posttoday

ตลาดสด ตลาดนัด...แค่ไหนถึงถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

17 มีนาคม 2561

การก่อเหตุทุบรถปิกอัพที่มาจอดขวางหน้าบ้านภายในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ กรุงเทพฯ

โดย ทีม @Weekly

การก่อเหตุทุบรถปิกอัพที่มาจอดขวางหน้าบ้านภายในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ กรุงเทพฯ นำไปสู่คำสั่งปิดตลาดสดถึง 5 แห่งที่เปิดรอบๆ บ้านของสองป้าทุบรถ รัตนฉัตร แสงหยกตระการ อายุ 61 ปี กับ มณีรัตน์ แสงภัทรโชติ อายุ 57 ปี จนเป็นกระแสข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

แต่ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าของเฟซบุ๊กชื่อ Ajapim Aroonlucksana ได้โพสต์ภาพร้านค้าแผงลอยจำนวนมากมาเปิดอยู่ริมรั้วบ้านพัก ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านสองป้าทุบรถไม่ถึง 50 เมตร จนทำให้ชาวบ้านตรงบริเวณดังกล่าวเข้าออกบ้านลำบากลำบนอีกเช่นกัน

ผู้ค้ากว่า 20 รายในตลาดสวนหลวง นำของมาขายหน้าสวนหลวง จนทำให้สำนักงานเขตประเวศต้องลงมาควบคุม แต่ยืนยันว่าจะเปิดขาย แม้จะถูกสั่งปรับก็ยอม ต้องทำเพื่อเลี้ยงปากท้องของตัวเอง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นของการทะเลาะในพื้นที่สาธารณะ และการเปิดตลาดที่ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะในเขตมหานครและเมืองใหญ่ที่พื้นที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์อย่างมหาศาลทั้งสิ้น

ตลาดสดตลาดนัดตามมาตรฐานของไทย

ตลาดสด ตลาดนัด...แค่ไหนถึงถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

ย้อนหลังกลับไปเมื่อเกือบ 5 ปีที่แล้ว ในปี 2556 กระทรวงสาธารณสุขเผยผลการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงและยกระดับตลาดสดไทยตามมาตรฐาน “ตลาดสด น่าซื้อ” ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะประชาชนด้านอาหารปลอดภัย โดยตั้งแต่ปี 2545 ทำให้ในปี 2555 ประเทศไทยมีตลาดประเภทที่ 1 (ตลาดที่มีโครงสร้าง) ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ จำนวน 1,302 แห่ง แบ่งเป็นระดับดี 1,074 แห่ง และระดับดีมาก 228 แห่ง

สำหรับการรักษาตลาดสด น่าซื้อให้ได้มาตรฐานตลอดนั้น กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ยังคงมีการเฝ้าระวังและสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และมอบโล่รางวัลเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับตลาดสดที่สามารถรักษาคุณภาพระดับดีมาก หรือตลาดสดระดับ 5 ดาว ติดต่อกัน 5 ปีขึ้นไป พร้อมทั้งยกระดับให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลาดสด และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศต้นแบบด้านตลาดสด

สำหรับการขายของในลักษณะเปิดท้ายขายของ หรือที่เรียกว่า “ตลาดนัด” กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เป็นตลาดประเภทที่ 2 (ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร) ถือเป็นกิจการที่ต้องควบคุมกำกับโดยราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535ภายใต้กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 ซึ่งมีการขายสินค้าประเภทอาหาร ทั้งอาหารสดและอาหารปรุงสำเร็จ

หากไม่มีการควบคุมหรือการจัดการที่ดีอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งควบคุมและพัฒนาตลาดนัด เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ภายใต้โครงการ “ตลาดนัดน่าซื้อ” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552

ในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มอบรางวัล “ตลาดสด น่าซื้อ” ระดับดีมาก 5 ดาว พร้อมมอบป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อยแก่ตลาดอเนกประสงค์จิตมั่น ราชกิจ (ติวานนท์) ผลการประเมินผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ ระดับดีมาก ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานครบทั้ง 3 ด้านคือ 1.ด้านกายภาพ เป็นการพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ 17 ข้อขึ้นไป จากเกณฑ์ทั้งหมด 40 ข้อ ตามรายละเอียดเกณฑ์ในคู่มือการพัฒนาตลาดสด น่าซื้อ

2.ด้านอาหารปลอดภัย อาหารสดที่จำหน่ายในตลาดสด น่าซื้อ ตรวจไม่พบสารปนเปื้อนอันตราย 6 ชนิด คือ ฟอร์มาลิน สารกันรา สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกำจัดแมลง และสารเร่งเนื้อแดง

3.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการจัดองค์ประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค คือจัดให้มีจุดให้ความรู้ จัดให้มีเครื่องชั่งกลางที่ได้มาตรฐานกรมการค้าภายใน จัดให้มีจุดทดสอบสารปนเปื้อน 5 ชนิด ยกเว้นสารเร่งเนื้อแดงซึ่งต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ส่วนตลาดนัดหรือตลาดสดของไทยที่โด่งดังระดับโลกก็มีตลาด อ.ต.ก. ขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ติดอันดับ 4 จากการจัด 10 ตลาดสดดีที่สุดในโลกของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความหลากหลาย ทั้งผักสด ผลไม้ที่หาได้
เฉพาะในเมืองไทย อาหารสด อาหารปรุงสุก และนำเข้าจากประเทศในเอเชีย รวมทั้งยังมีความสะอาด ทำให้นักท่องเที่ยวเพลิดเพลินกับการเลือกซื้อเครื่องแกงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผงกะหรี่และเครื่องเทศสมุนไพรต่างๆ และศูนย์อาหารที่รวบรวมอาหารไทยไว้

ตลาดในความหมายของกฎหมาย

ตลาดสด ตลาดนัด...แค่ไหนถึงถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

“ตลาดนัด” เป็นคำที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีมาช้านาน คำนี้ประกอบขึ้นจากคำว่า “ตลาด” ซึ่งหมายถึงที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่างๆ กับคำว่า “นัด” ซึ่งหมายถึงตกลงกันเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะกำหนด การกำหนดตกลงว่าจะพบปะกัน เป็นต้น ตลาดนัดจึงหมายถึงที่ชุมนุมเพื่อซื้อขายของต่างๆ ซึ่งมิได้ตั้งอยู่ประจำ จัดให้มีขึ้นเฉพาะในวันที่กำหนดเท่านั้น เช่น ที่ลานว่างหน้าปากซอยจะมีตลาดนัดทุกคืนวันเสาร์ หรือตลาดนัดสวนจตุจักรจะมีคนพลุกพล่านมากเป็นพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์

ในทางกฎหมาย คำว่า “ตลาด” หมายถึงสถานที่ซึ่งปกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุม เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์ เนื้อสัตว์ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้ว หรือของเสียง่าย ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีการจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้สำหรับให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวตามวันที่กำหนด

ตลาดตามความหมายในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กำหนดว่า“เป็นสถานที่ซึ่งปกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้ว หรือของเสียง่าย ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีการจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม และหมายรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้ให้ผู้ค้าเป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำ หรือเป็นครั้งคราวหรือตามวันที่กำหนด”

การนิยามตลาด ยังหมายถึงสถานที่ที่มีโครงสร้างอาคารและไม่มีโครงสร้างอาคาร รวมถึงดำเนินการเป็นประจำ หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ดังนั้นตลาดสดและตลาดนัดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของไทย จึงถือเป็น “ตลาด”

เว็บไซต์ smeleader.com ได้รวบรวมรายชื่อตลาดไว้ให้ผู้ค้าในปัจจุบันทั่วประเทศมีถึง 306 แห่ง โดยมีตลาดนัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 94 แห่ง ตลาดในพื้นที่ปริมณฑล 73 แห่ง ที่เหลืออยู่ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ

