posttoday

วิพากษ์ "สินสอด" อุปสรรคของความรักหรือคุณค่าที่คู่ควร?

13 กุมภาพันธ์ 2561

หลากมุมมอง"เงินสินสอด"เป็นอุปสรรคของความรัก เป็นค่าอุ้มท้องเลี้ยงดูของพ่อแม่ หรือเป็นความเชื่อมั่นสำหรับชีวิตคู่ในอนาคตกันแน่ ?

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

นอกเหนือจากเรื่องหัวใจแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินนับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหลายคู่รัก

ที่ผ่านมาจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวปรากฎอย่างสม่ำเสมอว่า นักแสดงดาราเลิกรากัน โดยหนึ่งในปัญหาที่ถูกยกอ้างว่าเป็นต้นเหตุคือ “เงินสินสอด”

คำถามก็คือสินสอดเป็นอุปสรรคของความรัก เป็นค่าอุ้มท้องเลี้ยงดูปูเสื่อที่ผ่านมาของพ่อแม่ หรือเป็นความเชื่อมั่นสำหรับชีวิตคู่ในอนาคตกันแน่ ?

จากวัฒนธรรมสู่การโอ้อวด

“สินสอด” นั้นเกี่ยวพันมากกว่าแค่ความรักความสัมพันธ์แต่รวมไปถึงประเด็นเรื่องสังคม วัฒนธรรม และศาสนาด้วย

ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ผู้สนใจปรัชญาและมานุษยวิทยา เล่าว่า สินสอดเป็นวัฒนธรรมโบราณที่สืบต่อมาอย่างยาวนาน เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกตามความเชื่อเรื่องชายเป็นใหญ่ แข็งแรงและมีอำนาจ ขณะที่ผู้หญิงตกอยู่ในคติของความอ่อนแอ ต้องได้รับการดูแลภายใต้การปกครองของพ่อแม่จนกระทั่งออกเรือน

“ผู้หญิงที่สมบูรณ์ต้องได้รับการแต่งงาน คนไหนไม่ได้แต่งงานจะถูกมองว่ามีปัญหา ไม่ดีพร้อม ตราบใดก็ตามที่วัฒนธรรมไหนเป็นแบบนี้ ก็จะมีธรรมเนียมที่ว่าด้วยเรื่องสินสอดเสมอ”

การนำสิ่งของมีค่ามามอบให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิง ด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนคุณค่าและตอบแทนการดูแลของครอบครัวฝ่ายหญิง ขณะที่อีกด้านเป็นเสมือนเครื่องชี้วัดให้ความมั่นใจว่าฝ่ายหญิงจะได้รับการดูแลที่ดี

“ธรรมเนียมมีแตกต่างหลากหลายตามแต่ละวัฒนธรรมของสังคม ในอดีตสินสอดเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ ต่อมากลายเป็นหลักประกันว่าถ้ามีเหตุต้องเลิกรา ทรัพย์สินตรงนี้ต้องตกเป็นของฝ่ายหญิงเพื่อใช้ดูแลตนเองต่อไป จนกระทั่งช่วงหลังสินสอดกลายเป็นการโอ้อวดทางสังคม มีไว้เพื่อแสดงฐานะของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงว่ามีคุณค่าสูง”

 

วิพากษ์ "สินสอด" อุปสรรคของความรักหรือคุณค่าที่คู่ควร?

ศิลป์ชัยบอกว่า ปัจจุบันการให้สินสอดยังคงดำรงอยู่ในวัฒนธรรมเอเชีย ผิดกับสังคมตะวันตกที่หลุดพ้นเรื่องนี้ไปแล้ว เนื่องจากให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเป็นอิสระ นอกจากนั้นยังเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาสวัสดิภาพและกฎหมายครอบครัวด้วย

“สังคมเขาพัฒนาและเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมของหญิงชาย ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการเลือก เป็นอิสระจากพ่อแม่ ขณะที่เอเชียพ่อแม่นั้นเป็นผู้มีพระคุณสูงล้ำเหนือชีวิตลูก จะแต่งงานออกเรือนไปแล้วยังไงก็ต้องอยู่กับพ่อแม่ ทำให้สังคมเกาะกันและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่ออิสระและการตัดสินใจเลือกคู่รักของลูก

