posttoday

โวยเอกชนทำลาย "ต้นไม้" ขอรัฐบังคับใช้กฏหมายปกป้องอนาคตคนกรุง

13 มีนาคม 2561

กลุ่มคนรักต้นไม้เรียกร้องรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดแก้ปัญหา บริษัทเอกชนที่รับงานก่อสร้างภาครัฐตัดต้นไม้ผิดวิธีจนเกิดความเสียหาย

กลุ่มคนรักต้นไม้เรียกร้องรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดแก้ปัญหา บริษัทเอกชนที่รับงานก่อสร้างภาครัฐตัดต้นไม้ผิดวิธีจนเกิดความเสียหาย

************************ 

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ประเทศไทย กำลังเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทว่าเส้นทางการวางระบบรางของบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งได้รับว่าจ้างจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งระเทศไทย (รฟม.) ได้ส่งผลกระทบต่อต้นไม้ริมถนน โดยมีการตัดกิ่งก้านจนเหลือแต่ตอ สร้างความเสียหายให้ต้นไม้ใหญ่ทรงคุณค่าอาจต้องตายไปอย่างน่าเสียดาย

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัญหาการตัดต้นไม้อย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของ กทม.ยังขาดทักษะ รวมถึงบริษัทเอกชนที่เข้ามารับงานโครงการขนาดใหญ่อย่าง บริษัทอิตาเลียนไทย ก่อให้เกิดการสูญเสียของต้นไม้ ดังนั้นต้องมีการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เสียปรับเป็นเงินจำนวน 2 หมื่นบาทเท่านั้น

ดังนั้น อยากให้หน่วยงานรัฐอาศัยประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 360 ระบุ ผู้ใดทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ มีโทษทั้งปรับหรือจำคุกเป็นเวลา 5 ปี เพราะต้นไม้เป็นทรัพย์สินสาธาณะ แต่กฏหมายข้อนี้ยังไม่มีใครออกมาบังคับใช้กับบริษัทอิตาเลียนไทย ที่ตัดต้นไม้จำนวน 14 ต้นไปแล้ว เพื่อเป็นรักอนาคตความเป็นอยู่ของคนในกรุงเทพฯให้อยู่รอดถือเป็นกรณีตัวอย่างไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

ทั้งนี้ ต้นไม้จำนวน 146 ต้นที่อยู่ในแนวเส้นทางก่อสร้าง ถูกตัดไปแล้ว 14 ต้น ทางกทม.ควรมีมาตรการไม่ให้ต้นไม้ถูกตัดอีกได้หรือไม่ หากไม่ทำ กทม. อาจตกเป็นจำเลยร่วมในการกระทำความผิดต่อทรัพย์สินสาธารณะด้วย ซึ่งบริษัทอิตาเลียนไทยจะรับผิดชอบอย่างไร ไม่ใช่จ่ายเงินค่าปรับเพียงอย่างเดียวแล้วจบ อีกด้านหนึ่งอิตาเลี่ยนไทย ได้เขียนคำประกาศธรรมาภิบาลต่อตลาดหลักทรัพย์ไว้แล้ว ดังนั้นหากไม่ทำทางตลาดหลักทรัพย์ควรเข้ามาดำเนินการจัดการ รวมทั้ง รฟม. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทเอกชนแห่งนี้เข้ามาทำงาน ต้องมีท่าทีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

“ประชาชนต้องแสดงออกในการไม่ยินยอมต่อการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งที่ประชาชนได้เสียภาษี รัฐบาล ไม่ควรให้บริษัทอิตาเลียนไทย เข้ามารับโครงการของประเทศอีกต่อไป เพราะบริษัทเอกชนมีผู้บริหารมีรสนิยมชอบทำลายเช่นนี้ รัฐควรดำเนินการจัดการอย่างจริงจัง”ผศ.ปริญญา กล่าว

 

โวยเอกชนทำลาย "ต้นไม้" ขอรัฐบังคับใช้กฏหมายปกป้องอนาคตคนกรุง

ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้แทนเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาไร้ระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง ทั้งยังปล่อยให้เติบโตแบบผิดธรรมชาติ หากไม่มีต้นไม้มนุษย์จะอยู่ไม่ได้ เพราะต้นไม้ฟอกอากาศให้มนุษย์หายใจและอยู่อาศัยมาจนถึงทุกวันนี้ แตกต่างจากในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เขาสามารถดูแลต้นไม้ได้ดีกว่าประเทศไทย เพราะมีแรงอนุรักษ์ ดังนั้นกลุ่มคนรักต้นไม้จึงต้องฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะปัญหาตัดต้นไม้ตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 11 สาย จะก่อให้เกิดผลกระทบอีกมากเท่าใด ยืนยันว่าไม่ได้จัดค้านการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่คนกรุงเทพฯต้องได้ทั้งรถไฟฟ้าและต้นไม้อยู่ร่วมกันได้ ถือเป็นเรื่องระดับชาติที่คนไทยต้องช่วยกันเรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทันที

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องติดตามคือขั้นตอนการขุดล้อมต้นไม้ถูกวิธีหรือไม่ เพราะปรากฏว่ายังมีการล้อมย้ายผิดวิธีจนต้นไม้ยืนต้นตาย รวมถึงการตัดแต่งกิ่งได้ปฐมพยาบาลไม่ให้ต้นไม้ติดเชื้อตายหรือไม่ ซึ่งบริษัทใหญ่ที่รับงานระดับประเทศมาแล้วจำเป็นต้องรู้เรื่องต้นไม้เป็นอย่างดี จากนั้นเมื่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จแล้วต้นไม้ที่ล้อมย้ายไปได้ถูกนำมาปลูกที่เดิมหรือไม่ เรื่องเช่นนี้ คนไทยต้องสร้างกติกาเพื่อให้บริษัทใหญ่ดำเนินการอย่างมีระบบรอบคอบและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

“เราอยากให้กฏระเบียบที่มีอยู่ถูกบังคับใช้อย่างจิงจัง ต้องถามสังคมว่าหากไม่มีกติกาจัดการกับบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล ทำชั่วแล้วยังรวยต่อไปเช่นนี้ แล้วเราจะสอนลูกหลานให้เป็นคนดีได้อย่างไร การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองก็เพื่อต้องการรักษาต้นไม้ที่เหลือให้อยู่รอดต่อไป โดยก่อให้เกิดการบังคับใช้กฏหมาย เริ่มทำระบบบริหารจัดการเป็นรูปแบบเสียที และนำต้นไม้กลับมาหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จด้วย”ช่อผกา กล่าว

ดร.สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้อำนวยการสวนวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า ทางกรมป่าไม้กำลังทำตามนโยบายรัฐบาล ตามยุทศาสตร์ชาติเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว 55% ของประเทศให้เป็นป่าธรรมชาติ อีกทั้งร่วมกับกลุ่มคนรักต้นไม้ทำให้การดูแลต้นไม้เป็นแนวทางเดียวกัน  และได้ทำเอกสารข้อพิจารณาการเลือกต้นไม้สำหรับปลูกริมถนน ดังนี้ 1. มีรูปทรงธรรมชาติ เป็นพุ่มสวยงามอยู่แล้ว ไม่ต้องการตัดตกแต่งมาก เช่น พิกุล 2.ระดับความสูงของต้นไม้ที่จะปลูกประมาณ 5-15 เมตร

3.หลีกเลี่ยงไม้ผลัดใบ ทิ้งใบมาก ทำให้ถนนรกรุงรัง ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ถนนและทางเท้า 4.หลีกเลี่ยงชนิดที่มีเรือนยอดแผ่กว้างมาก 5.ชนิดไม้ที่มีใบเล็ก เช่น มะขาม เมื่อร่วงลงพื้นจะไม่รกรุงรัง ย่อมสลายง่าย ดูกลมกลืนกับถนนและทางเท้า 6.ต้นไม้ที่มีความสามารถในการดูดซึมพิษเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม 7.ต้นไม้สวยงาม สร้างบรรยากาศและเป็นเอกลักษณ์ และ8.เลือกใช้ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตระดับกลาง ไม่เร็วหรือช้า ส่วนชนิดที่เติบโตรวดเร็วมักมีระบบรากที่รุนแรง เช่น ชมพูพันธุ์ทิพย์ 

ขณะที่ผู้แทน กทม. กล่าวว่า ต้นไม้ที่อยู่ตามแนวโครงการสร้างรถไฟฟ้า ต้องมีหนังสือแจ้งมายัง กทม. เพื่อขอนุญาตขุดล้อมนำไปพักฟื้นต่อไป แต่บริษัทอิตาเลียนได้ตัดแต่งอย่างไม่ถูกต้อง โดยเหลือแต่ต้นไม่มีใบเสี่ยงที่ต้นไม้จะตาย แล้วอ้างไม่ทราบว่าต้นนี้ที่ตัดไปเป็นทรัพย์สินของ กทม. เรื่องนี้ทางกทม.ได้ดำเนินการฟ้องทางแพ่งปรับเงินจำนวน 1.7 แสนบาทแล้ว

ด้าน ศรีสุวรรณ จรรยา  นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า หน่วยงานรัฐควรมีกระบวนการตัดต้นไม้ให้เป็นระบบ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่บริษัทเอกชนที่เข้ามารับงานก่อสร้างโครงการต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการติดตามขั้นตอนล้อมต้นไม้ไปบำรุงรักษาพบปัญหาว่า ปล่อยให้ยืนต้นตาย โดยทาง รฟม.ไม่ได้เข้าไปติดตามกระบวนการดูแลแม้แต่น้อย ซึ่งหวั่นเกรงว่าต้นไม้จำนวน 3 ล้านต้นที่เหลือในกรุงเทพฯอาจเสี่ยงจะสูญเสียเพิ่มมากขึ้น หากพบว่ามีกระบวนการตัดไม่ถูกต้องอีก ยืนยันจะเดินหน้ายื่นฟ้องร้องต่อไป

ศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ต่อไปนี้โครงการของรัฐต้องมีการเขียนข้อกำหนดว่าจ้างให้ดูแลต้นไม้ และมีองค์ความรู้มากเพียงพอ เพื่อไม่ให้เอกชนดำเนินการโดยไม่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตามสภา กทม. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรออกมาทำหน้าที่ดูแลรักษาต้นไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ กทม.ตัดด้วยความไม่รอบคอบอย่างที่เป็นมา