ส่วนสมาคมตลาดสดไทย ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการมาตรฐานชั้น 1 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีตลาดที่ผ่านมาตรฐานและขึ้นทะเบียนสมาชิกสมาคมตลาดสดไทย 47 ตลาด คือ ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดบางขุนศรี ตลาดเงินวิจิตร ตลาดเอี่ยมสมบัติ ตลาดกลางแฮปปี้แลนด์ ตลาดคลองขวางตลาดวัฒนานันท์ ตลาดเสริมเพิ่มพูน ตลาด อ.ต.ก. ตลาดสามย่าน ตลาดสดพรานนก ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี

ตลาดรัชดาภิเษก ตลาดอมรพันธุ์ ตลาดพงษ์เพชร ตลาดท่าพระ ตลาดไท ตลาดสดศิริชัย ตลาดนครหลวง ตลาดกรุงธน ตลาดท่าดินแดง ตลาดอ่อนนุช (เหนือ) ตลาดอ่อนนุช (ใต้) ตลาดพัฒนาการ ตลาดนครไทย ตลาดใหม่ทุ่งครุ ตลาดบวรร่มเกล้า ตลาดสด กม.9 พระยาสุเรนทร์ ตลาดศรีตาก่ำ (สายหยุด) ตลาดรังสิตร่วมพัฒนา บ.เจ้าพระยาเครื่องเย็น จก.

ตลาดกลางผักและผลไม้ราชบุรี (ศรีเมือง) ตลาดสดลีลา ตลาดจตุจักร ลำพูน ตลาดใหม่สำโรง ตลาดกำแพงเพชร ตลาดถนอมมิตร ตลาดบัญญัติทรัพย์ ตลาดภิบาลพัฒนา ตลาดเสรี ตลาดศาลายา ตลาดสวนพลู ตลาดเยสบางพลี สำโรงเซ็นเตอร์ ตลาดท่าวังทอง องค์การตลาดสาขาหนองม่วง และตลาดยอดพิมาน 

สยบตลาดเถื่อน

ตลาดสด ตลาดนัด...แค่ไหนถึงถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

กรณีการทำตลาดที่หมู่บ้านเสรีวิลล่า สวนหลวง เขตประเวศ กรุงเทพฯ ที่ทำให้เกิดการกีดขวางการจราจร ว่าตลาดเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องตรวจสอบควบคุม สมชาย ตู้แก้ว ผู้อำนวยการศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีนี้ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า มีการกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 แก้ไข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 การจัดตั้งต้องขออนุญาตจากส่วนราชการท้องถิ่น

กรณีตลาดหมู่บ้านเสรีวิลล่า จึงเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบใครทำผิดทำถูก และดูพฤติกรรมของการกระทำของกิจการนั้นว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นหรือไม่ ทั้งนี้ การประกอบอาชีพเป็นเสรีภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่การใช้เสรีภาพต้องไม่ไปละเมิดคนอื่น

ถ้าพื้นที่นั้นไม่มีข้อห้ามสามารถตั้งเป็นตลาดได้ เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานครที่จะต้องแจ้งและควบคุมกำกับให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตั้งตลาด ดำเนินการกิจการตลาดอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง และเกิดเหตุไปจอดรถขวางทางเข้าออกในทรัพย์สินของคนอื่น รวมถึงขยะส่งกลิ่นเหม็นหรือไม่ และกำแพงตลาดไปติดรั้วบ้านคนอื่นจนเขาเดือดร้อนหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องมีการตรวจสอบถ้าประชาชนเดือดร้อนก็ร้องท้องถิ่นให้เข้ามาจัดการได้

