posttoday

อัยการแจงคดีสลากหายต้องพิจารณาเฉพาะคดีไปเหตุข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน

06 กุมภาพันธ์ 2561

รองโฆษกอัยการสูงสุดชี้คดีการครอบครองลอตเตอรี่เอาผลของคดีเก่ามาเทียบเคียงกันไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน ย้ำอัยการยึดหลักฐาน ไม่ใช่กระแสโซเชียล

รองโฆษกอัยการสูงสุดชี้คดีการครอบครองลอตเตอรี่เอาผลของคดีเก่ามาเทียบเคียงกันไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน ย้ำอัยการยึดหลักฐาน ไม่ใช่กระแสโซเชียล

จากกรณีที่ผู้ใช้สังคมออนไลน์มีการเเชร์คำสั่งอัยการสูงสุดในสื่อที่ระบุว่า "เคยมีคำสั่งอัยการสูงสุดเด็ดขาดไม่ฟ้อง คดีครอบครองลอตเตอรี่ เพราะไม่ใช่ทรัพย์มีทะเบียน ผู้ใดครอบครองย่อมเป็นเจ้าของโดยไม่ต้องจัดให้มีการลงชื่อก่อนซื้อ เหมือนกู้เงินสหกรณ์หรือการเข้าพักโรงแรมจึงระบุตัวผู้ซื้อและขายจำเพาะเจาะจงได้ยาก แม้ซื้อมาแล้วก็แบ่งหรือขายให้ผู้อื่นได้ ไม่จำต้องขออนุญาตเหมือนอาวุธปืน ซึ่งทรัพย์เมื่อตกหล่นสูญหาย เจ้าของทรัพย์ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานทันทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งหวยเป็นชุดหลายใบ เจ้าของอ้างว่าจำหมายเลขได้ มีภาพถ่าย ยิ่งเป็นการแจ้งความไว้จำเพาะเจาะจง พิสูจน์ได้ง่าย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งความลงหมายเลขสลากและหมายเลขชุดสลากไว้ก่อน กลับมีการแจ้งความในภายหลังจากที่สลากประกาศผลรางวัลแล้วคดีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของสลากและได้ทำสลากหายจริงหรือไม่ เมื่อไม่มีพยานอันหนักแน่นเพียงพอ ผู้ครอบครองสลากจึงเป็นผู้มีสิทธิดีกว่า ประกอบกับด้านหลังสลากได้มีคำเตือนระบุว่า จะจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ครอบครองสลากเท่านั้น จึงไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอว่า ผู้ครอบครองสลาก ได้สลากมาโดยมิชอบ จึงมีคำสั่ง ไม่ฟ้อง" นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ขอยกคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2578/2530 ที่ระบุว่า "เงื่อนไขการรับรางวัลที่ได้ระบุไว้ด้านหลังสลากกินแบ่งทุกฉบับว่าเงินรางวัลจะจ่ายแก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่มีไว้เพื่อจะจ่ายเงินให้เจ้าของสลากกินแบ่งที่แท้จริง ป้องกันผู้ทุจริตแอบอ้างมารับเงินรางวัล เพื่อให้มีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัลเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหายไปเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัล โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับรางวัลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะอ้างข้อกำหนดนี้เพื่อไม่จ่ายเงินรางวัลให้แก่โจทก์หาได้ไม่"

เเละคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11224/2555 ระบุว่า "การที่สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตาม ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.)  มาตรา 43 แต่ได้ความว่าในการขอรับเงินรางวัล จำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 3,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์ 20,000 บาท จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมาเท่านั้น และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 440 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้"

นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากฎีกาที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าเรื่องสลากหายก็มีมานานแล้วตั้งแต่อดีต ส่วนคดีคงต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นกรณีไป ข้อเท็จจริงในคดีใด ก็มีผลเฉพาะคดีนั้นจะนำมาเทียบเคียงแล้ววินิจฉัยเลยทีเดียวไม่ได้ อัยการเจ้าของสำนวน คงจะต้องพิจารณา จากพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายว่า นำพยานอะไรบ้าง เข้าสู่สำนวน มาพิจารณาดูว่าความน่าเชื่อถือของพยานหักล้างกันอย่างไรบ้าง

"รายละเอียดของพยานในเเต่สำนวนไม่เหมือนกัน ซึ่งเเต่ละสำนวนย่อมไม่มีทางเหมือนกันทั้งหมดได้อยู่แล้ว ก็ต้องถือตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ในแต่ละสำนวนกันไป ซึ่งอัยการจะพิจารณาจากพยานหลักฐานไม่ใช่กระแสโซเชียล"นายโกศลวัฒน์ กล่าว