อีกเรื่องที่ทำให้สินสอดหายไปในสังคมตะวันตก คือการมีสวัสดิการ มีกฎหมายและการบังคับใช้ที่มีมาตรฐานสำหรับชีวิตคู่และภายหลังการเลิกรา ส่งผลให้ผู้หญิงมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” ศิลป์ชัยบอก ซึ่งเขาเชื่อว่า สินสอดเป็นตัวปิดกั้นให้หลายคู่รักแต่งงานกันยากขึ้น และกลายเป็นการตีราคาความรักด้วยเงิน

ความหมายของสินสอดและของหมั้น ปรากฏในหนังสือ วิชาการครองรักครองเรือน

ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494  ของ พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ

เนื้อหาระบุว่า ของหมั้นเป็นของที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกจากฝ่ายชาย ของที่ผู้คนนิยมนำมามอบเป็นของหมั้นมักเป็นของมีค่า เช่น ทองรูปพรรณ แหวน เหตุที่ฝ่ายชายต้องให้ ‘ของหมั้น’ แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นเครื่องรับประกัน เพราะมีไม่น้อยที่ถึงเวลาจะแต่งกันจริงๆ เจ้าบ่าวกลับกลัวฝนไม่ยอมแต่งงานเอาเสียดื้อๆ และการเป็นหม้ายขันหมากถือเป็นเรื่องสาหัสสำหรับลูกผู้หญิง ในกรณีที่มีเหตุให้ไม่ได้แต่งงานกันเพราะฝ่ายชาย ของหมั้นจะตกเป็นของฝ่ายหญิง

ส่วนสินสอดนั้น พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเรียกสินสอดเป็นพิธีเท่านั้น เรียกกันว่าเป็นค่าน้ำนม "สินสอดนี้จะเรียกไม่เกิน 40 บาท หากเรียกเกินกว่านี้ถือว่าเป็นการ ‘ขายลูกสาว’ ไม่ว่าครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะมั่งมีขนาดไหนก็จะไม่ทำกัน"

ส่วนคำว่า เงินกองทุน เป็นเครื่องแสดงฐานะของพ่อแม่ทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าฐานะดีจะเรียกกันสูง พ่อแม่ของทั้งฝ่ายชายและหญิงต้องให้เท่ากันทั้ง 2 ฝ่าย ในวันแต่งงานจะมีการแกะห่อนับจำนวนเงินกันเพื่อให้ผู้ที่มาร่วมพิธีเป็นพยาน เงินกองทุนที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกนั้นเป็นหลักประกันว่า ผู้ที่มาเป็นเขยสามารถเลี้ยงดูลูกสาวได้ไม่ด้อยไปกว่าที่พ่อแม่เลี้ยงดูมา และเงินกองนี้จะถูกยกให้กับคู่บ่าวสาวไปตั้งตัว

 

วิพากษ์ "สินสอด" อุปสรรคของความรักหรือคุณค่าที่คู่ควร?

ตั้งราคาตามอารมณ์ไม่ใช่เหตุผล

น่าสนใจไม่น้อยเมื่อนำหลักการตลาดมาจับกับประเด็นเรื่องการเรียกสินสอด

วีรพล สวรรค์พิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาด ม.ธุรกิจบัณฑิตย์  บอกว่า นิยามของการตลาด คือการสร้างความพึงพอใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ในขณะเดียวกันก็บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร  ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว การเรียกสินสอดของฝ่ายหญิงจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อฝ่ายชายเกิดความพอใจที่จะจ่ายด้วย

“ถ้าเรียกสูงเกินไป คุณจะแฮปปี้อยู่ฝ่ายเดียว ถึงแม้เขาจะจ่ายได้แต่อาจจะไม่แฮปปี้ สุดท้ายความสัมพันธ์ก็มีข้อแคลงใจ ดังนั้นสำหรับการเรียกสินสอด มันต้องเป็นความพอใจทั้งสองฝ่าย ถึงจะเกิดความสัมพันธ์อันดีในระยะยาว

