posttoday

ย้อนรอยคดีวิสามัญ "โจ ด่านช้าง" คดีในตำนาน "พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค"

25 กุมภาพันธ์ 2561

ย้อนรอยคดีวิสามัญ 6 คนร้ายในจังหวัดสุพรรณบุรีจนทำให้ชื่อของ "พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค " ดังสนั่น

ย้อนรอยคดีวิสามัญ 6 คนร้ายในจังหวัดสุพรรณบุรีจนทำให้ชื่อของ "พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค " ดังสนั่น

เมื่อครั้งที่ "พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค" อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจยังอยู่ในราชการ เขาถูกผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งฉายาว่า "เสือใต้" คู่กับ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ที่ได้รับฉายาว่า "สิงห์เหนือ"

ฉายา "เสือใต้" มาจากการเป็นนายตำรวจมือปราบของ พล.ต.อ.สล้าง และ คดีสำคัญที่ทำให้ความเป็น "มือปราบ" เป็นที่รู้จักไปทั่วก็คือคดี "วิสามัญฆาตกรรม โจ ด่านช้าง และพวกอีก 5 คน"  

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2539 เมื่อชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย "ศุภฤกษ์ เรือนใจมั่น" หรือ "โจ ด่านช้าง" หัวหน้าแก๊ง "สุบิน เรือนใจมั่น" น้องชายของโจ ด่านช้าง, "ประสิทธิ์ โพธิ์หอม" ,"ยิ้ว ปริวัตรสกุลแก้ว", "หยัด" และ"ปราโมทย์" ไม่ทราบนามสกุล พร้อมอาวุธสงครามครบมือมุ่งตรงไปหวังก่อเหตุสังหาร "อุบล หรือ เล็ก บุญช่วย" หลังถูกหักหลังในธุรกิจค้ายาบ้าที่ทำร่วมกัน

ทว่าตำรวจ สภ.สองพี่น้อง สามารถสกัดการก่อเหตุของแก๊ง โจด่านช้างได้ทัน คนร้ายทั้งหมดหลบอยู่ในบ้านใต้ถุนสูงที่มีน้ำท่วมรอบบ้านใน ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า และมีตัวประกันอยู่ในบ้านถึง 3 คน คือ "ประสงค์ ครุฑใจกล้า" อายุ 45 ปี เจ้าของบ้าน ที่ป่วยเป็นอัมพาต "บรรยงค์ ข้อทน" อายุ 40 ปี ภรรยา และ ด.ญ.ประสาน ครุฑใจกล้า อายุ 11 ขวบ บุตรสาว โดยกลุ่มคนร้ายมีการปะทะอย่างต่อเนื่องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ครั้งนั้น พล.ต.อ.สล้าง ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ นั่งเฮลิคอปเตอร์เดินทางลงพื้นที่ไปสั่งการด้วยตัวเอง และเรียกประชุมนายตำรวจที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์

มีคำสั่งให้ใช้การเจรจาเกลี้ยกล่อม และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแฝงกายล้อมตัวบ้านในระยะใกล้ที่สุด เพื่อรอจังหวะลงมือ รวมทั้งได้มีการส่ง "พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง" ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปราม ถอดเครื่องแบบเดินถือโทรโข่งลุยน้ำเข้าไปเจรจากับคนร้าย

การกดดันของเจ้าหน้าที่บรรลุผลในที่สุด เมื่อคนร้ายทั้ง 6 คน ยอมปล่อยตัวประกันและขอมอบตัว

จากนั้นคนร้ายทั้งหมดได้ถูกใส่กุญแจมือและถูกเจ้าหน้าที่พาเดินลุยน้ำมาจนถึงฝั่ง แต่เจ้าหน้าที่กลับพาคนร้ายเข้าไปในบ้านอีกรอบ จากนั้นประมาณ 20 นาทีได้เกิดเสียงปืนดังรัวขึ้นและคนร้ายทั้งหมดได้ถูกวิสามัญฆาตกรรม

หลังเกิดเหตุฝ่ายตำรวจให้การว่า  คนร้ายได้ขอให้ตำรวจนำตัวกลับเข้าในบ้านอีกรอบ เพื่อค้นหาอาวุธของกลาง ตำรวจจึงพากลับไปตามที่ร้องขอ แต่ระหว่างค้นหาอาวุธ หนึ่งในคนร้ายได้หยิบปืนที่ซ่อนไว้ขึ้นมาต่อสู้ เจ้าหน้าที่จึงต้องวิสามัญฆาตกรรม

คดีนี้ได้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2542 ศาลแขวงสุพรรณบุรีได้มีคำตัดสินว่า โจ ด่านช้าง พร้อมพวกถูก 3 นายดาบตำรวจวิสามัญฆาตกรรม ขณะนำอาวุธที่ซ่อนไว้ออกมายิงต่อสู้ ส่วนบิดาของโจได้ยอมรับคำตัดสินจึงทำให้คดีจบลงในที่สุด