posttoday

ป.ป.ท.ตรวจพบเจ้าหน้าที่โกงเงินคนจนในนิคมสร้างตนเอง

15 มีนาคม 2561

ป.ป.ท.ตรวจสอบทุจริตเงินคนจนในนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จ.อุดรธานีพบมีการปลอมเอกสารขอรับเงินแทนผู้มีรายชื่อที่ไม่เคยได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว

ป.ป.ท.ตรวจสอบทุจริตเงินคนจนในนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จ.อุดรธานีพบมีการปลอมเอกสารขอรับเงินแทนผู้มีรายชื่อที่ไม่เคยได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วยคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ชุดปฏิบัติการที่ 4) และกองกฎมาย สำนักงาน ป.ป.ท. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้จ่ายงบประมาณอุดหนุนสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ในส่วนของนิคมสร้างตนเอง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ได้รับงบประมาณ 194 ล้านบาท

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวว่า นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 105,000 ไร่ มีสมาชิกนิคม จำนวนประมาณ  41,000 คน ครอบคลุมพื้นที่ 50 หมู่บ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ 2 จังหวัด คือจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู ได้รับเงินงบประมาณสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง จำนวน 7,030,000 บาท

ทั้งนี้ การจากลงพื้นที่สุ่มตรวจการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวของนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ หมู่ที่ 6,9 ตำบลโคกสะอาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และหมู่ที่ 2,10 ตำบลนิคมสงเคราะห์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พบผู้มีรายชื่อรับเงินสงเคราะห์ฯ จำนวน 41 ราย ปรากฏพฤติการณ์ ดังนี้ 1. พบว่ามีการปลอมเอกสารขอรับการสงเคราะห์การรับเงิน ตามเอกสารใบสำคัญรับเงินที่ระบุจำนวนรายละ 2,000 บาท และ 3,000 บาท ผู้มีรายชื่อในเอกสารดังกล่าวไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด

พ.ต.ท.วันนพ กล่าวว่า 2. พบว่า มีรายชื่อผู้ได้รับการสงเคราะห์ จำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 2,000 บาท แต่ผู้มีรายชื่อดังกล่าวยืนยันว่าตนเองไม่เคยได้รับเงินแม้แต่ครั้งเดียว 3. พบว่า มีรายชื่อผู้ได้รับการสงเคราะห์ ให้ข้อมูลว่าไม่เคยกรอกเอกสารการขอรับเงิน และได้มีการปลอมเอกสารบางส่วน โดยได้รับเงินเพียง 1,000 บาท หรือ 1,500 บาท แต่เอกสารใบสำคัญรับเงินระบุได้รับเงิน 2,000 บาท  4. พบว่า ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง และ 5. พบว่า ไม่มีการรวมกลุ่มประกอบอาชีพอย่างแท้จริง