แนวคิดการตลาดปัจจุบันเราไม่ได้มองแค่การซื้อขายอย่างเดียวแล้วจบ แต่เรามองเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว ฉะนั้นการสร้างความรู้สึกที่ดีเป็นเรื่องสำคัญมาก”

เขาย้ำว่าในเชิงการตลาด ความสำเร็จในระยะยาวไม่ได้เกิดจากความพึงพอใจระหว่างบริษัทกับลูกค้า แต่ยังมีสังคมรอบข้างที่ต้องคำนึงถึงด้วย

“บริษัทขายได้ไม่พอ ต้องคำถึงถึงภาพลักษณ์ภายนอกที่สังคมมองด้วย เทียบเคียงกับการแต่งงานของคู่รักดารา หรือเซเลปไฮโซ มันไม่ใช่เรื่องของคนสองคน มันเป็น Third Party มีบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้อง เรียกเงินน้อยไปน่าเกลียดหรือเปล่า ไม่เหมาะสมหรือเปล่า ปัจจัยทางสังคมเข้ามามีผลกระทบในการเรียกสินสอดหรือการตั้งราคา”

วีรพล บอกว่า ผลวิจัยผู้บริโภคล่าสุดเผยว่า สินค้าเกือบทุกอย่างในโลก ผู้บริโภคมักซื้อด้วยอารมณ์ (emotional) มากกว่าเหตุผลหรือคุณสมบัติและการใช้งานที่แท้จริง (functional)

“คนซื้อด้วย emotional 95 เปอร์เซนต์ ซื้อด้วย functional แค่ 5 เปอร์เซนต์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ไอโฟนเอ็กซ์ คำถามคือหวังผลในแง่ไหนมากกว่ากันระหว่างการใช้งานหรือเอามาโชว์ คอนโดมิเนียม ร้านกาแฟ หลายแห่งเลือกขาย emotional มากกว่า functional ซึ่งคนยอมจ่ายและยอมรับว่า เลือกเพราะอารมณ์มากกว่ารสชาติ เช่นกันกับราคาสินสอด มันอาจไม่ใช่การตั้งราคาเพื่อตอบสนอง functional อีกต่อไป แต่เป็นไปเพื่อตอบสนอง emotional เช่น ลูกเราดังเท่าไหร่ มูลค่าต่อสังคมแค่ไหน เป็นต้น” 

 

วิพากษ์ "สินสอด" อุปสรรคของความรักหรือคุณค่าที่คู่ควร?

จ่ายเท่าไหร่ดี ?

วิทยานิพนธ์ หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ของ ภศุ ร่วมความคิด เรื่อง ‘ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร’ เมื่อปี 2549 มองเรื่องสินสอดในมุมของนักเศรษฐศาสตร์  โดยระบุว่า สินสอดเป็นราคาในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีการซื้อขายผ่านตลาด ต้องผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองสู่ราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจหรือราคาดุลยภาพ

วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ ประเมินมูลค่าสินสอด โดยใช้แบบจำลองที่เรียกว่า เฮดโดนิค (Hedonic Pricing Model : HPM)  ซึ่งมักถูกนํามาใช้ศึกษาราคาที่พักอาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณลักษณะหรือตัวแปรต่างๆ ได้แก่ ทัศนียภาพ ระยะทางจากใจกลางเมือง ขนาดของพื้นที่ และคุณลักษณะรอบที่พักอาศัย

ผลการศึกษาของภศุพบว่า  ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาสินสอด ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ การศึกษา ภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว และการแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว ขณะที่ทรัพย์สินมีผลน้อยมาก และภาระความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการแต่งงานและอาชีพไม่มีผลต่อมูลค่าสินสอด

เมื่อระดับรายได้ของคู่บ่าวสาวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว กลับพบว่าฝ่ายชายยินดีจ่ายค่าสินสอดเพิ่ม 20% ขณะที่ฝ่ายหญิงจะเรียกสินสอดเพิ่ม 32% ซึ่งไม่ตรงกัน

