posttoday

"อัยการปรเมศวร์" ชี้ทางออกกรณีบ้านพักตุลาการ คืนผืนป่าเรียกศรัทธาประชาชน-ใครมาอยู่ก็ไม่เป็นสุข

12 เมษายน 2561

รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด เเสดงความคิดเห็นกรณีข้อพิพาทบ้านพักตุลาการ เชิงดอยสุเทพ แนะคืนผืนป่าเพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด เเสดงความคิดเห็นกรณีข้อพิพาทบ้านพักตุลาการ เชิงดอยสุเทพ แนะคืนผืนป่าเพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กเเสดงความคิดเห็นกรณี ข้อพิพาทเรื่องโครงการก่อสร้างบ้านพักและอาคารชุดของข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เนื้อหาทั้งหมดระบุว่า

หลังจากที่ได้ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ครม.เกี่ยวกับ “บ้านพักตุลาการ" เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า “พื้นที่ส่วนแรกจัดตั้งสำนักงานศาลยุติธรรม

พื้นที่ส่วนที่สองก่อสร้างสถานที่พัก ที่มีปัญหาอยู่เนื่องจากประชาชนไม่เห็นด้วย

และพื้นที่ส่วนที่สาม ส่วนนี้ทำอะไรไม่ได้ถึงจะมีการขออนุญาต” ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่ายังมีส่วนที่อื่นอีกเหรอครับ อยู่ตรงไหนขึ้นไปข้างบนอีกหรือเปล่า แต่ช่างมันเถอะ เอาเป็นว่าผมขอเสนอมุมมองเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจร่วมกันของทรัพย์สินของคนทั้งชาติ

ลองเปิดใจฟังดูนะอย่าให้ถึงกับต้องนำไปสู่การเตรียมรวบรวมรายชื่อถวายฎีกาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเลยครับ รบกวนเบื้องพระยุคลบาทของท่านเปล่าๆ ปัญหาเกิดจากพวกเรา เรามาช่วยกันแก้ดีกว่า

ในประการแรก โครงการนี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วก่อนหน้านี้ และอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ได้เคยแถลงชี้แจงความโปร่งใสในการก่อสร้างไปแล้วเมื่อวันที่ ๙ มิ.ย.๒๕๕๙ แต่ก็ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งมาคัดค้านตอนใกล้จะเสร็จ แต่ที่เสียงคัดค้านไม่ได้รับความสนใจก็เนื่องจาก ๒ ปีที่แล้วบ้านเมืองอยู่ในภาวะความน่าหวาดกลัว

ประการที่สอง ถ้าเรามาพิจารณาส่วนได้เสียก็จะพบว่า “ผืนป่า” ที่เดิมมีสภาพเขียวขจีถูกปรับพื้นที่ให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยไปแล้วมากกว่า ๑๐๐ ไร่ หากคิดเป็นค่าเสียหายตามที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานเขาคิดค่าเสียหายจากชาวบ้านที่บุกรุกป่าตามหลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เคยชี้แจงองค์ความรู้นี้ให้กับผู้พิพากษาเพื่อประกอบการพิจารณาคดีในระหว่างการประชุมและสัมมนาของผู้พิพากษา ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ถึง ๒๕๕๒) โดยกำหนดการทำลายป่าไม้ในพื้นที่ ๑ ไร่ จะก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย ๑๕๐,๙๔๒.๗๐ บาท ดังนั้น ๑๐๐ ไร่ ของบ้านพัก หากเป็นความเสียหายต่อป่าไม้ ก็เป็นเงินประมาณ ๑๕,๐๙๔,๒๗๐ บาท

