posttoday

ดราม่าลอกเพลง "แบบไหนลอก-ไม่ลอก" อย่าใช้แค่ความรู้สึกตัดสิน

23 มีนาคม 2561

ฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในวงการดนตรี เพลงแบบไหนที่เรียกว่าลอกเลียนแบบ

ฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในวงการดนตรี เพลงแบบไหนที่เรียกว่าลอกเลียนแบบ

------------------

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ทอย ธันวา บุญสูงเนิน หรือ The TOYS  หนุ่มหล่อนักดนตรีชื่อดัง เจอคนวิจารณ์ถึงผลงานเพลงที่ถูกหาว่าลอก The 1975  วงดนตรีอินดี้จากประเทศอังกฤษ ไม่ให้เครดิตบุคคลที่ร่วมทำเพลง หลอกหลวงข้อมูลส่วนตัวทั้งเรื่องชื่อเล่นและวันเกิด รวมถึงขโมยผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง

ข้อหาที่ทุกคนให้ความสนใจและถกเถียงกันมากที่สุด หนีไม่พ้นการลอกเลียนแบบเพลง

คำถามดังๆ วันนี้คือ “ในวงการเพลงแค่ไหนที่เรียกว่าลอก”

อย่าใช้ความรู้สึกเหนือข้อเท็จจริง

โอ๊ต ธนากร สุทธิธรรม ครูสอนกีต้าร์ เจ้าของนามปากกา Zaadoat บอกว่า หลักการแต่งเพลงที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นต้องไม่เอาโน้ตมาเกินเจ็ดตัว เป็นแนวทางกฎหมายที่ทั่วโลกเห็นตรงกัน อย่างไรก็ตามบางเพลงแม้จะมีตัวโน้ตซ้ำกันน้อยกว่า 7 ตัวแต่เป็นจุดขายของเพลงอย่างเช่น MY HEART WILL GO ON ที่ประกอบภาพยนตร์ ไททานิค หากฟังแล้วเหมือนกันก็นับว่าเป็นการก๊อปชัดเจน

ธนากร บอกว่า เรื่องที่ทุกคนต้องเข้าใจและให้ความสำคัญคือ สไตล์เพลงและทฤษฎีความรู้ทางดนตรี ไม่ใช่ความรู้สึกหรืออคติต่อตัวบุคคล

“สไตล์ทำให้คนรู้สึกว่าเหมือนกัน ลองไปฟังเพลงของบีโธเฟ่นกับโมสาร์ท สองคนนี้เป็นสุดยอดนักดนตรีคลาสสิคโลก แต่เปิดเพลงพวกเขาขึ้นมาจะรู้ไหมว่าเป็นเพลงของใคร ผมเชื่อว่าหลายคนแยกไม่ออก เพราะมันเป็นสไตล์เดียวกัน มือกีตาร์สายบลูที่ดีที่สุดในโลกตลอดกาล อย่าง Jimi Hendrix ก็เป็นแรงบันดาลใจให้มือกีตาร์รุ่นหลังๆ มากมาย รวมไปถึงสุดยอดกีตาร์ Blues ยุคนี้อย่าง John Mayer ด้วย ซึ่งเพลงของ John Mayerที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Jimi Hendrix ก็มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัย เลยมีความ Pop มากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครออกมาด่าว่า John Mayer เลย มีแต่คำชื่นชม”

สำหรับ The TOYS และ The 1975 ธนากร บอกว่า แม้จะมีหลายอย่างที่คล้ายกัน แต่ไม่ชัดเจนถึงขนาดสามารถพูดว่าลอกเลียนแบบกัน

“ผมคิดว่า The TOYS เขาฟังเพลง 1975 มาเยอะมาก เมื่อมาแต่งเพลง ก็จะแต่งออกมาในรูปแบบนี้เองโดยอัตโนมัติ เหมือนคนอ่านหนังสือของใครมามากและชอบมากๆ ถึงเวลาเขียนหนังสือก็จะออกมาเป็นสไตล์นั้น เป็น inspire เป็นพัฒนาการและสิ่งที่สานต่อกันมาเรื่อยๆ อย่าง 1975 เองก็มีinspire จากวงอื่นๆ มาก่อน”

