posttoday

ปปท.ยกย่อง2สาวเปิดโปงข้อมูลทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้

20 กุมภาพันธ์ 2561

ปปท.ยกย่อง 2 สาวใจกล้าให้ข้อมูลทุจริตโกงงบคนยากไร้ขอนแก่น มอบโล่เชิดชูบุคคลตัวอย่าง

ปปท.ยกย่อง 2 สาวใจกล้าให้ข้อมูลทุจริตโกงงบคนยากไร้ขอนแก่น มอบโล่เชิดชูบุคคลตัวอย่าง

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  (ป.ป.ท.) พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์  รรท.เลขาธิกา ป.ป.ท มอบโล่ห์ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติให้กับ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และน.ส.ณัฏกานต์ หมื่นพล อดีตลูกจ้างของศูนย์คุ้มครองฯ ขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริต ปลอมแปลงเอกสารข้อมูลสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น เป็นผลให้เจ้าหน้าที่ป.ป.ท.ตรวจพบหลักฐานส่อถึงการทุจริต และนำไปสู่การขยายผลตรวจสอบไปยังศูนย์คุ้มครองฯ ทั่วประเทศ โดยมี พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.ร่วมในงานด้วย

พ.ท.กรทิพย์ กล่าวว่า น.ส.ปณิดา และน.ส.ณัฏกานต์ถือเป็นบุคคลต้นแบบของการต่อต้านทุจริต กล้าเปิดเผยตนเองและลงทุนจ่ายเงินค่าเดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์นับเรื่องร้องเรียนกองทัพบกจนนำไปสู่การปราบปรามทุจริต ซึ่งหลังจากตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ป.ป.ท.ได้ขยายผลตรวจสอบทั่วประเทศโดยจัดชุดตรวจสอบ 15 ชุดลงตรวจสอบ 76 ศูนย์คุ้มครองฯ เบื้องต้นพบศูนย์คุ้มครองฯ จ.เชียงใหม่มีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริตคล้ายกับที่เกิดขึ้นในจ.ขอนแก่น โดยนำรายชื่อและเอกสารของชาวบ้านจากการอบรมในโครงการต่างๆ มาขอรับเงินสงเคราะห์ ซึ่งผู้มีสิทธิ์จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐตั้งแต่ 1-3 พันบาท ส่วนใหญ่พบมีการทำรายชื่อและหลักฐานไปขอเบิกรับเงิน แต่ไม่มีการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ชาวบ้านจริง ขณะที่ทั้งโครงการได้รับงบประมาณในปี 2560 จำนวน 493 ล้านบาทเศษ ในจ.เชียงใหม่ได้งบประมาณจัดสรรมากที่สุด

"เป้าหมายการตรวจสอบจึงมุ่งหาหลักฐานการทำผิดในปีงบประมาณ 2560 หากพบมีความผิดต่อเนื่องก็ต้องตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งปี 2552 คาดว่าหลังครบกำหนด 90 วันจะสามารถสรุปการกระทำความผิดได้ พร้อมทั้งจะทำรายงานเสนอต่อรัฐบาลว่าโครงการจ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ควรมีมาตรการป้องกันอย่างไร ทั้งระบบการจ่ายเงินและการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ ยืนยันว่า การเข้าไปตรวจสอบของป.ป.ท.ทำเพื่ออุดช่องว่างให้กับการดำเนินโครงการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" พ.ท กรทิพย์ กล่าว

รรท.เลขาธิการ ป.ป.ท กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบพบความผิดปกติส่อไปในทางทุจริต 5 จังหวัด ได้แก่  จ.ขอนแก่น จ.เชียงใหม่ จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย และจ.สุราษฎร์ธานี  โดยพบมีพฤติการณ์แปลกๆ ในหลายพื้นที่ เช่น ที่จ.หนองคาย กลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้มีรายได้น้อย 17 ราย ต้องได้รับเงินสงเคราะห์ 34,000 บาท แต่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดหนองคายได้มอบเงินให้เพียง 1 หมื่นบาท โดยหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบของป.ป.ท.เพียง 2 วัน เจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองฯ นำเงิน 24,000 บาทไปส่งมอบให้กับประธานกลุ่มแม่บ้านฯ เมื่อได้รับเงินแล้วประธานกลุ่มแม่บ้านฯ ได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากความผิดสำเร็จแล้ว เพราะเบิกรับเงินเมื่อเดือนมิ.ย.60 แต่กลับนำเงินมาส่งมอบหลังเซ็นรับเงินนานกว่า 8 เดือน ส่วนที่จ.สุราษฎร์ธานีมีผู้ใหญ่บ้านมาแสดงตัวว่าเป็นผู้มีรายได้และมีที่ดินทำกิน จึงไม่มีคุณสมบัติต้องรับเงินสงเคราะห์ แต่กลับมีชื่อได้รับเงินช่วยเหลือ จึงขอให้ป.ป.ท.ตรวจสอบจุดบกพร่องดังกล่าวด้วย" พ.ท.กรทิพย์ กล่าว

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า การป้อง กันและปราบปรามการทุจริตเป็นนโยบายหลักของคสช.และรัฐบาล  ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนร้องเรียนมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐของทบ.มีจำนวนมาก ซึ่งถือว่าศูนย์เป็นเครื่องมือพิเศษในการปราบปรามการทุจริต  โดยเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองหากเป็นเรื่องร้องเรียนทั่วไปจะส่งให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐในตรีดำเนินการ  แต่หากเป็นความผิดด้านความประพฤติก็จะส่งให้หน่วยงานต้นสังกัด  ขณะที่เรื่องใดมีมูลทุจริตก็จะให้ปปท.ตรวจสอบ   ทั้งนี้ในฐานะโฆษกคสช.หวังว่าศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของทบ.จะเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนที่พบการทุจริตคอรัปชั่น

ปปท.ยกย่อง2สาวเปิดโปงข้อมูลทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากไร้