posttoday

ทุกข์ชาวบ้าน! "ตลาดเถื่อน" เมื่อรัฐมีกฎหมาย เเต่กลับละเลยบังคับใช้

21 กุมภาพันธ์ 2561

จากทุบรถสู่การสางปัญหา "ตลาดเถื่อน" ทุกข์ชาวบ้านที่ถูกซุกไว้ใต้พรม บทเรียนสะท้อนรัฐละเลยบังคับใช้กฎหมาย!

จากทุบรถสู่การสางปัญหา "ตลาดเถื่อน" ทุกข์ชาวบ้านที่ถูกซุกไว้ใต้พรม บทเรียนสะท้อนรัฐละเลยบังคับใช้กฎหมาย!

เหตุการณ์ "บุญศรี แสงหยกตระการ" เจ้าของบ้านพักในซอยหมู่บ้านเสรีวิลล่า ซ.ศรีนครินทร์ 55 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. ทุบรถยนต์ที่จอดขวางหน้าบ้านพัก ในซอยหมู่บ้านเสรีวิลล่า ท้องที่เขตประเวศ กทม. สั่นสะเทือนไปทั่วสังคม

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เธอและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส จากการที่มี "ตลาด" มาตั้งอยู่โดยรอบมานานนับ 10 ปี

เจ้าของบ้านต่อสู้ทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ ทั้งการร้องเรียนต่อสำนักงานเขตประเวศที่รับผิดชอบ ไปจนการยื่นฟ้องร้องต่อศาล ทว่าหลายปีที่ผ่านมากลับไร้ผลที่จะมาบรรเทาความเดือดร้อน

ยิ่งไปกว่านั้นการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในวันนี้กลับพบว่า "ตลาด 5 แห่ง" ที่อยู่รายล้อมบ้านของบุญศรี มีรายละเอียดในการขออนุญาตที่เเตกต่างกัน บางเเห่งขออนุญาตก่อสร้างอาคาร แต่ไม่ได้ขออนุญาตจัดตั้งตลาด ขณะที่บางเเห่งเป็นการขออนุญาตลักษณะค้าเชิงพาณิชย์

เรียกง่ายๆว่า มีทั้งไม่ถูกต้องและไม่ชัดเจน!

เจ้าหน้าที่ละเลยบังคับใช้กฎหมาย

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่หย่อนยาน เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นับ 10 ปี และมีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความละเลยของหน่วยงานเขต เชื่อว่าเมื่อตอนอนุมัติให้ทำการก่อสร้างหรือจัดการพาณิชย์ เรื่องคงไม่มาถึงการรับรู้ของส่วนกลาง

เมื่อเกิดความผิดพลาดซึ่งกินเวลามาอย่างยาวนานเช่นนี้ การบังคับใช้กฎหมายต้องมากกว่าแค่การสั่งปรับรายวัน เช่น การรื้อถอนหรือมาตรการอื่นที่เข้มงวดกว่าที่เป็น

"คนอนุญาตหรือเขตต้องบังคับใช้กฎหมาย นำข้อมูลจริงมาเปิดเผย เพื่อจะหาทางออก เมื่อเขาปฏิบัติไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย เขตต้องบังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจที่จะทำได้อยู่แล้ว"อดีตรองผู้ว่าฯกทม.กล่าว

ทุกข์ชาวบ้าน! "ตลาดเถื่อน" เมื่อรัฐมีกฎหมาย เเต่กลับละเลยบังคับใช้ นายธนะสิทธิ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตประเวศ และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร  ลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านพักที่ได้รับความเดือดร้อนเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 61

เมื่อแนวทางปกติใช้จัดการไม่ได้ ก็ควรใช้กฎหมายพิเศษ!

เกิดผล แก้วเกิด ทนายความ แนะนำว่า เมื่อคำสั่งทางปกครองเรื่องการรื้อถอนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล แต่เมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏชัดว่า สิ่งที่ตลาดทำเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งตลาด ก็ควรเลือกใช้กฎหมายพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ กทม. ที่เคยออกมาจัดระเบียบพื้นที่การค้าหลายแห่ง

"เมื่อแนวทางปกติไม่สามารถจัดการได้ ก็ใช้คำสั่ง คสช. ที่เคยออกมาใช้กับตลาดอื่นๆ ที่ผ่านมา เช่น คลองถม เสือป่า หรือบรรดาทางเท้าในพื้นที่ต่างๆ  ถ้ามันผิดกฎหมายจริง ทำไมไม่จัดการ ล่าช้า 10 ปีมัวทำอะไรอยู่ ฉะนั้นก็เอาคำสั่งคสช. มาใช้จัดการสิ"

 

ทุกข์ชาวบ้าน! "ตลาดเถื่อน" เมื่อรัฐมีกฎหมาย เเต่กลับละเลยบังคับใช้

รัฐมีปัญหา-ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการอนุมัติ

ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการประเมินผลกระทบสภาพแวดล้อมในภาพใหญ่ การดูแลผลประโยชน์สาธารณะของภาครัฐ กลไกการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

“การเกิดขึ้นของพื้นที่การค้าหรือตลาด หลายครั้งเกิดจากการขออนุญาตและพิจารณาอนุมัติในพื้นที่เล็กๆ ก่อนจะรวมกันเป็นแปลงขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน ทำให้ขาดการพิจารณา ประเมินผลกระทบในภาพใหญ่ เช่น เรื่องที่จอดรถ ปริมาณของเสีย และอื่นๆ หน่วยงานไม่ได้ดูรายละเอียดและผลกระทบอย่างชัดเจน

"นอกจากนั้นประชาชนมีส่วนร่วมกับสิ่งที่รัฐอนุมัติน้อยมาก รัฐเป็นฝ่ายอนุมัติและไม่สามารถกำกับดูแลสิ่งที่ตัวเองอนุมัติให้มันเป็นไปอย่างเหมาะสมหรืออาจมีมาตรการไม่เข้มข้นเพียงพอจะตรวจสอบเพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้น"

เขาบอกว่าปัญหาลักษณะดังกล่าวสั่งสมจากการขยายตัวของเมือง มีการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ ทับซ้อนผังเมืองเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา นอกจากนั้นยังเป็นความผิดพลาดของการอนุมัติพื้นที่ของหน่วยงานย่อยที่ไม่มีเครื่องมือหรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังได้สำเร็จ