สำหรับขั้นตอนจัดตั้งตลาด และตลาดที่ถูกต้องตามกฎหมายกับตลาดเถื่อนแตกต่างกันอย่างไร? นิรันดร์ ประดิษฐกุลรองประธานสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เปิดเผยว่า การจัดตั้งตลาดตามกฎหมายที่ระบุใน พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 34 ห้ามมีการจัดตั้งตลาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ขั้นตอนการดำเนินการประกอบกิจการตลาด ต้องยื่นเรื่องต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นหลังจากมีการตรวจความถูกต้องและสมบูรณ์ของเอกสารแล้ว เจ้าหน้าที่จะเดินทางไปตรวจสอบสภาพของสถานที่ว่าถูกสุขลักษณะของตลาดหรือไม่ ถ้ามีข้อบกพร่องต้องปรับปรุงแก้ไข จนกว่าจะได้อนุญาต

“สำหรับการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ กทม. ใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องตลาด (พ.ศ. 2546) พิจารณาว่าตลาดประเภทไหน มีโครงสร้างอย่างไร ลักษณะสินค้าที่ขายเป็นอย่างไร แบ่งเป็นประเภทที่ 1 ตลาดที่มีโครงสร้างอาคาร และประเภทที่ 2 ตลาดที่ไม่มีโครงสร้างอาคาร ฉะนั้นการตั้งร้านค้าแผงขายของยาวตลอดแนว ลักษณะนี้ไม่ถือเป็นตลาด”

ตลาดสด ตลาดนัด...แค่ไหนถึงถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

นอกจากนี้ นิรันดร์ ย้ำว่ากรณีตลาดมีสิ่งปลูกสร้างต้องมีใบขออนุญาตก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในมาตรา 21 กำหนดชัดเจน ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
อาคารสำหรับการพาณิชยกรรม ต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด เช่น มีเครื่องมือดับเพลิง มีที่ทิ้งขยะมูลฝอย เป็นต้น

นิรันดร์ กล่าวอีกว่า ส่วน พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 เป็นกฎหมายที่ต้องนำมาพิจารณาด้วยว่าพื้นที่ดังกล่าวจะนำมาสร้างตลาดได้หรือไม่ จะมีการจำแนกประเภท เช่น “ย” หรือประเภทที่อยู่อาศัย และมีการแยกย่อยของ “ย” แต่ละชนิด เช่น ประเภท “ย 3” เป็นที่ดินที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงรักษาการอยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมดีในบริเวณชานเมือง หรือพื้นที่สีเหลือง กำหนดว่าห้ามตั้งตลาด ยกเว้นจะเป็นไปตามที่กำหนด

ทางด้านแอดมินเพจ “กลุ่มคนไทย ไม่เอาหาบเร่แผงลอย” กล่าวว่า ลักษณะของตลาดเถื่อนจะมีสภาพหรือจุดเริ่มต้นมาจากตลาดนัด ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดให้สามารถตั้งตลาดได้ในบริเวณนั้นๆ ทำให้ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีห้องน้ำ ไม่มีจุดทิ้งขยะ ไม่ถูกสุขอนามัย

“ส่วนมากเป็นลักษณะแผงลอย กางร่มยึดครองพื้นที่สาธารณะเป็นหลัก ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อว่ามีหลายแห่งที่มีสภาพเป็นตลาดนัด อาทิ ตามตรอก ซอย ตัวอย่างเช่นพื้นที่บริเวณหมู่บ้านเสรีวิลล่าที่มีตลาดเกิดขึ้นมากเกินความเหมาะสมของพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาการจราจร จอดรถขวางหน้าบ้าน ส่งเสียงดัง และส่งกลิ่นควันไฟไหม้ย่างรบกวนผู้อยู่อาศัย

จุดเริ่มต้นของตลาดเถื่อนมาจากการรวมตัวของผู้ค้าแผงลอย จากนั้นอ้างเรื่องการทำมาหากินเพื่อให้ได้รับความชอบธรรม บีบบังคับเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยการยึดหลักปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด จนนำมาสู่ปัญหาความเดือดร้อนของคนกรุงเทพฯ ทุกหนทุกแห่ง”