posttoday

ปศุสัตว์ยันไม่มีนโยบายเซ็ตซีโร่หมาแมว แจงเน้นทำหมันควบคุมการเลี้ยง

26 มีนาคม 2561

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงไม่มีนโยบายเซ็ตซีโร่หมา-แแมว แต่จะเน้นเรื่องการทำหมันและควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ชี้เก็บภาษีคนเลี้ยงแค่ความเห็นส่วนบุคคล

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจงไม่มีนโยบายเซ็ตซีโร่หมา-แแมว แต่จะเน้นเรื่องการทำหมันและควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ชี้เก็บภาษีคนเลี้ยงแค่ความเห็นส่วนบุคคล

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงภายหลังผลการประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับกรณีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าว่า การควบคุมและป้องกันโรคดังกล่าว จะมีการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยง ปีละ 2 ครั้ง รวมทั้ง ควบคุมจำนวนพาหะนำโรค ด้วยการทำหมัน แต่ด้วยจำนวนสุนัขและแมวจรจัดที่มีอยู่จำนวนมาก รวมถึงกรมปศุสัตว์มีข้อจำกัดในเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ขณะนี้ จึงได้มีการถ่ายโอนอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่นรับไปดำเนินการ

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อวัคซีน มีผลทำให้หน่วยงานท้องถิ่นเกิดความไม่แน่ใจ จึงหยุดชะงักการจัดซื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวเกิดข้อจำกัด จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้พบสัตว์ติดเชื้อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดในขณะนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2561 ซึ่งพบการระบาดใน 39 จังหวัด แต่ปัจจุบัน ได้ลดลงเหลือ 27 จังหวัดแล้ว รวมทั้ง จะเร่งทำหมันสัตว์จรจัด ให้ได้ 5 แสนตัว ภายในปี 2563 อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแก้ปัญหาในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต น.พ.เจตน์ ระบุว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ที่ผ่านมา มีกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  ได้ทักท้วง แต่ท้องถิ่นยืนยันว่า มีอำนาจดำเนินการ จึงทำให้เกิดการชะงัก แต่ขณะนี้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่า ฯ สตง. มีการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนต่อจากนี้ไป จะเกิดความชัดเจนมากขึ้นว่า อำนาจเป็นของใคร ซึ่งจะไม่เกิดปัญหาเหมือนในอดีต

ด้าน น.สพ. อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กระแสข่าวเรื่องการเซ็ตซีโร่สุนัขและแมวคงไม่มีแล้ว ดังนั้น จะเน้นเรื่องของการทำหมันสุนัขและแมวจรจัด รวมถึง จะมีกฎหมาย 2 – 3 ฉบับ เกี่ยวกับการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ ไม่ให้นำไปปล่อย ซึ่งจะใช้ควบคู่กันทั้งกฎหมายและมาตรการทางสังคม ขณะที่ เรื่องการเก็บภาษีคนเลี้ยงสุนัขและแมว ถือเป็นความเห็นส่วนบุคคล แต่บ้านเราไม่เหมือนประเทศอื่น การบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับความร่วมมือของคนในชุมชน จะดีกว่าการเก็บภาษีอย่างแน่นอน