posttoday

ศาลออกระเบียบจ่ายรางวัลผู้แจ้งจับ "คนหนีคดี" ตั้งแต่2หมื่น-1แสนบาท

20 กุมภาพันธ์ 2561

ศาลยุติธรรมออกระเบียบจ่ายรางวัลผู้แจ้งความนำจับ "ผู้ต้องหา-จำเลย" หลบหนีคดีตั้งแต่ 2 หมื่น - 1แสนบาท

ศาลยุติธรรมออกระเบียบจ่ายรางวัลผู้แจ้งความนำจับ "ผู้ต้องหา-จำเลย" หลบหนีคดีตั้งแต่ 2 หมื่น - 1แสนบาท

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ประชุมร่วมผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้น 261 ศาลทั่วประเทศผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เกี่ยวกับ ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม(ก.บ.ศ.) ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว และค่าพาหนะแก่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่ยากไร้ เงินสินบนแก่ผู้แจ้งความนำจับและเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ ผู้จับ ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่หลบหนี ตาม พ.ร.บ.มาตรการกำกับ และติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล 2560

นายสราวุธ กล่าวว่า ระเบียบดังกล่าว มีผลบังคับใช้ วันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจาก พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ.2560 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 26 ก.ย.60

ซึ่งในมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมฯ ได้บัญญัติเกี่ยวกับ การเบิกจ่ายค่าตอบแทน , ค่าใช้จ่าย , ค่าพาหนะ เงินสินบน และเงินรางวัลนั้นว่าให้เป็นไปตามระเบียบ ก.บ.ศ. ซึ่งก็จะใช้เงินจากค่าปรับในคดีอาญามาจ่าย โดยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เงินมีค่าปรับในคดีอาญามีจำนวนประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยระเบียบ ก.บ.ศ. จะเป็นเครื่องมือของศาลที่ใช้ดำเนินการตรงนี้ ซึ่งการกำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ศาลจะเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่มีหน้าที่ต้องคอยกำชับหรือตักเตือนให้ผู้ถูกปล่อยตัวปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้สำนักงานศาลฯ ได้ประสานงาน กับกรมการปกครอง เพื่อสร้างเครือข่ายให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศสามารถเป็นผู้กำกับดูแลและรับเป็นผู้รายงานตัวผู้ถูกปล่อยชั่วคราวได้ด้วย และยังเป็นฐานข้อมูลสำหรับคนในพื้นที่ ซึ่งศาลกำหนดพิธีลงนามการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการประสานงานระหว่างศาลยุติธรรมกับฝ่ายปกครอง โดยกรมการปกครอง ในวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.พ.นี้ ตามโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม ทั้งนี้เชื่อว่า กรมการปกครอง สามารถสั่งการให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเหมือนเครือข่ายเป็นผู้กำกับการติดตามการรายงานตัว รวมถึงฐานข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

นอกจากนี้ในวันอังคารที่ 27 ก.พ.นี้ ศาลยุติธรรมก็จะลงนาม MOU กับกรมคุมประพฤติด้วย ซึ่งสิ่งที่เราดำเนินการกับกรมคุมประพฤติจะมี 2 ประการ ประการแรก คือฐานข้อมูล 6 ล้านคดีทั่วประเทศโดยจะเป็นข้อมูลที่ศาลใช้ประกอบพิจารณาวินิจฉัยว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ เพราะบางคนกระทำความผิดหลายครั้งก็จะอยู่ในฐานข้อมูล ประกอบกับการที่ศาลสั่งสืบเสาะในปัจจุบัน เรายังต้องมีจดหมายนำส่งไปที่กรมคุมประพฤติ แต่ต่อไปเมื่อได้ทำข้อตกลงแล้วเราใช้ระบบสแกนกระบวนพิจารณา แล้วส่งไปโดยไม่ต้องทำหนังสือนำส่งแล้วกรมคุมประพฤติ ก็จะรับดำเนินการ ก็ทำให้รวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำหนังสือส่ง ลดการเซ็นเอกสาร และสิ่งที่สำคัญจะเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ. กรมคุมประพฤติ ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 วันที่จะต้องแจ้งคำสั่งต่างๆ โดยสำนักงานศาลฯ ก็จะจัดทำคู่มือและอธิบายขั้นตอนทั้งหมดด้วยว่าถ้าสามารถเชื่อมต่อในทางเทคโนโลยี กรมประพฤติกับศาลทั่วประเทศจะทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ลดกระดาษในการติดต่อสื่อสารกัน

