posttoday

ประมงแจงปลานำเข้าจากฟุกุชิมะผ่านการตรวจเข้ม ขอผู้บริโภควางใจได้

05 มีนาคม 2561

รองอธิบดีกรมประมงแจงปลานำเข้าจากฟุกุชิมะต้องผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐานขอประชาชนวางใจได้ คาดผู้นำเข้าปล่อยข่าวหวังโปรโมท

รองอธิบดีกรมประมงแจงปลานำเข้าจากฟุกุชิมะต้องผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐานขอประชาชนวางใจได้ คาดผู้นำเข้าปล่อยข่าวหวังโปรโมท

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ชี้แจงกรณีที่สื่อญี่ปุ่นรายงานข่าวว่า ประเทศไทยได้นำเข้าปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ เมื่อปี2554 ว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยที่ผ่านมาประเทศไทยก็นำเข้าปลาจากทุกประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นเป็นปกติอยู่แล้ว โดยไม่มีการสั่งห้ามนำเข้าแต่อย่างใด รวมถึงเมื่อช่วงปี 2554 ด้วย แต่การดำเนินการจำต้องเป็นไปตามมาตรฐานนำเข้าที่สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กำหนด รวมถึงการควบคุมมาตรฐานกัมมันตภาพรังสีด้วย

สำหรับขั้นตอนการนำเข้าปลาทุกชนิด เจ้าหน้าที่ด่านตรวจประมง จะต้องตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงต้องเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจด้วย และหากผ่านเกณฑ์มาตรฐานจึงสามารถให้นำเข้าได้

นางอุมาพร กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่มีข่าวดังกล่าวออกมา เนื่องเป็นการโปรโมทของบริษัทผู้นำเข้าปลาดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการนำเข้าปลาตาเดียวครั้งแรกของไทยตั้งแต่ปี2554 ซึ่งยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะแม้แต่ช่วงเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็มีการนำเข้าปลาจากญี่ปุ่น แต่หน่วยงานของไทยได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์เจแปนไทม์ส รายงานว่า ญี่ปุ่นได้ส่งออกปลาตาเดียวจากฟุกุชิมะมายังประเทศไทยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการส่งออกครั้งแรกของพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่เกิดวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

รายงานข่าวระบุว่าปลาสดจำนวน 110 ก.ก.ได้ถูกส่งมายังประเทศไทยและจะถูกเสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวน 12 ร้านในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุด้วยว่า จังหวัดฟุกุชิมะ ได้สุ่มตรวจอาหารทะเลที่จับได้ในพื้นที่ และไม่พบการปนเปื้อนของสารซีเซียมตั้งแต่เดือนเม.ย.2558

ทั้งนี้ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2559 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการสุ่มตรวจเพื่อเฝ้าระวังสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในอาหารสดและอาหารพร้อมปรุงที่มีโอกาสปนเปื้อนทั้งอาหารในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตัวอย่างนำเข้าจากประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ เวียดนาม จีน มาเลเซีย เยอรมันนี อเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ผลตรวจวิเคราะห์ไม่พบการปนเปื้อนสารซีเซียม-137 ทุกตัวอย่าง

นอกจากนี้หลังเกิดเหตุวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แจ้งว่า มีมาตรการในการเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าอาหารทุกประเภท จาก 8 จังหวัด ได้แก่ ฟุกุชิมะ, กุมมะ, อิบารากิ, โทจิงิ, มิยางิ, ชิบะ, คานากาวะ, และชิซูโอกะ แสดงผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากห้องปฏิบัติการของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากประเทศญี่ปุ่น โดยระบุประเภทชนิดอาหาร และปริมาณกัมมันตรังสี (Certificate of Analysis)

ส่วนกรณีนำเข้าอาหารจากพื้นที่นอกเหนือจาก 8 จังหวัด ผู้นำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าที่มีการเพาะปลูก หรือเพาะเลี้ยง หรือผลิต (Certificate of Origin) จากหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานที่รัฐรับรอง หรือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง อย.ได้ดำเนินการตรวจสอบ ณ ด่านอาหารและยา ตามประกาศกระทรวงฯ อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

หากผู้นำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นไม่มีเอกสารตามที่ประกาศฯ กำหนด ด่านอาหารและยาจะยังไม่อนุญาตให้ผู้นำเข้านำอาหารเข้ามาในประเทศ จนกว่าจะมีเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวมาแสดง 

ภาพ เอเอฟพี