posttoday

ภริยาทูตจีนทึ่ง!ฝีมือคนไทย ตามรอยผ้าไหมที่โคราช

03 มีนาคม 2561

สภาสตรีแห่งชาติฯนำคณะภริยาเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย “ตามรอยผ้าไหมไทย”เยือนถิ่นเมืองย่าโม กระชับความสัมพันธ์สตรีไทย-สตรีจีน

สภาสตรีแห่งชาติฯนำคณะภริยาเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย “ตามรอยผ้าไหมไทย”เยือนถิ่นเมืองย่าโม กระชับความสัมพันธ์สตรีไทย-สตรีจีน

เมื่อวันที่  3 มี.ค.61 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย คณะกรรมการสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำคณะ มาดาม พัน เผิง ภริยาเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  กว่า 20 คน เดินทางมายังจังหวัดนครราชสีมา เพื่อ“ตามรอยผ้าไหมไทย” ร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนตลอดจนกระบวนการผลิตผ้าไหมแบบครบวงจรตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหม การมัดย้อมผ้าให้เป็นลวดลายและการทอผ้าสวมใส่ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างองค์กีสตรีสองประเทศ โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่งจาก นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา นางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกสมาคมสตรีจังหวัดนครราชสีมาและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ

มาดามพัน เผิง กล่าวว่า การเดินทางมาจ.นครราชสีมาในครั้งนี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสตรีของทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังจะต่อยอดไปสู่ความสัมพันธ์ทางด้านอื่นๆอาทิ ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ จ.นครราชสีมากับประเทศจีนถือเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ที่มีการลงนามร่วมกันการมาในครั้งนี้จึงเป็นการมาสานต่องานที่ เคยทำไว้อย่างไรก็ตามเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้พูดให้ฟังเสมอว่าคนไทย เป็นคนมีน้ำใจซึ่งวันนี้ก็ยืนยันได้เป็นอย่างดี

จากนั้น คณะได้ไปเยี่ยมชมศึกษาความเป็นมาของเส้นทางสายไหมบ้านจะโปะ ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย  ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ที่มีชื่อเสียงด้านการย้อมสีผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ มีลายผ้าเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีพิพิธภัณฑ์ผ้าของชุมชนที่เก็บสะสมผ้าไว้ เพื่ออนุรักษ์ลายผ้า ซึ่งบางผืนมีอายุกว่า 200  ปี เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไหม สะท้อนภูมิปัญญาพื้นเมือง สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้น โดยนางพัน เผิงถึงได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการทอผ้าอย่างมาก ถึงกับทดลองนั่งทอผ้าแบบกี่กระตุกด้วยมืออย่างตั้งใจ

จากนั้น ได้เดินทางไปที่บริษัทอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย (จิม ทอมสัน)  ซึ่งให้เห็นภาพเส้นทางสายไหมในภาพของภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาการผลิตผ้าไหมจากกี่ทอมือใต้ถุนบ้านสู่กี่ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการผลิตผ้าไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไปจนถึงการทอผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมโดยมีพนักงานกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนใกล้เคียงด้วย