"สิ่งที่ศาลทั่วประเทศจะต้องทราบ คือกระบวนการตามกฎหมายฉบับนี้ เปิดโอกาสให้ศาลสามารถใช้กลไกตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราวเพื่อให้คำปรึกษา ซึ่งสิ่งที่สำคัญ คือผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเป็นคนยากจนไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าพาหนะมารายงานตัวต่อศาล ระเบียบฉบับนี้ก็เปิดช่องให้สามารถจ่ายเงินในอัตราครั้งละ 300 บาทและนอกเขตศาล 500 บาท หรือถ้าศาลเห็นว่าจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่านี้ก็สามารถกำหนดได้ ขณะที่การตั้งผู้กำกับดูแล จะเป็นกลไกและเครื่องมือสำนักงานศาลฯ โดยจะมีการใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM ใน 23 ศาลนำร่องในการกำกับด้วย ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้"เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวย้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญ “ระเบียบ ก.บ.ศ.ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามฯ ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวฯ” นั้น ที่ระบุเกี่ยวกับค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวไว้ว่าข้อ12

(1) กรณีที่ผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีหน้าที่ในการรับรายงานตัว ให้กำหนดค่าตอบแทนไม่น้อยว่า 2,000 บาท และไม่เกิน 5,000 บาท

(2) กรณีที่ผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีหน้าที่ ในการสอดส่องดู ไม่ว่าจะมีหน้าที่รับรายงานตัวด้วยหรือไม่ ให้กำหนดค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 2,000 บาท และไม่เกิน 10,000 บาท

(3) กรณีที่ผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีหน้าที่ ในการให้คำปรึกษา กำหนดค่าตอบแทนให้เป็นรายครั้งๆ ละ 2,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 30,000 บาท

ส่วนการกำหนดค่าพาหนะให้กับผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่ยากไร้นั้น กำหนดไว้ในข้อ 16 (1) ว่ากรณีที่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราว มีที่พักอาศัยอยู่ในเขตอำนาจศาลหรือในเขตจังหวัดเดียวกับสถานที่ซึ่งศาลกำหนดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวนั้น กำหนดค่าพาหนะไม่เกินครั้งละ 300 บาท

(2) กรณีมีที่พักอยู่นอกเขตอำนาจศาลหรือคนละจังหวัดกับสถานที่ซึ่งศาลกำหนดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวนั้น กำหนดค่าพาหนะไม่เกินครั้งละ 500 บาท

ขณะที่การกำหนดเงินสินบนแก่ผู้แจ้งความนำจับ และเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับผู้ถูกปล่อยชั่วคราวโดยศาลที่หลบหนีนั้น ได้กำหนดไว้ในข้อ 19 ว่าในการขอรับสินบนหรือเงินรางวัลให้ผู้แจ้งความนำจับ หรือเจ้าหน้าที่ผู้จับ ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้ออกหมายปล่อยชั่วคราวนั้น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาล

โดยข้อ 20 กำหนดอัตราเงินสินบนที่ให้จ่ายกับผู้แจ้งความนำจับ อัตราไม่เกิน 20,000 บาท และข้อ 21 กำหนดเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับในอัตราร้อยละ ไม่เกินร้อยละ 50  ของวงเงินประกันตัว ตามที่ศาลกำหนด หรือตามบัญชีเกณฑ์มาตรฐานกลางหลักประกันการปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

โดยข้อ 21 วรรคสอง ระบุว่า กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้หลบหนี จากการปล่อยชั่วคราวที่ศาลไม่ได้กำหนดวงเงินประกันตัวไว้ ก็ให้กำหนดเงินรางวัลไม่เกิน 100,000 บาท