แต่ถ้าเราเอาป่ากลับคืนมาได้ ก็เท่ากับเราได้รับการชดใช้ความเสียหายทางธรรมชาติประมาณกว่า ๑๕ ล้านบาท และจะได้ความสมบูรณ์ในทางนิเวศน์ในอนาคตอีกมากมาย เมื่อเปรียบเทียบค่าก่อสร้างที่ใช้สร้างบ้านพักก็ประมาณ ๖๐๐-๙๐๐ ล้านบาทที่เราเสียไปแล้ว และถ้าเรารื้อมันไปจะคุ้มค่ากันหรือไม่ จริงอยู่ผมยอมรับครับว่า บ้านพักท่านผู้พิพากษาระดับไหนก็ตาม ควรดูดีมีความสง่างามให้สมกับตำแหน่งหน้าที่และความน่าเชื่อถือศรัทธา แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราจะตัดคำว่า “ตุลาการ” ออกจาก “บ้านพัก” เปลี่ยนใหม่เป็นว่า “บ้านพักข้าราชการ” ที่สร้างเพื่อให้ข้าราชการมาปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ความคิดของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ผมคิดว่าเปลี่ยนครับ เพราะต้นทุนของตำแหน่ง “ตุลาการ” ในสังคมเรามีค่าสูงมาก เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะความยุติธรรมไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้นั่นเอง แต่วันนี้กำลังเกิดปัญหาความเสื่อมศรัทธา

เพราะกรณีนี้ ท่านผู้พิพากษาใดที่มาอยู่ในบ้านพักเหล่านี้ อาจถูกคนในพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงมองด้วยความชิงชังและขาดความน่าเชื่อถือ ท่านอาจพักอาศัยในบ้านพักด้วยความหวาดกลัวว่าวันใดวันหนึ่งอาจมีไฟป่ามาพาไป หรือน้ำหลากจากดอยสุเทพกลืนบ้านพักลงให้ธรณีสูบ

สมมุติถ้าเราจะคืนป่าให้ซึ่งมิใช่เฉพาะคนเชียงใหม่เท่านั้น แต่เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน เราจะได้ “ศรัทธาตุลาการและกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งประเมินค่าหามิได้กลับคืนมา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้ มิฉะนั้นระบบยุติธรรมของประเทศจะเสียหาย

ในประเด็นสุดท้าย สำหรับกรณีที่ท่านนายกบอกว่า “หลายคนกลับเสนอให้ทุบทิ้งจะเป็นการเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ จึงต้องมีคนรับผิดชอบ” ผมว่ากรณีนี้ไม่ต้องไปหาคนรับผิดชอบหรอกครับ ขอคืนความสุขให้ประชาชนก็คุ้มค่าแล้ว มันเป็นบทเรียนราคาแพงที่เรายอมมองข้ามเพื่อประโยชน์ชาติได้หรือไม่ ถ้าจะไม่ให้ตุลาการใช้ ก็อย่าให้ใครใช้อีกเลยครับ มันเสียความรู้สึก เราเคยเสียหายไปกับ “เรือเหาะดับไฟใต้” มูลค่า ๓๕๐ ล้าน ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย จนต้องปลดประจำการ และไม่คิดซื้อมาใช้อีกเลย หรือเสียหายไปกว่า ๑,๑๓๔ ล้าน สำหรับ “ไม้ชี้กระดูก GT200 หรือ Alpha 6” จำนวน ๑,๓๙๘ เครื่อง ของหน่วยงานรัฐ ๑๕ หน่วยงาน ในระหว่างปี ๒๕๔๘-๒๕๕๓ จนบัดนี้ก็ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้เลยครับ แล้วจะไปสนใจทำไมกับงบประมาณที่เสียไปกับบ้านพัก

โดยสรุปที่กล่าวมาทั้งหมดมันเป็นวิธีคิดของผมเท่านั้น ไม่ได้จงใจจะเหน็บแนมใครทั้งสิ้น แต่อยากให้คิดกันให้รอบคอบทุกมิติ ไม่ต้องเกรงใจกัน ตรงไปตรงมา เราอาจมีคำตอบที่ดีที่สุดก็ได้ หรือหากไม่เห็นด้วยกับผม ก็ช่วยกันเสนอแนะด้วยนะครับ บ้านเมืองเป็นของเรา กระบวนการยุติธรรมของประชาชนต้องเป็นหลักของประเทศครับ