผู้สูงอายุ ในลักษณะที่คล้ายกับสถานศึกษา หรือจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ในการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ เพื่อพบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น และยังได้สร้างความรัก ความสามัคคีกันในชุมชนด้วย

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า กรมฯ ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม ภายใต้หลักคิดที่ว่า ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์สูง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบการดำเนินการด้านผู้สูงอายุ อำเภอละ 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 878 อำเภอ ซึ่งกรมฯ ได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรฐานการดำเนินการด้านผู้สูงอายุใน 5 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริมการเข้าถึงและพัฒนาการจัดบริการการศึกษา และการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่เหมาะสม มีกิจกรรมรณรงค์ให้สังคมหรือชุมชนตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมการเป็นผู้สูงอายุ และมีจิตสำนึก และตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ เช่น การถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับคนทุกวัย

2. ด้านส่งเสริมการพัฒนาผู้สูงอายุ ก็ให้มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในรูปแบบที่หลากหลายเหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ กิจกรรมนันทนาการ ส่งเสริมการฝึกอาชีพและจัดหางานที่เหมาะสมกับวัย การจัดทำทะเบียนผู้สูงอายุ หรือการสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุ

3. ด้านการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ที่ให้ผู้สูงอายุรับสวัสดิการด้านรายได้พื้นฐาน เช่น เบี้ยยังชีพ จัดตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

4. ด้านการบริหารจัดการเพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุและการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ โดยการจัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลผู้สูงอายุ ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรด้านผู้สูงอายุเข้าฝึกอบรมกับหน่วยงานที่มีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และ 5. ด้านการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุ ที่จัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุให้ถูกต้องและทันสมัย มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุในสอดคล้องกับแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ

สำหรับการการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนั้น กรมฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 4 กระทรวง (กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข) โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับมอบหมายในด้านการส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัย (Social Security) ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้มาตรการที่เกี่ยวข้อง โดยการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมในฐานพลเมือง สนับสนุนการจัดกิจกรรมสายสัมพันธ์ในครอบครัว ที่มีกิจกรรมด้านการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้านการบริการทาง และด้านการปรับสภาพแวดล้อม สำหรับด้านการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านกายภาพ ที่พักอาศัย อาคารสถานที่สาธารณะที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 และมติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ในการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน อย่างน้อย 5 ประเภท ได้แก่ ทางลาด ห้องน้ำ ป้ายสัญลักษณ์ ที่จอดรถ และปรับปรุงช่องทางการบริการของรัฐให้แก่ผู้สูงอายุ

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อไปอีกว่า ทางด้านสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เป็นภารกิจที่ กรมฯ ได้รับการถ่ายโอนภารกิจเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาจากกรมประชาสงเคราะห์ (ปัจจุบันคือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ ระหว่าง 60 - 69 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาท ผู้สูงอายุที่มีอายุ ระหว่าง 70 - 79 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ 700 บาท ผู้สูงอายุที่มีอายุ ระหว่าง 80 - 89 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ 800 บาท และผู้สูงอายุที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท ซึ่งกรมฯ ก็ได้จัดสรรงบประมาณโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ ประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 3 ไตรมาส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายสุทธิพงษ์ได้ฝากถึงผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ช่วยให้ความสำคัญในการรณรงค์ส่งเสริมให้ลูกหลานเยาวชน เป็นคนที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี ญาติผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุทุกคน ว่าเป็นผู้มีคุณูปการช่วยสร้างชีวิต สร้างสังคม และพัฒนาประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ขอให้ทุกคนช่วยกันให้ความรัก ความอบอุ่นต่อผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่นให้มากๆ และขออัญเชิญพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2554 ที่นครนายก ต่อครูผู้เกษียณอายุราชการว่า "ขอให้เกษียณอายุราชการได้ แต่ขออย่าเกษียณจากการทำงาน"ขอให้ใช้ประสบการณ์ ภูมิปัญญาและความสามารถที่ตนเองมี ช่วยเหลือท้องถิ่น ให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ เป็นหลักชัยให้กับลูกหลานตลอดไป