ดราม่าลอกเพลง "แบบไหนลอก-ไม่ลอก" อย่าใช้แค่ความรู้สึกตัดสิน โอ๊ต ธนากร ได้เปรียบเทียบคอร์ดเพลงใครอีกของ The Toys ที่ถูกกล่าวหาว่าลอกเพลง Girls ของ 1975 โดยสรุปว่า ตามทฤษฎี ทางคอร์ดนี้ถือว่าต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถฟ้องลิขสิทธิ์กันได้

Zaadoat บอกว่า การวิจารณ์ส่วนใหญ่ในกรณีล่าสุด เกิดจากการใช้ความรู้สึกมากกว่ายืนอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทางด้านดนตรี

“ส่วนใหญ่ใช้ความรู้สึก เป็นการวิจารณ์ที่มีอคติ ตามกระแส ถ้าเราพูดกันแค่ความรู้สึกไปดูเพลงลูกทุ่งเลย เปิดมาคล้ายกันหมด อารมณ์เดียวกัน เพราะนั่นมันคือสไตล์เพลง”

 

ดราม่าลอกเพลง "แบบไหนลอก-ไม่ลอก" อย่าใช้แค่ความรู้สึกตัดสิน ภาพจาก ตั๋วร้อน ป๊อปคอร์นชีส

สไตล์และแรงบันดาลใจ ไม่ใช่การลอก

"ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม" กูรูวงการดนตรี  บอกว่า การแต่งเพลงขึ้นมาสักเพลง เบื้องต้นขึ้นอยู่กับหลักทฤษฎีความรู้ทางด้านดนตรี ความชอบส่วนตัวและการตลาด อย่างไรก็ตามไม่มีกฎตายตัว

“มันเกิดจากทฤษฎี ความรู้ทางด้านดนตรี ในแง่ทำนองการเรียบเรียง การเลือกเครื่องดนตรี ผสมผสานจนออกมาน่าฟัง ต่อมาเป็นเรื่องแรงบันดาลใจ บางคนเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัว หนังสือที่ชอบ ภาพยนตร์ที่เคยดู หรือกระทั่งเพลงที่ได้ยิน เหล่านี้มีอิทธิพลต่อตัวเราหรืออาจค้างอยู่ในหัวจนออกมาเป็นผลงานที่เราสร้างสรรค์ สุดท้ายเป็นเรื่องการตลาด ซึ่งระดับมืออาชีพต้องคำนึงถึง เพลงแบบไหนที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย”

เป็นเรื่องท้าทายไม่เบาสำหรับคนในวงการดนตรีที่จะทำความเข้าใจกับผู้ฟังว่า อะไรคือสไตล์ อะไรคือการลอกเลียน เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ป๋าเต็ด เลือกจะหยิบยก“ก๋วยเตี๋ยว” ขึ้นมาเปรียบเทียบกับผลงานเพลง

 

ดราม่าลอกเพลง "แบบไหนลอก-ไม่ลอก" อย่าใช้แค่ความรู้สึกตัดสิน ภาพจากเฟซบุ๊ก The TOYS

 

เขาบอกว่า หากเปรียบก๋วยเตี๋ยวเป็นเพลง สไตล์เพลงก็คือรูปแบบที่หลากหลายของก๋วยเตี๋ยว ทั้งก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ เป็นต้น ทั้งหมดเรียกว่าก๋วยเตี๋ยว แต่ไม่เหมือนกัน เช่นกันกับเพลงร็อค เพลงแจส เพลงป๊อป

“แต่ละสไตล์จะมีท่าบังคับของมัน เป็นสิ่งที่ต้องมี เช่น ถ้าจะทำก๋วยเตี๋ยวเรือ เราก็ต้องใส่สิ่งของพื้นฐานเข้าไป มีเส้น ลูกชิ้น ผัก ในน้ำมีเลือดเพื่อความเข้มข้น ของแบบนี้ไปที่ไหนก็เจอ เขาไม่เรียกว่าลอก แต่บางร้านอาจมีความสร้างสรรค์ เช่น นำเนื้อสไลด์หรือเครื่องปรุงพิเศษใส่เข้าไป กลายเป็นสูตรลับเฉพาะของร้าน หากมีบางคนไปชิมแล้วชอบ เกิดทำตามบ้างเป๊ะๆ เลย แบบนั้นถึงเรียกว่าลอก

