posttoday

กรมชลฯชี้แจงข่าวแกนนำต้านอ่างเก็บน้ำวังหีบถูกข่มขู่

01 มีนาคม 2561

กรมชลฯชี้แจงข่าวแกนนำกลุ่มต้านโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบถูกข่มขู่เผยราษฎรต้องการให้ก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนฝ่ายคัดค้านไม่ต้องการโยกย้ายถิ่นฐานใหม่

กรมชลฯชี้แจงข่าวแกนนำกลุ่มต้านโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบถูกข่มขู่เผยราษฎรต้องการให้ก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนฝ่ายคัดค้านไม่ต้องการโยกย้ายถิ่นฐานใหม่

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีมีการนำเสนอข่าว “แกนนำและประชาชนที่ร่วมกันคัดค้านการสร้างเขื่อนวังหีบ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานข่มขู่ และมีทหารระดับสูงใน กอ.รมน.จ.นครศรีธรรมราช ให้การสนับสนุนโครงการฯ ทั้งที่การสร้างเขื่อนไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอ.ทุ่งสงได้ อีกทั้งเขื่อนวังหีบยังกักเก็บน้ำได้ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบก่อสร้างถึง 2,600 ล้านบาท รวมไปถึงกรณีเขื่อนวังหีบผ่านกระบวนการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว” นั้น

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ขอชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช กรมชลประทาน ได้บูรณาการทำงานร่วมกับจ.นครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นหลัก มีการประชุมชี้แจงเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการในพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ โดยมิได้มีการข่มขู่ใดๆ จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐตามที่กล่าวอ้าง

ส่วนกรณีการสร้างกระแสข่าวเรื่องการจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน และสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อน นั้น ขอเรียนว่า จ.นครศรีธรรมราช ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำ “โครงการวังหีบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ร.9) จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งครอบคลุมทุกภาคส่วนมากที่สุด เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมา คณะทำงานฯชุดนี้ ได้มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 60 ให้ดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบฯ โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ ชี้แจงข้อมูล ทำความเข้าใจ และสร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ตลอดจนกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเขาเหมน - วังหีบ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งให้เร่งสำรวจผู้ได้รับผลกระทบ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย พันธุ์พืชของราษฎร และคณะกรรมการพิจารณาราคาที่ดิน โดยให้เร่งดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาราษฎรที่ได้รับผลกระทบโดยเร็ว ถูกต้อง และโปร่งใส

สำหรับกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อที่ดินทำกิน ทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์ นั้น ขอชี้แจงว่า จากผลการศึกษารายงาน EIA ฉบับเดือน ก.ย. 59 ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบตามมติ กก.วล. ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 59 ได้มีการศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณพื้นที่โครงการวังหีบฯ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 596 ไร่ แยกเป็น พื้นที่เขื่อนหัวงานประมาณ 70 ไร่ และพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 526 ไร่ ประกอบไปด้วย พื้นที่การเกษตร 378 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 , พื้นที่ที่อยู่อาศัย 88 ไร่ และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 89 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 15 เท่ากัน ส่วนพื้นที่ป่าไม้ 20 ไร่ และพื้นที่น้ำ 20 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 เท่ากัน ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าว มีรายชื่อราษฎรผู้ที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ จำนวน 19 หลัง และมีรายชื่อราษฎรเข้ามาครอบครองและทำประโยชน์ 73 ราย ซี่งกรมชลประทานได้มีการประมาณการค่าทดแทนทรัพย์สิน(ค่ารื้อย้าย(ค่าที่ดิน) สิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่างๆ) ประมาณ 210 ล้านบาท รวมอยู่ในแผนงานงบประมาณของโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบฯ เรียบร้อยแล้ว

สำหรับประเด็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองทุ่งสง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะคลองวังหีบไม่ผ่านกลางเมืองทุ่งสง นั้น ขอชี้แจงว่า เมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบเสร็จแล้ว จะสามารถตัดยอดน้ำและควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่คลองวังหีบ ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลหลากในคลองวังหีบลดลง ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าลำน้ำคลองวังหีบจะไหลอ้อมเมืองทุ่งสง แต่จากแผนงานพัฒนาเพื่อการบรรเทาปัญหาอุทกภัยเมืองทุ่งสง จะมีการผันน้ำออกจากคลองท่าโหลน ซึ่งเป็นลำน้ำสายหนึ่งที่ไหลเข้าผ่านตัวเมืองทุ่งสง ปัจจุบันถูกบุกรุกจนทำให้อัตราการระบายน้ำลดลงอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองทุ่งสงได้ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างทางผันน้ำจากคลองท่าโหลนลงมาสู่คลองวังหีบ ช่วยลดปริมาณน้ำไหลหลากเข้าท่วมตัวเมืองทุ่งสงได้ พร้อมกับการปรับปรุงและพัฒนาคลองสายต่าง ๆ และอาคารบังคับน้ำ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองทุ่งสงได้

กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเขื่อนกักเก็บน้ำ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ต้องใช้งบก่อสร้างถึง 2,600 ล้านบาท และพบว่างบประมาณเพิ่มอีกเท่าตัวเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นั้น ขอชี้แจงว่า วงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ มีทั้งสิ้น 2,377.644 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ราคาเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ 918.85 ล้านบาท ราคาระบบส่งน้ำ 320 ล้านบาท ค่าที่ดิน 210 ล้านบาท ค่าแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 100.351ล้านบาท และอื่นๆ อาทิ ค่าเตรียมความพร้อม ค่าก่อสร้างส่วนประกอบอื่น และค่าบูรณะสิ่งก่อสร้าง 828.443 ล้านบาทเป็นต้น ซึ่งเป็นการประมาณการราคาวงเงินงบประมาณของโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบฯ ณ ปี ปัจจุบัน

ส่วนกรณีที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ระบุเขื่อนวังหีบผ่านกระบวนการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว นั้น ขอชี้แจงว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการแบบมีส่วนร่วมของประชาชน มีการประชุมชี้แจงเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯในพื้นที่ การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปี 2550 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 59 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) ได้มีมติที่ประชุมเห็นชอบต่อรายงาน EIA ของโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบฯ กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีการจัดประชุมชี้แจงทั้งหมด 55 ครั้ง มีการเข้าร่วมประชุมชี้แจงองค์กรอิสระ(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) 3 ครั้ง สามารถสรุปผลการสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อโครงการฯตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีราษฎรผู้ที่ต้องการให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบคิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ก่อสร้างอ่างฯ เนื่องจากไม่ต้องการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยใหม่

อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 ที่ผ่านมา นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่และพบปะราษฎรในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบฯ บริเวณ ม.1 บ.สระแก้ว ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง โดยได้ขอให้ทางราษฎรแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมตรวจสอบแนวเขตของโครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบฯ ร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินโครงการฯ ซึ่งมีราษฎรยกมือคัดค้านในการตรวจสอบแนวเขตเพียงรายเดียว จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงมาให้ทราบโดยทั่วกัน.