posttoday

รีดภาษีเงินร้อน

11 ตุลาคม 2553

คลังจับมือแบงก์ชาติเก็บ15%สกัดจุดตลาดพันธบัตรสู้บาทแข็ง

คลังจับมือแบงก์ชาติเก็บ15%สกัดจุดตลาดพันธบัตรสู้บาทแข็ง

คลังเสนอ ครม.อังคารนี้ เก็บภาษีดอกเบี้ยนักลงทุนต่างชาติที่นำเงินซื้อพันธบัตร 15%

รีดภาษีเงินร้อน

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยระหว่างการร่วมประชุมประจำปีธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ต.ค.นี้ จะเสนอมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งด้วยการเก็บภาษีดอกเบี้ยหัก ณ ที่จ่าย 15% จากนักลงทุนต่างชาติที่นำเงินเข้ามาซื้อพันธบัตรของรัฐบาล

“ผมได้หารือกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นชอบแล้ว และ ธปท.จะชี้แจงกับนักลงทุนต่อไป” นายกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธปท.เคยยกเว้นภาษีดอกเบี้ย เนื่องจากต้องการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป โดยการเก็บภาษีจะมีผลทันทีกับนักลงทุนที่เข้ามาหลังจากมาตรการมีผลบังคับใช้ ส่วนต่างชาติที่เข้ามาก่อนยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีต่อไป

นายกรณ์ มองว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ในระดับสูง เป็นผลให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก เฉพาะเดือนที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลถึง 7 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดรวมต่างชาติที่เข้ามาลงทุนพันธบัตรทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบสัดส่วนที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ระดับ 4% ของพันธบัตรที่ออกมาทั้งหมดเท่านั้น

นายกรณ์ ยืนยันว่ามาตรการเก็บภาษีเงินทุนที่เข้ามาในประเทศนั้นคงยังไม่นำมาใช้ เพราะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งต้องใช้เวลานาน แต่การเก็บภาษีดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นกระทรวงการคลังดำเนินการได้ทันที

กระทรวงการคลังยังจะเสนอ ครม.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถซื้อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ และมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งค่าลงทุนเพิ่มขีดความสามารถด้วยการลงทุนใหม่ให้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่วางแผนไว้

ด้านนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า จะหารือกับกระทรวงการคลังในวันที่ 11 ต.ค. เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท โดยธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยกู้ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อปล่อยกู้ต่อ แต่ยังไม่สรุปเรื่องวงเงิน รวมถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยและแนวทางปล่อยกู้ที่ชัดเจน