posttoday

"เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน" เปิดใจ "ครูชินกร" ผู้ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง

02 เมษายน 2561

เปิดใจ ชินกร พิมพิลา คุณครูหนุ่มจากโรงเรียนบ้านนาสีนวล จังหวัดสกลนคร ผู้กล้าเปลี่ยนแปลงการประเมินผลการเรียน

เปิดใจ ชินกร พิมพิลา คุณครูหนุ่มจากโรงเรียนบ้านนาสีนวล จังหวัดสกลนคร ผู้กล้าเปลี่ยนแปลงการประเมินผลการเรียน

--------------------------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ชั่วโมงนี้คุณครูที่ฮอตที่สุดในโลกออนไลน์หนีไม่พ้น ชินกร พิมพิลา คุณครูหนุ่มจากโรงเรียนบ้านนาสีนวล ต.หนองแปน อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร เมื่อเขาประเมินนักเรียนของตนเองจากพื้นฐานความแตกต่าง ความสามารถและความถนัดของแต่ละคนเหนือกว่าการเน้นไปที่คะแนนในแต่ละวิชา

ชินกร เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนบ้านนาสีนวล ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนกระทั่งจบ ม. 3 ก่อนไปเรียนต่อที่เตรียมอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.)

เบื้องหลังแนวคิดของชินกรผู้ใฝ่ฝันมาตั้งแต่วัยเด็กว่าอยากเติบโตเป็นเรือจ้าง อบรมสั่งสอนพัฒนาเยาวชนนั้นน่าสนใจยิ่ง

“ตอนเด็กๆ คุณครูมักให้ผมช่วยอ่านหนังสือให้เพื่อนฟัง สอนการบ้านน้องๆ เรารู้สึกตัวเองมีคุณค่ามาก และตั้งใจวางเป้าหมายตั้งแต่ตอนนั้นว่าจะเป็นครูให้ได้”

หลังเรียนจบและสอบเข้ารับราชการคุณครูได้สำเร็จเมื่อมีโอกาสได้เลือกสถานศึกษา ชินกรไม่รีรอที่จะกลับมารับใช้บ้านเกิดเมืองนอน พื้นที่ที่หล่อหลอมชีวิตให้กับเขา โดยปัจจุบันรับราชการมาแล้วกว่า 8 ปี เป็นครูประจำวิชาภาษาไทยในระดับชั้น ป.4 - ป.6

 

"เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน" เปิดใจ "ครูชินกร" ผู้ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง

สำหรับแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจ ครูหนุ่มวัย 32 ปีเล่าว่า มีจุดเริ่มต้นจากการเห็นปัญหาในแง่ของการเปรียบเทียบและยึดติดกับอันดับความสามารถทางด้านวิชาการ

“ผมเห็นปัญหาตั้งแต่เป็นเด็กจนกระทั่งเป็นครู ทุกปีจะมีการมอบใบผลการเรียน นักเรียนเห็นแล้วเกิดการเปรียบเทียบกัน ความรู้สึกของผู้ที่ได้ลำดับสุดท้ายนั้นแย่มาก ไม่ต้องพูดถึงตอนถือใบเกรดกลับไปให้พ่อแม่ดูที่บ้านเลย”

ชินกร เป็นคุณครูประจำชั้น ป.6 มีเด็กอยู่ในความดูแล 17 คน ความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนนั้นหลากหลาย จนสามารถก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ได้ในทุกๆ ด้านที่ตนเองถนัด

“สิ่งสำคัญคือความสามารถเฉพาะด้านของเขา เราต้องส่งเสริม ทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเองมากยิ่งขึ้น โรงเรียนเรามีกิจกรรมและทักษะชีวิตที่หลากหลายให้เด็กได้ทำเพื่อค้นหาจุดเด่นของตนเอง เรามีหน้าที่ดึงตรงนั้นออกมา และมอบรางวัลด้วยการบอกว่าเขาเป็นที่ 1 ในด้านไหน”

"เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน" เปิดใจ "ครูชินกร" ผู้ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง

 

"เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน" เปิดใจ "ครูชินกร" ผู้ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง

เช้าวันนั้นชินกรแจกผลการเรียนผ่านซองสีน้ำตาล เมื่อเด็กๆ เปิดออกมาก็ต้องพบความประหลาดใจ เมื่อตัวเลขบ่งชี้ว่าพวกเขาเป็นที่ 1 เล่นเอาแต่ละคนจับกลุ่มแลกเปลี่ยนสอบถามกับเพื่อนๆ จนกระทั่งนำความสงสัยไปถามคุณครู

“ทุกคนแตกต่างกัน เราจะจัดลำดับไปทำไม เพื่อนำไปบอกพ่อแม่เหรอ มันใช้ประโยชน์อะไรได้ ทุกคนมีข้อแตกต่างกัน มีความสามารถโดยเฉพาะของแต่ละคน”  ชินกรเล่าถึงสิ่งที่ได้อธิบายกับเด็กๆ เมื่อถูกถามหาเหตุผลที่พวกเขาเป็นที่ 1

เฉกเช่นกับความรู้สึกของพ่อแม่ผู้ปกครอง พวกเขาต่างพากันดวงตาลุกวาวเมื่อเห็นลูกของตัวเองประกาศก้องด้วยรอยยิ้มอันสดใสว่าสอบได้ที่ 1

ชินกร บอกว่า ที่ผ่านมาเมื่อถึงวันประกาศผลการเรียน มโนทัศน์และวิถีปฏิบัติของผู้ปกครองคือการสอบถามลูกตนเองว่าสอบได้ที่เท่าไหร่ ซึ่งนั่นเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนยึดติดอยู่กับการแข่งขันทางด้านวิชาการเท่านั้น

“แม่บางคนแปลกใจทำไมรอบนี้ลูกฉันเก่งจัง เด็กบอกว่าได้ที่ 1 ด้านการช่วยเหลือครูสอนหลังสือน้อง เด็กๆ ดีใจที่ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ขณะที่ผู้ปกครองก็รู้สึกดีที่ลูกได้ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ให้กับผู้อื่น แม้ลูกเขาจะไม่เก่งด้านวิชาการแต่สิ่งที่เขาทำมันเป็นคุณค่าที่จะต่อยอดในอาชีพของเขาต่อไป ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง”

 

"เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน" เปิดใจ "ครูชินกร" ผู้ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง

 

การส่งเสริมให้เด็กค้นหา พัฒนาทักษะและเห็นคุณค่าในตัวเอง คือสิ่งที่คุณครูภาคภูมิใจมากที่สุด

“เรามองไปถึงอนาคต หวังให้มีเด็กกลุ่มหนึ่งต่อยอดจากความภูมิใจตรงนี้ จากเด็กที่นวดฝ่าเท้าที่เก่งที่สุดในห้อง ป.6 อาจโตขึ้นไปเป็นนักกายภาพที่เก่งที่สุดในจังหวัดหรือประเทศ คนที่สอนหนังสือน้อง อาจกลับมาเป็นครูที่บ้านนาสีนวลเหมือนกับที่ผมเคยทำ สิ่งเหล่านี้เป็นความยั่งยืนมากกว่าการจัดลำดับ”

นอกเหนือจากประโยชน์ที่เด็กๆ ได้รับแล้ว แนวคิดการยอมรับความหลากหลาย ยังส่งผลให้ผู้เป็นครูได้เรียนรู้ เอาใจใส่กับผู้เรียนมากขึ้น

“ถ้าเราสอนเฉยๆ รอแค่เวลาหมดคาบเรียนไป ไม่ได้เอาใจใส่กับเด็กจริงๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่า แต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกันอย่างไร การสอนเด็กจำเป็นต้องเอาใจใส่รายละเอียดพื้นฐานของเขา แม้กระทั่งครอบครัว ชีวิตส่วนตัว ต้องเข้าใจ ถึงจะผลักดันเด็กได้ แล้วเขาจะเกิดความเชื่อมั่น เชื่อฟังเรา และพัฒนาไปตามที่เราต้องการได้”

"เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน" เปิดใจ "ครูชินกร" ผู้ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง

ความฝันของชินกรคือการได้เห็นระบบการศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ ไม่ยึดติดกับการการประเมินด้านวิชาการเท่านั้น แต่ทำให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิตได้อย่างแท้จริง

เขาบอกว่า ผู้สอนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าที่จะปฏิวัติตัวเอง รูปแบบการสอนนั้นมีหลากหลายที่จะสร้างความน่าสนใจและดึงความสามารถของเด็กออกมา เพียงแต่คุณครูยังติดกรอบแนวคิดเดิมๆ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการถูกบีบจากปัญหาเชิงนโยบาย

“เป็นปัญหาเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการสอบระดับชาติ เป็นเสมือนกรอบสำคัญให้ครูต้องเดินตามเส้นทาง ตัวอย่างเช่น การสอบโอเน็ตที่เป็นตัววัดคุณภาพของโรงเรียน ทั้งที่จริงๆ คุณภาพของโรงเรียนไม่ได้วัดเพียงแค่ 4 รายวิชาเท่านั้น ต้องดูถึงรายละเอียด สภาพแวดล้อมของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนเฉพาะด้านอื่นๆ ด้วย แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาของหลายโรงเรียน ผมคิดว่าเป็นการทำงานสนองต่อการบริหารมากกว่าข้อเท็จจริงในพื้นที่และความแตกต่างของเด็กๆ”

คุณครูเนื้อหอมทิ้งท้ายว่า ถ้าเด็กสักคนไม่โดดเด่นในด้านผลงานวิชาการเลย แต่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่หาปลาเก่งที่สุด เขาจะรู้สึกภูมิใจมาก เพราะมีทักษะชีวิตและสามารถเอาตัวรอดได้ ดีกว่าเห็นเด็กเก่งคณิตศาสตร์แต่เติบขึ้นมาโดยไร้ทักษะชีวิตด้านอื่นๆ 

"เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน" เปิดใจ "ครูชินกร" ผู้ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง

"เพราะเด็กทุกคนแตกต่างกัน" เปิดใจ "ครูชินกร" ผู้ให้นักเรียนสอบได้ที่ 1 ยกห้อง