ถ้าฐานะการงานของทั้งคู่ดีและคบกันนาน ฝ่ายชายยินดีที่จะจ่ายเงินค่าสินสอดเพิ่มขึ้น ขณะที่เรื่องนี้ไม่มีผลกับผู้หญิง นั่นคือถึงจะคบระยะสั้นๆ ก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดในระดับสูงตามความพอใจของตน และถ้าฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนกรุงเทพฯ เจ้าสาวมีแนวโน้มจะเรียกค่าสินสอดเพิ่มขึ้น แตกต่างจากฝ่ายชาย แม้ตนเป็นคนต่างจังหวัด เจ้าสาวเป็นคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้คิดที่จะจ่ายเงินค่าสินสอดเพิ่มแต่อย่างใด

จากผลการศึกษาชิ้นดังกล่าว เว็บไซต์ setthasat ได้เผยโปรแกรมคำนวณมูลค่าสินสอดตามแบบจำลองสมการเส้นตรง ตามรูปแบบสมการ ดังนี้

มูลค่าสินสอด = (2.2205 x รายได้ต่อเดือน) + (8,986.92 x อายุ) + (174,818.6 หากเป็นคนกรุงเทพฯ) – (454,350.5 หากจบการศึกษาไม่เกินมัธยม/ปวช.) + (227,064.1 หากแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว) – (134,160.8 หากมีภาระต้องดูแลครอบครัวอยู่) + (1,890,610 หากเป็นผู้บริหารระดับสูง)

ทั้งนี้โปรแกรมคำนวณมูลค่าสินสอดดังกล่าว ถูกเปิดเผยตั้งแต่เมื่อปี 2011 ขณะที่งานของ ภศุ นั้นศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2007 หากผู้อ่านจะลองคำนวณ ต้องคิดอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย

 

วิพากษ์ "สินสอด" อุปสรรคของความรักหรือคุณค่าที่คู่ควร?

 

ไม่ว่าจะคำนวณตัวเลขสินสอดด้วยเหตุผลหรือว่าอารมณ์ ก็นับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองอยู่ดี

วีรพล ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด แนะนำว่า เพื่อให้เกิดความสบายใจ ฝ่ายหญิงและครอบครัวควรคำนึงถึงเหตุผลด้านความมั่นคงในอนาคตของคู่บ่าวสาวมากกว่าเป็นการเรียกร้องโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ผ่านมาในอดีต

“ตัวเงินไม่ควรเป็นอุปสรรคแต่ควรสะท้อนความมั่นคงในอนาคตของชีวิตคู่ จนทำให้ฝ่ายหญิงมั่นใจ ถ้ามองแบบนี้จะแฮปปี้ทั้งสองฝ่าย และเกิดความสัมพันธ์ระยะยาวได้ดีกว่า รวมไปถึง Third Party ด้วย สังคมจะเกิดความเข้าใจว่า การเรียกสินสอดของพ่อแม่เป็นการร้องหาความเชื่อมั่นในการดูแลลูกของเขา ไม่ใช่หวงลูก

ถ้าเอาเรื่องอดีตมาคิดเป็นค่าสินสอด  ฉันอุ้มท้อง ฉันจ่ายมาเยอะนะ เรียนมาสูงต้องเอาคืน มันเหมือนขายลูกกิน แต่ถ้ามองอนาคตมันคือการเรียกร้องความมั่นใจ”

ด้าน ศิลป์ชัย บอกว่า หมดเวลาห่วงเรื่องหน้าตาทางสังคมซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหล และหันกลับมาให้ความสนใจกับสิทธิเสรีภาพในการเลือกและชีวิตคู่ในอนาคตดีกว่า

“สังคมยุคใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปมากแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ อยากได้หน้า กลัวสังคมนินทา เห็นไหมลูกสาวของฉันมีค่า และผู้ชายที่มาขอนั้นมีสตางค์

“ปัญหาคือสังคมไทยยังไม่มีกระบวนการที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้ มีแต่กระแสอนุรักษ์นิยมโชว์เงินสินสอดอยู่อย่างเดียว ส่วนคู่ที่เห็นว่าสินสอดไม่ใช่เรื่องจำเป็น ไม่มีใครยกยอ” นักวิชาการชื่อดังทิ้งท้าย