posttoday

ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมเดินหน้ายื่นเรื่อง-ผลวิจัยต่อนายกรัฐมนตรี

08 มีนาคม 2561

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตั้งหน่วยงานที่เป็นกลางขึ้นเป็นเจ้าภาพทำการศึกษาผลการวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเตรียมยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตั้งหน่วยงานที่เป็นกลางขึ้นเป็นเจ้าภาพทำการศึกษาผลการวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเตรียมยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เข้าพบ พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการพาณิชย์ฯ เพื่อแสดงความขอบคุณที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาทบทวนการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า แนะรัฐพิจารณาข้อมูลประโยชน์และโทษของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างถี่ถ้วน เสนอแก้ปัญหาลักลอบนำเข้าและปรับเงื่อนไขการควบคุมแทนการห้ามนำเข้าอย่างสิ้นเชิง โดยเครือข่ายฯ เตรียมยื่นหนังสือถึง รมว.สธ. และ รมว.พณ.

นายมาริษ กรันยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” และเฟซบุ๊คเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” เผยว่า เป็นตัวแทนของประชาชนกว่า 30,000 คนที่ลงชื่อในแคมเปญเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามาแสดงความขอบคุณท่านประธาน กมธ.พาณิชย์ฯ ที่รับฟังความเห็นของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ต้องการทางเลือกในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่

เมื่อปลายปีที่แล้ว กลุ่มได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในการยกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า และมีโอกาสเข้าให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการพาณิชย์ฯ ซึ่งผลสรุปจาก กมธ.พาณิชย์ฯ ไม่ได้บอกให้แบนบุหรี่ไฟฟ้า กลับแนะนำให้ควบคุมอย่างเหมาะสม ต้องขอขอบที่ศึกษาและพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 5 แสนคน และผู้สูบบุหรี่กว่า 10 ล้านคนที่จะได้มีโอกาสได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่

ในรายงานอ้างถึงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่ระบุว่ามีข้อมูลที่พอจะยืนยันได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีความปลอดภัย มี 21 ประเทศที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะที่เครือข่ายฯ เรียกร้องให้มีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก โดยกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงได้ พร้อมให้ข้อมูลผลการศึกษาจากต่างประเทศเช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ที่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษที่ออกมาน้อยกว่าบุหรี่มวนมาก แถมยังช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศได้อีกด้วย

ในรายงานฯ ตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าของหน่วยงานด้านสุขภาพและกลุ่มผู้ใช้ฯ ไม่สอดคล้องกันในรายละเอียด แนะนำให้รัฐบาลพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนในด้านประโยชน์และโทษ พร้อมเสนอ 6 ทางเลือกให้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ขายในร้านขายยา หรือควบคุมตามเงื่อนไขบุหรี่ทั่วไป

 

ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมเดินหน้ายื่นเรื่อง-ผลวิจัยต่อนายกรัฐมนตรี

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังได้ยื่นผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดของสาธารณสุขอังกฤษ  สถาบันวิชาการแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา และ สถาบันมะเร็งสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ให้กับประธานกมธ.พาณิชย์ฯ ซึ่งรายงานทั้ง 3 ฉบับสรุปตรงกันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน เนื่องจากละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสารพิษน้อยกว่าควันจากบุหรี่ เพราะไม่มีการเผาไหม้ ผู้สูบบุหรี่จึงควรได้รับการสนับสนุนให้เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ และให้กำหนดมาตรการด้านสาธารณสุขหรือนโยบายที่ป้องกันเยาวชนและผู้ไม่สูบบุหรี่ไม่ให้เกิดการเริ่มใช้บุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบทุกประเภท

นายมาริษ กล่างว่า สำหรับประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมายที่ห้ามนำเข้าและจำหน่าย แต่มีผู้ใช้ที่ต้องลักลอบซื้อขายอย่างผิดกฎหมายเกือบ 5 แสนคน คิดเป็นมูลค่าใต้ดินกว่า 6,000 ล้านบาท แถมยังไม่สามารถป้องกันเด็กเยาวชนได้จริงเพราะสามารถซื้อขายโดยปราศจากการตรวจสอบและควบคุม

“เราหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอแนะของ กมธ.พาณิชย์ฯ ที่ให้มีการทบทวนมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ทันต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าขึ้น ในรายงานของ กมธ.พาณิชย์ฯ ก็บอกว่าข้อมูลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในบ้านเรายังขัดแย้งกันอยู่ เราจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตั้งหน่วยงานที่เป็นกลางขึ้นเป็นเจ้าภาพทำการศึกษาผลการวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งจากต่างประเทศและการวิจัยในประเทศ อย่างรอบคอบและเป็นระบบ เพื่อนำข้อมูลจากการวิจัยมากำหนดแนวทางการควบคุมให้เหมาะสมกับบ้านเรา

เราจะนำรายงานฉบับนี้พร้อมผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนการห้ามนำเข้าและห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่อไป” นายมาริษกล่าว