“เพลงก็เช่นกัน มันมีวิวัฒนาการ เพลงบลูนี่ชัดมาก เพราะถูกบังคับด้วยทางคอร์ด ทุกๆ 12 ห้อง โครงสร้างคอร์ดจะวนกลับมาในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นถ้าจะทำเพลงบลูแบบมาตรฐาน อย่างไรก็ต้องวนใน 12 ห้องนี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคีย์ แต่จริงๆ มันคือทางคอร์ดเดียวกัน ลองเปิดเพลงบลูสัก 20 เพลงเทียบกัน จะพบว่ามันเหมือนกันนี่หว่า เขาไม่ได้ลอกกัน เพียงแต่เป็นมาตรฐานที่ต้องทำ

เราไม่ได้บอกว่าเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะในที่สุดจะมีคนเก่งๆ เริ่มดัดแปลงใส่อะไรบางอย่างเข้าไป เหมือนคนทำก๋วยเตี๋ยวที่ลองใช้เนื้อสไลด์แทนเนื้อก้อน”

กูรูดนตรี บอกต่อว่า ทุกรูปแบบแนวดนตรี มักข้อบังคับพื้นฐานที่ทุกวงต้องเล่นเพื่อให้ซาวด์เพลงออกมาอยู่ในสไตล์นั้น เช่น  ในอดีตวงดนตรีฮาร์ดร็อค ที่มักเล่นกีตาร์แบบ Power Chords หรือการตีคอร์ดเร็วๆ แบบดนตรีป๊อปฟังก์ ที่รับประกันได้ว่ามีนับหมื่นเพลงที่ใช้วิธีการตีคอร์ดลักษณะดังกล่าว

 

ดราม่าลอกเพลง "แบบไหนลอก-ไม่ลอก" อย่าใช้แค่ความรู้สึกตัดสิน "ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม"

ข้อหาลอกเท่ากับฆ่าคนตาย

ป๋าเต็ด บอกว่า ลอกเพลงเป็นข้อหาที่รุนแรงมากในวงการเพลง เทียบได้กับการกล่าวหาว่าเขาฆ่าคนตาย ดังนั้นการจะกล่าวหาใคร ต้องมีความมั่นใจซึ่งหมายถึงมีความเข้าใจว่าการลอกคืออะไร หากไม่มีความเข้าใจเพียงพอ การไปด่าทอผู้อื่น นับเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม

“พูดพล่อยๆ ไม่ได้ ต้องเข้าใจและมีหลักฐาน การไปบอกว่าเขาฆ่าคนตาย อนาคตของผู้ถูกกล่าวหานั้นเสียหายมาก โดยเฉพาะในโลกโซเซียล ที่ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว หลายครั้งเป็นความเข้าใจผิดและไม่ได้รับการแก้ไข ถ้ากล่าวหาโดยไร้ข้อมูล ความเข้าใจ เท่ากับเรากำลังสนุกปาก คะนองปากและไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น”

เขาบอกว่า ในแต่ละเพลงทั่วโลก สามารถหาเพลงที่คล้ายกันได้ไม่ต่ำกว่า 20 เพลง เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาตลอดในวงการเพลง และไม่ปฏิเสธว่าการลอกเพลงนั้นมีอยู่จริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรสนับสนุนเพราะถือเป็นเรื่องน่าละอาย ไร้ศักดิ์ศรี

“นักดนตรีที่ดี ยังหวังมีอนาคตต่อไปในวงการเขาไม่ทำกัน เพราะไม่มีศักดิ์ศรี ทุกคนล้วนอยากเป็นเจ้าของผลงานและได้รับการยอมรับชื่นชม โลกตอนนี้มันจับผิดกันได้รวดเร็วมาก ไม่เหมือนแต่ก่อนที่อาจจะแอบทำแล้วไม่มีใครรู้”

ป๋าเต็ดทิ้งท้ายว่า การกล่าวหา โจมตีโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ข้อเท็จจริง ทำให้คนในวงการเพลงไม่สบายใจ ซึ่งหลายเคสเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อความสะใจ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที