posttoday

เครือข่ายเยาวชนจี้สธ.เอาผิดป้ายโฆษณาเบียร์บนตึกเมืองกรุง

14 มีนาคม 2561

เครือข่ายเยาวชน จี้สธ.เอาผิดป้ายโฆษณาเบียร์บนตึกบริษัทดัง พร้อมมอบหลักฐานป้ายโฆษณาน้ำเมาผิดกฎหมายสารพัดยี่ห้อ เกลื่อนพื้นที่กทม.

เครือข่ายเยาวชน จี้สธ.เอาผิดป้ายโฆษณาเบียร์บนตึกบริษัทดัง พร้อมมอบหลักฐานป้ายโฆษณาน้ำเมาผิดกฎหมายสารพัดยี่ห้อ เกลื่อนพื้นที่กทม.

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายธีรภัทร์  คหะวงศ์  ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วย  นายวันชัย  พูลช่วย  เลขานุการเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และกลุ่มเยาวชน กว่า 20 คน  นำหลักฐานการกระทำผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยื่นถึง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่านทาง นพ.กิตติศักดิ์  กลับดี ที่ปรึกษารมว.สธ. โดยนำหลักฐานเป็นป้ายโฆษณา ทั้งในรูปแบบของป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ติดบนผนังตึก อาคารสูง ตามสถานที่ต่างๆในกทม.

ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการกากบาททับป้ายที่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งชูป้ายเสียดสีด้วยข้อความต่างๆ

นายธีรภัทร์  กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายฯเยาวชนได้เข้าร้องเรียนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีป้ายโฆษณาบนตึกสูงที่ผิดกฎหมาย รวมไปถึงป้ายโฆษณาตู้ไฟ ตามร้านเหล้าผับบาร์ต่างๆ ที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆจาก กทม. และป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ยังติดเกลื่อนเมือง ดังนั้นวันนี้จึงนำหลักฐานต่างๆมามอบให้สธ.เพื่อให้เอาผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32

"จากที่เครือข่ายเยาวชนฯลงสำรวจป้ายโฆษณาช่วงเดือนสิงหาคม 2560 และล่าสุด4 กุมภาพันธ์ 2561 พบว่า มีป้ายผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก  และถ้าหากใครลองขับรถออกจากบ้านต้องพบเห็นป้ายโฆษณาเหล้าเบียร์ลักษณะนี้อย่างแน่นอน แปลกใจมาก ว่าเรามีกฎหมายควบคุม แต่เหตุใดไม่จัดการ ปล่อยให้โฆษณากระตุ้นยอดขาย สร้างการมอมเมา โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไร้ซึ่งจรรยาบรรณ และไม่มีความรับผิดชอบ  ทั้งนี้หากดำเนินคดีถึงที่สุดแล้วเราขอให้สธ. นำเงินสินบนนำจับที่ได้จากค่าปรับ ซึ่งคิด 30 % จากจำนวนค่าปรับทั้งหมด  มอบเข้ากองทุนที่ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำเมา" นายธีรภัทร์ กล่าว

ขณะที่ นายวันชัย  กล่าวถึงข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณาสุข ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายฉบับนี้โดยตรง ดังนี้   1. ขอให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ดำเนินการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในทุกพื้นที่ ซึ่งขัดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 และกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพสัญลักษณ์เพื่อประกอบการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรูปของป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ติดบนผนังตึก อาคารสูง รวมไปถึงป้ายโฆษณาเบียร์ลีโอบนตึกอิตาเลียนไทยฯ  ตลอดจนป้ายโฆษณาตู้ไฟ ตามร้านเหล้าผับบาร์ต่างๆ ที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการตรวจสอบของเครือข่ายพบว่ามีป้ายการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายดังกล่าวจำนวนมาก 

2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิเช่น น้ำดื่ม น้ำโซดา ฯลฯ อย่างเป็นรูปธรรมโดยด่วน  ตลอดจนปัญหาการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อออนไลน์  ที่มีความผิดชัดเจนและกำลังระบาดอย่างรุนแรง  และ 3. ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 ซึ่งทุกฝ่ายต่างพยายามหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ที่ส่งผลต่อการเจ็บตายของประชาชนจำนวนมาก  เครือข่ายขอเรียกร้องผ่านไปยังผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เคารพกฎหมายและหยุดหาช่องเพื่อโฆษณาหลบเลี่ยงกฎหมาย ทำการตลาดที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ

นายวันชัยกล่าวว่า ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551มาตรา 32 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน  ปรับไม่เกิน 500,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกปรับอีกวันละ 50,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง  ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องดูไปถึงเจ้าของอาคารที่ติดตั้งป้าย  บริษัทที่รับจ้างโฆษณา  ผู้ว่าจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย  ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ทำตามกฎหมายกัน   ชอบหลบเลี่ยง เป็นศรีธนชัย  ทั้งที่กฎกระทรวงสามารถให้ทำได้แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด  แต่กลับไม่ยอมทำกันให้ถูกต้อง  ซึ่งตรงนี้ต้องขอประณาม