posttoday

เปิดใจ "อ้อม สุวนันท์" จบป.ตรี แต่เลือกเป็นคนกวาดถนนหวังสวัสดิการรักษาแม่

10 เมษายน 2561

เปิดเบื้องหลังความคิดการตัดสินใจเลือกเป็นพนักงานรักษาความสะอาดของบัณฑิตหญิง “อ้อม สุวนันท์”

เปิดเบื้องหลังความคิดการตัดสินใจเลือกเป็นพนักงานรักษาความสะอาดของบัณฑิตหญิง “อ้อม สุวนันท์”

-------------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ความสกปรกริมถนนและทางเท้าบริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถูกจัดการด้วยไม้กวาดทางมะพร้าวในมือของ อ้อม - สุวนันท์ เกตุเอี่ยม พนักงานรักษาความสะอาดของกรุงเทพมหานคร

หญิงสาววัย 23 ปี ที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีได้ไม่นาน รู้สึกเบื่อไม่เบาที่ต้องคอยตอบคำถามผู้คนว่าทำไมถึงเลือกทำอาชีพนี้

“จบปริญญาไม่จำเป็นจะต้องทำงานอยู่ในห้องแอร์หรือทำงานเงินเดือนเยอะๆ ขอแค่มีงานทำ มีเงินเดือนพอใช้ เหลือเก็บ มีเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก สบายใจ และสามารถตอบโจทย์ชีวิตด้านอื่นๆ แค่นี้ก็เป็นความสุขแล้ว” อ้อม สุวนันท์บอกในเบื้องต้นก่อนจะเปิดเผยเบื้องหลังการตัดสินใจ

ทุกอย่างเพื่อแม่

อ้อม สุวนันท์ เรียนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยความที่เป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวและคุณพ่อเสียชีวิตเมื่อเธออายุได้ 18 ปี ทำให้แทบทุกการตัดสินใจหลังจากนั้นมีเพื่อความสุขของแม่ ซึ่งรวมถึงการเข้าสมัครทำงานเป็นพนักงานรักษาความสะอาดของกรุงเทพมหานคร

“หนูทำงานมาแล้ว 9 เดือน จุดประสงค์หลักคือหวังสิทธิสวัสดิการในการรักษาคุณแม่ที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ลำพังให้หนูหาเงินจ่ายเองคงไม่มีปัญญา เดือนหนึ่งหลายหมื่นบาท ถ้าได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ได้พึ่งเงินหลวง คงต่อชีวิตให้แม่ได้อีกไกล”

ก่อนที่สุวนันท์จะเข้ามารับบทบาทผู้ดูแลความสะอาดในเมืองหลวง เธอคุ้นเคยและคลุกคลีกับหน้าที่นี้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อคุณแม่เป็นพนักงานรักษาความสะอาดของกทม.มานานกว่า 20 ปี

“หนูเห็นมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยรังเกียจและรู้อยู่แล้วว่าวิธีการทำงานเป็นอย่างไร”

ทุกวันนี้สุวนันท์ เริ่มงานตั้งแต่เวลา 12.00 – 21.00 น. ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ในเขตลาดกระบัง ช่วงบริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในระยะ 800 – 900 เมตร

“หน้าที่หลักคือกวาดพื้น ส่วนงานอื่นๆ คือการพัฒนาพื้นที่ตามแต่ที่หัวหน้ามอบหมาย เช่น ล้างพื้นถนน ถางหญ้า งานตรงนี้ไม่ยาก แต่ต้องคอยระมัดระวัง เพราะเราทำงานอยู่บนถนน อันตรายเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ” อ้อมบอกและว่า กทม.กำลังจะยกระดับความปลอดภัยให้กับพนักงานมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มให้มีความสว่างกว่าที่เป็น

เปิดใจ "อ้อม สุวนันท์" จบป.ตรี แต่เลือกเป็นคนกวาดถนนหวังสวัสดิการรักษาแม่

เงินเดือน 1.2 หมื่น - มีความสุขทั้งกายและใจ

ความสุขและความต้องการของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนต้องการทำงานในบริษัทชั้นนำของประเทศ ต้องการตำแหน่งหน้าที่ในระดับสูง แต่นั่นไม่ใช่กับสุวนันท์ ที่ปัจจุบันกำลังมีความสุขกายสบายใจกับค่าตอบแทนรวม 12,000 บาทต่อเดือน บทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนรวมถึงเพื่อนร่วมงานที่แสนน่ารัก

“เราเคยทำงานในบริษัทที่มีความกดดันมาก ต้องพบปะกับหลายๆ ฝ่าย ต่างความคิดเห็น มันไม่มีความสุข ผิดกับงานตรงนี้ เราโฟกัสได้อย่างชัดเจนว่าหน้าที่เราคืออะไร ไม่ต้องคิดมาก ไม่มีใครคอยบังคับ มีเพื่อนๆ ร่วมงานที่น่ารัก หนูพอใจมากกับสิ่งที่เป็น ตอนมาสมัครงานหลายๆ คนก็ตกใจ เพราะเห็นวุฒิการศึกษา บอกว่าถ้ามีตำแหน่งอื่นๆ ว่างจะเอาเข้าไปนั่งในออฟฟิศ เราบอกว่าไม่เป็นอะไรเลย ไม่อยากเข้า อยากทำงานข้างนอก”

เป้าหมายระยะสั้นของสุวนันท์คือการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด รายได้เพิ่มขึ้นตามประสบการณ์และได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำในเร็ววันก่อนที่แม่ของเธอจะเกษียณอายุในอีก 3 ปีข้างหน้า

“ทุกวันนี้พอใจกับทุกอย่าง มีเงินให้แม่ มีเงินเหลือเก็บ ไม่ได้ลำบาก หวังว่าจะได้บรรจุไวๆ เพื่อได้สิทธิรักษาคุณแม่เท่านั้นเอง”

เปิดใจ "อ้อม สุวนันท์" จบป.ตรี แต่เลือกเป็นคนกวาดถนนหวังสวัสดิการรักษาแม่

ฝากถึงพวกทิ้งขยะไม่ลงถัง

ในฐานะผู้พิทักษ์รักษาความสะอาด ขยะคือศัตรูที่เธอเรียกร้องให้มนุษย์กรุงเทพฯ ทุกคนตระหนัก คำนึงถึงความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม

“ทุกคนควรทิ้งขยะให้ลงถัง หน้าที่ของเราคือจัดการขยะก็จริง แต่ถ้างานเราเยอะ มันหมายความว่าผู้คนขาดความรับผิดชอบ ไม่มีระเบียบวินัย เราจะเหนื่อยกันมากกับขยะที่เปียกและก้นบุหรี่ พวกนี้กวาดยากและส่งผลกระทบในวงกว้าง บางคนทิ้งในสวนสาธารณะ ต้นไม้ ซึ่งมันไหม้ได้และปรับปรุงพื้นที่ยาก”

เธอทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า ทุกคนมีต้นทุนชีวิต ความคิด โอกาสและตัวเลือกที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมาเรียนจนจบปริญญาตรีเพื่อให้แม่ภาคภูมิใจ ขณะที่ปัจจุบันและอนาคตก็ขอเลือกโอกาสที่คิดว่าตอบโจทย์กับชีวิตของตัวเองมากที่สุด

“แม่มีเราคนเดียว อยากเห็นเราเรียนจบรับปริญญา อยากมีภาพลูกสาวแขวนฝาผนังบ้าน เราก็ทำเพื่อเขา วันนี้เราตัดสินใจเลือกอาชีพที่หลายคนอาจไม่เข้าใจ แม่ก็เคยเครียดเพราะเมื่อก่อนมีแต่คนพูดว่า ‘แกมาปล่อยให้ลูกทำงานแบบนี้ได้ยังไง’ จนเราถามแม่ว่า แม่อายไหมที่หนูทำงานแบบนี้ แม่ไม่ตอบและถามกลับว่า แล้วหนูอายไหมล่ะ หนูบอกไม่อายหรอก แม่สวนกลับมาว่า งั้นถ้าหนูไม่อาย แม่ก็ไม่อาย ใครจะพูดยังไงก็พูดไปปล่อยไป” สุวนันท์กล่าวในที่สุด

เปิดใจ "อ้อม สุวนันท์" จบป.ตรี แต่เลือกเป็นคนกวาดถนนหวังสวัสดิการรักษาแม่