posttoday

สำรวจท้องทะเลตรังพบฝูงพะยูน-โลมา-เต่าทะเลอีกเพียบ

16 กุมภาพันธ์ 2561

ศูนย์วิจัยฯทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบินสำรวจพบพะยูนท้องทะเลตรัง พบฝูงพะยูนกว่า200ตัว โลมา เต่าทะเลอีกเพียบ

ศูนย์วิจัยฯทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบินสำรวจพบพะยูนท้องทะเลตรัง พบฝูงพะยูนกว่า200ตัว โลมา เต่าทะเลอีกเพียบ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ส่งนักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก นำโดย นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน พร้อมเจ้าหน้าที่ นักบินชาวต่างชาติ นำเครื่องบินเล็ก มาบินสำรวจประชากรพะยูนในทะเลตรัง ในระหว่างวันที่ 12 – 16 ก.พ.

โดยการนำจำนวนประชากรพะยูนที่พบในแต่ละเที่ยวบินมาคิดคำนวณตามหลักวิชาการ เพื่อหาค่าเฉลี่ยประชากรพะยูนที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลทางวิชาการอีกด้านหนึ่งใช้เป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ให้พะยูนคงอยู่ในทะเลตรังตลอดไป เพราะพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดตรัง บริเวณแหล่งหญ้าทะเล ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง นับจากบริเวณหัวแหลมเกาะมุกด์ – เกาะตะลิบง ต.เกาะลิบง  อ.กันตัง  จ.ตรัง

นายก้องเกียรติ เปิดเผยว่า ปีนี้บินสำรวจ พบว่าประชากรเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี  รวมไม่ต่ำกว่า 210  ตัว โดยฝูงใหญ่ที่สุดพบมากกว่า 30 ตัว โดยมีคู่แม่ลูกอยู่ในฝูงประมาณ  10 คู่ แต่ภาพรวมมีคู่แม่ลูกรวมประมาณ 42 คู่  และยังพบโลมาอีกประมาณ 19 ตัว แม่ลูกประมาณ 2 คู่ , เต่าทะเลประมาณ 57 ตัว โดยปีที่แล้วการบินพบพะยูนประมาณ 169 ตัว คู่แม่ลูกมากกว่า 10 คู่   ความหนาแน่นของประชากรพะยูนที่เพิ่มสูงขึ้นในทะเลตรัง เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชนที่ประกอบอาชีพทำประมง ที่ให้ความร่วมมือไม่ใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายกับสัตว์ทะเลหายาก ทั้ง พะยูน โลมา และเต่าทะเล  และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัดตรัง  ทำให้พบซากพะยูนเกยตื้นตายน้อยลงในปี 2560  เพียงจำนวน 6 ตัว และพบพะยูนมีชีวิตอีก 3 ตัว  ซึ่งปีหน้า เชื่อหากเราสามารถควบคุมการตายด้วยเครื่องมือประมงได้ พะยูนในทะเลตรังจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 240 – 250  ตัว

น.ส.สิตากาญจน์  ทวิสุวรรณ นักวิชาการ กลุ่มงานสัตว์ทะเลยาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า  การบินสำรวจพะยูนยังไม่แล้วเสร็จ แต่แนวโน้มปีนี้พบพะยูนเพิ่มสูงขึ้น โดยสังเกตเห็นจากคู่แม่ลูกที่มากขึ้นจากการบินแต่ละเที่ยวบิน  ทั้งนี้ เป็นตัวเลขจำนวนนับ ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ เนื่องจากยังต้องทำการบินต่อ โดยฝูงใหญ่ที่พบประมาณ 30 ตัว มีคู่แม่ลูกอยู่ฝูงประมาณ 10 คู่  โดยรวมคาดว่าประมาณการพะยูนมีมากกว่า 200 ตัว คู่แม่ลูกมากกว่า 40 คู่  แต่ทั้งนี้ จะต้องทำการวิเคราะห์ตัวเลขใหม่หลังเสร็จสิ้นภาระกิจการบินสำรวจ